สร้างแบรนด์ด้วยลานเบียร์

ช่วงสิ้นปีของแต่ปีถือเป็นช่วง Prime Time ของเทศกาล “ลานเบียร์” จากค่ายเบียร์ต่างๆ จึงใช้โอกาสนี้สร้างแบรนด์ผ่าน Experience Marketing ให้กับลูกค้าแล้วยังใช้วัดกระแสความนิยมไปในตัว

ปีนี้ค่ายไฮเนเก้นยังคงตอกย้ำการนำไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้งมาเป็นยุทธศาสตร์สร้างแบรนด์ผ่าน “ลานเบียร์” เป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมที่ไฮเนเก้น ใช้สร้างแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง

ยิ่งข้อห้ามในเรื่องโฆษณามีมาก ปีนี้ ไฮเนเก้นจึงต้องการสร้างให้ชัดยิ่งขึ้น โดยมือกับ “เกรฮาวด์” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์แฟชั่น และร้านอาหารที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แปลงโฉมบนชั้น 18- 20 บนเซ็นเวิลด์ ให้เป็นเมืองศิลปะในชื่อ กรีนสเปซ บาย เกรฮาวด์ พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร เพิ่มเนื้อที่จากเดิม 1,200 ตารางเมตร คาดว่าจะรองรับได้ 1,200 คนต่อวัน และคาดว่าจะมีคนร่วมงาน 80,000 คน ในจำนวนนี้ 50-60% เป็นแฟนพันธุ์แท้

“ความร่วมมือกับเกรฮาวด์ครั้งนี้จะเพิ่มความน่าสนใจยิ่งขึ้น จากการร่วมกันสร้างสรรค์ธีม ทั้งเมนูอาหาร ชุดพนักงานเสิร์ฟ และดีไซน์ต่างๆ โดยตีโจทย์ว่าศิลปะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะสะท้อนตัวตนที่ชัดเจนของแบรนด์ไฮเนเก้น นอกจากนี้ยังใส่สีสันเข้าไปในวิธีการเสิร์ฟ เช่น สปาเกตตี้ในแก้วเบียร์ รวมถึงมี Wi-Fi บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มที่เป็น Opinon Leader ซึ่งเป็นเป้าหมายของทั้งไฮเนเก้นและเกรฮาวด์” ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด TAPB บอก

ด้านอาซาฮี หนึ่งในพรีเมียมแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาด 0.1% ใช้โอกาสนี้ตอกย้ำความเป็นญี่ปุ่น และเป็น Brand Story ของอาซาฮีมาเป็นธีมหลัก เพื่อสร้างความชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่อาซาฮีเคยวางตำแหน่งการตลาดไว้เป็นเบียร์ฮิพ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ทันสมัย แต่การตลาดสื่อสารออกไปอยางคลุมเครือ ทำให้ความเป็นตัวตนของอาซาฮีไม่ชัดเจน ต้นปีที่ผ่านมาจึงเปลี่ยนการสื่อสารใหม่ ใช้ความเป็นญี่ปุ่น และ Brand Story ของอาซาฮีมาเป็นธีมหลัก”

“อาซาฮีจึงต้องปรับแนวทางการตลาดครั้งใหญ่ โดยนำความเป็นตำนานของเบียร์ที่มีความเป็นมาและเรื่องเล่าตลอด 150 ปี ตั้งแต่เบียร์ถือกำเนิด มาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด” ตราชู กาญจนสถิต ผู้อำนวยการสื่อสารกาตลาด บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ที่เพิ่งเข้ามารับหน้าที่ดูแลเรื่องกลยุทธ์การตลาดของเบียร์อาซาฮีทั้งหมดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บอก

ทางด้าน ชาลี จิตจรุงพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บอกว่า สำหรับช้างแล้ว ลานเบียร์เป็นช่องทางที่ได้สร้างประสบการณ์แบรนด์ และสร้างภาพลักษณ์กับผู้บริโภค โดยไม่ได้คาดหวังยอดขายมากมาย ช้างเลือกปิ่นโตเถาเล็ก กูรูด้านอาหารอีกคนหนึ่งของไทย มาคอนเฟิร์มเมนูจากร้านอาหารต่างๆ ที่มาออกบูธลานเบียร์ช้างว่าอร่อยจริง

“ลานเบียร์ถือเป็นธุรกิจส่วนน้อยเหมือนน้ำจิ้ม แต่เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ สร้างกระแสได้ วัดได้ ”

ไอเดียในลานเบียร์

แบรนด์ ไฮเนเก้น
คอนเซ็ปต์ ใช้กลยุทธ์ Experiential Marketing สร้างพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน แสดงศิลปะผลงานของคนดัง
โลเกชั่นเด่น ชั้น 18-20 อาคารเซ็นเวิลด์ ราชประสงค์
เป้าหมาย ต้องการตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดพรีเมียม และคาดว่ามียอดขาย 50 ล้านบาท (มากกว่าปี 2551 ราว 2-3 เท่า)

แบรนด์ เฟดเดอร์บรอย
คอนเซ็ปต์ เติมจังหวะให้ชีวิต
โลเกชั่นเด่น ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งอิเซตัน
เป้าหมาย 30 ล้านบาท (งบรวมกับช้าง)

แบรนด์ สิงห์
คอนเซ็ปต์ สะท้อนความเป็นแบรนด์ Multinational
โลเกชั่นเด่น ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งเซ็น
เป้าหมาย 50 ล้านบาท (รวมลีโอ)

แบรนด์ ไทเกอร์
คอนเซ็ปต์ เน้นศิลปะแบบกราฟฟิตี้ และตกแต่งด้วยโคมไฟจากขวดเบียร์
โลเกชั่นเด่น ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งเซ็น
เป้าหมาย ไม่มีข้อมูล

แบรนด์ อาซาฮี
คอนเซ็ปต์ Fuyushima สีสันของเกาะญี่ปุ่นด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่น เช่น แสดงวัฒนธรรมการต่อสู้ การ์ตูน และรถมอเตอร์ไซค์คลาสสิก
โลเกชั่นเด่น ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ (อยู่ในโซนเดียวกับสิงห์) และลานสยามดิสคัฟเวอรี่
เป้าหมาย ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายสัมผัสวัฒนธรรมที่แท้จริงของญี่ปุ่น อันเป็นต้นกำเนิดและ Brand Value ของอาซาฮี

แบรนด์ ช้าง
คอนเซ็ปต์ ช้าง รีเฟรชชิ่ง เดอะ ไนท์ เพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ใหม่ของช้าง ด้วยการจัด Vertical
Garden มีการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตศิลปินแนวเพลงอินดี้และร็อกกว่า 20 ครั้งในลานเบียร์ช้างผ่านเว็บไซต์ chang.co.th
โลเกชั่นเด่น ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งอิเซตัน และชั้นดาดฟ้าลา วิลล่า พหลโยธิน
เป้าหมาย ลงทุน 30-40 ล้านบาท (งบรวมกับเฟเดอร์บรอย) คาดยอดขาย 2.25 ล้านลิตร