ไม่บ่อยครั้งนักที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเลือกใช้ “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์” เป็นสถานที่แถลงข่าว ยกเว้น “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโตชิบา ประเทศไทย ซึ่งเลือก “หอศิลป์เจ้าฟ้า” เป็นสถานที่จัดงานแถลงข่าว ทิศทางและกลยุทธ์ของโตชิบาในปีงบประมาณ 2553 ต่อสื่อมวลชนรวมถึงดีลเลอร์ทั่วประเทศ
นอกจากสถานที่แห่งนี้อยู่ระหว่างจัดประกวดงานศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ที่โตชิบาจัดมาปีที่ 21แล้ว กอบกาญจน์ กอบกาญจน์ซึ่งมาในลุคใหม่ เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ผ้าโพกผมสีสันสดใส ยังตั้งใจใช้สถานที่แห่งนี้สะท้อนถึงนโยบายในการดำเนินธุรกิจของโตชิบา ประเทศไทย ในปี 2553 ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของ “ดีไซน์” เป็น Strategic Move สำคัญนับจากนี้
แนวคิดนี้ มาจากการที่โตชิบาได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางมด (บางกอกโค้ด) ออกแบบเครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็นประตูเดียวมาแล้ว 2 รุ่น รุ่นล่าสุด ใช้ชื่อ CURV นำออกแสดงในงานนี้เป็นครั้งแรก และจะเป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่โตชิบาจะใช้บุกตลาดในปี 2553
ด้วยแนวคิดแบบนี้เอง ทำให้โตชิบาไม่ต้องฟาดฟันกับคู่แข่งอยู่ในน่านน้ำสีเลือด หรือ Red Ocean เท่านั้น แต่ยังสร้างตลาดใหม่ที่คู่แข่งไม่มอง เช่น ตู้เย็นประตูเดียว ซึ่งเป็นตลาดมีคู่แข่งน้อย เพราะผู้ผลิตเครื่องใช้ค่ายอื่นๆ มองว่าราคาไม่ต่างจากตู้เย็นสองประตู
นัยสำคัญของการที่โตชิบา ประเทศไทย หันมามุ่งเน้นการออกแบบสินค้าด้วยตัวเอง (ซึ่งปกติแล้วจะการดีไซน์ทั้งหมดของทุกผลิตภัณฑ์จะมาจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่น) ส่งผลให้โตชิบาสามารถเข้าถึงพฤติกรรมความต้องการผู้บริโภคคนไทยได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพราะการออกแบบที่มาจากบริษัทแม่ มักจะออกแบบให้รองรับตลาดทุกประเทศในโลก ซึ่งบางครั้งอาจไม่เหมาะกับคนไทย หรือไม่แตกต่างจากคู่แข่ง
ที่มาของตู้เย็นประตูเดียว รุ่น curv เน้นความสะดวก ไม่มีที่จับ เพราะเปิดประตูได้หมดไม่ว่าจะใช้อวัยวะส่วนไหน ด้านบนเป็นที่วางของ เน้นสีสันสดใส ก็มาจากรีเสิร์ชที่พบว่า “พฤติกรรมการใช้ตู้เย็นของคนไทยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่มักจะแยกบ้านมาอยู่คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์มากขึ้น ไลฟ์สไตล์ของพวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องอาหารไว้เต็มตู้เหมือนเมื่อก่อน ทำทาน 1-2 วัน ค่อยไปซื้อของมาเติมใหม่ ตู้เย็นขนาดใหญ่จึงไม่มีความจำเป็นมากนัก”
นี่คือความหมายของการมุ่งสู่การดีไซน์เอง ที่สร้างความแตกต่าง หรือหาโอกาสในตลาดใหม่ที่คู่แข่งไม่มอง ทำให้รู้ว่าลูกค้าคนไทยมีพฤติกรรมแบบไหน ชอบหรือไม่ชอบอะไร
ยอดขายของตู้เย็นรุ่นที่แล้ว (รุ่นมีที่จับ) นอกจากขายในไทยได้แล้ว ยังส่งออกไปขายเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งเป้าไว้แต่แรก ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจว่า นอกจากรุ่นนี้จะขายได้ไม่ต่างจากรุ่นที่แล้ว ยังทำให้โตชิบาขึ้นเป็นเบอร์ 1 แซงหน้าคู่แข่งที่สลับกันเป็นที่ 1 และ 2 ในตลาดตู้เย็น
และนี่เองที่ทำให้กอบกาญจน์มองไปถึงการตั้ง “ศูนย์ดีไซน์เซ็นเตอร์” ขึ้นในไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางออกแบบให้กับตลาดภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่บริษัทแม่ของโตชิบากำลังให้ความสำคัญ เพราะมีกำลังเติบโตสูง ความต้องการยังมีอีกมาก
“ ใครที่สามารถจับไลฟ์สไตล์ในตลาดนี้ได้ก่อนย่อมได้รับโอกาสก่อนใคร ซึ่งเป็นการบ้านของโตบิชา ประเทศไทย ต้องผลักดันตัวเองให้เป็นดีไซน์เซ็นเตอร์”
โตชิบา ประเทศไทย มีความพร้อม เพราะมีโรงงานผลิตตู้เย็นซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย และผู้ถือหุ้นฝั่งไทยยังคงมีบทบาทในการบริหารงานอยู่มากและต่อเนื่องมาจนถึงรุ่นลูก ภายใต้การนำของกอบกาญจน์ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ ที่บริหารงานโดยบริษัทแม่จากญี่ปุ่นเป็นหลัก
แนวคิดนี้ยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่พัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ “ครีเอทีฟ อีโคโนมี” ที่จะทำให้โตชิบา ประเทศไทย เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จะผูกโยงเข้ากับแนวทางของครีเอทีฟได้อย่างกลมกลืน
นี่คือความหมายของการมุ่งสู่การ “ดีไซน์” นำหน้า ของโตชิบา ประเทศไทย
ยอดขาย 5,700 ล้านบาท (เม.ย.-52 – มี.ค.53)
เครื่องใช้ไฟฟ้า (HA) 55%
ไอที 30%
AV (ทีวี, ดีวีดี) 15%
Profile
โตชิบายังคงใช้โดราเอมอน หุ่นยนต์อัจฉริยะเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเป็นตัวแสดงโฆษณาของสินค้าโตชิบาในทุกผลิตภัณฑ์ หลังจากที่เริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2552 ในโอกาสที่โตชิบา ประเทศไทย ครบรอบ 40 ปี