3 ประเด็นต้องรู้ กรณี IPO ของ “Luckin Coffee” เชนกาแฟไฮเทคจีน คู่แข่งสำคัญ Starbucks ที่ Tencent หนุนหลัง

Luckin Coffee เชนกาแฟสัญชาติจีนที่ได้ชื่อว่าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีหรือ tech-driven coffee chain เดินหน้ายื่นเอกสารเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การจุด 3 ประเด็นร้อนที่ทำให้โลกกล่าวขานถึง Luckin Coffee แบบทอล์กออฟเดอะทาวน์

1. ระดมทุนเท่าไหร่ก็ไม่พอ

แม้จะเป็นผู้ท้าชิงหลักของ Starbucks แต่ Luckin Coffee ยังอยู่ในภาวะขาดทุน ความตั้งใจที่จะขายหุ้น IPO ต่อสาธารณชนในตลาด Nasdaq ภายใต้สัญลักษณ์ LK นั้นถูกมองว่าเป็นการดูดเงินมาเพื่อขยายธุรกิจในวันที่ Luckin Coffee ระดมทุนเท่าไหร่ก็ยังไม่เพียงพอ

Photo credit: Luckin Coffee

ก่อนหน้านี้ Luckin Coffee ระดมทุนล่าสุดมูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มมูลค่าบริษัทให้แตะระดับ 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมเมื่อย้อนกลับไปในพฤศจิกายน 2561 ดาวรุ่งอย่าง Luckin Coffee ได้เพิ่มทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายให้ความสนใจ หนึ่งในนั้นคือกองทุนความมั่งคั่งแห่งสิงคโปร์ชื่อ GIC และกลุ่มทุนจีน China International Capital Corp.

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Luckin Coffee ดึงดูดทุนมูลค่ามหาศาลได้สำเร็จเป็นเพราะนโยบายการบุกหนักของ Luckin Coffee ซึ่งโดนใจยักษ์ใหญ่จีนอย่าง Tencent จนได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คาดว่า Luckin Coffee หวังว่าการขาย IPO จะระดมทุนได้เกิน 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสำนักข่าวใหญ่อย่าง Bloomberg เคยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าววงในว่า Luckin Coffee ตั้งเป้าระดมทุนถึง 300 ล้านดอลลาร์

2. เป้าหมายคือแชมป์

ก่อนหน้าการประกาศขาย IPO ที่สหรัฐอเมริกา Luckin Coffee ประกาศแผนการเปิดร้านสาขา 2,500 แห่งในปีนี้ เพื่อเพิ่มจำนวนสาขารวมให้เป็น 4,500 แห่ง ซึ่งจะทำให้ Luckin Coffee ชนะ Starbucks ในฐานะเชนกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของจีน

นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 60 วันนี้ Luckin Coffee มีร้านค้าจำนวน 2,370 แห่ง (สถิติวันที่ 31 มีนาคม) ร้านสาขาเหล่านี้มีขนาดเล็กเพราะหลักการสำคัญคือการให้บริการลูกค้าอย่างรวดเร็ว หรือ grab-and-go service ที่ลูกค้าสามารถรับกาแฟได้ที่ร้านหรือจัดส่งแบบด่วนไปที่บ้านและสำนักงาน จุดขายของ Luckin Coffee คือการเสนอคูปองที่หลากหลาย ทั้งลดแลกแจกแถม เรียกว่าให้กาแฟฟรีและลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับมาที่ร้านอีกครั้ง

กลยุทธ์ทุบตลาดแบบ aggressive รุนแรงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบริษัทสตาร์ทอัพจีนอื่นก็ใช้วิธีนี้เพื่อทำให้แบรนด์ตะวันตกหลุดจากตลาดจีน ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการขยายตัวของ Luckin Coffee และเม็ดเงินการตลาดที่สูง ทำให้ Luckin Coffee ขาดทุนยับในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เบ็ดเสร็จแล้ว Luckin Coffee ขาดทุน 241 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว จากยอดขายรวม 125 ล้านดอลลาร์

ต้นทุนการโฆษณา การให้ส่วนลดเครื่องดื่มฟรี รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องนั้นคิดเป็นเงินมากกว่า 23.8 หยวนต่อลูกค้าใหม่ 1 ราย ตัวเลขนี้เป็นสถิติล่าสุดที่สรุปในไตรมาสแรกของปี 62 ถือว่าลดลงแล้วจาก 119.3 หยวนที่คำนวณได้ในไตรมาสแรกปี 61

Since it was founded in 2017, Luckin has built 2,370 stores in China, offering customers quick grab-and-go service at its small stores AFP/File

3. ผู้ก่อตั้งไม่ธรรมดา

การขาย IPO ของ Luckin Coffee ทำให้โลกหันมาสนใจประธานบริษัทอย่าง Charles Zhengyao Lu ซึ่งเป็นผู้ลงทุนเริ่มต้นและนั่งแท่นเป็นแชร์แมนของบริษัท ความเป็นมาของ Lu นั้นไม่ธรรมดาเพราะเขาคือผู้ก่อตั้งบริษัท CAR Inc. ซึ่งเป็นบริษัทให้เช่ารถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน

จากอดีตผู้บริหารในบริษัทโทรคมนาคม Lu เริ่มก่อตั้งและผลักดันบริษัทรถเช่า Car Inc. ในปี 2550 จนสามารถให้บริการรถเช่าระยะสั้นและระยะยาวแก่ลูกค้าในเมืองจีนกว่า 300 แห่ง ก่อนจะเปิดขาย IPO ในปี 2557 ระดมทุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่ง Car Inc. สามารถเปิดตัวบริการ UCar ได้โดดเด่นในปี 2558

UCar สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ด้วยการซื้อรถของตัวเองและเสนอผู้ขับระดับมืออาชีพ วันนี้ Lu ก้าวลงจากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ Car Inc. ตั้งแต่ปี 59 แล้วขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่ UCar ในตำแหน่งซีอีโอและประธานบริษัท ขณะนี้ได้กระจายธุรกิจไปสู่ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และบริการสินเชื่อรถยนต์ โดยสตาร์ทอัพจีนรายนี้เข้าตลาดหุ้นของจีนแล้วบนมูลค่าบริษัทสูงกว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากนับสัดส่วนการถือหุ้นของ Lu ใน Car Inc. ที่มีมูลค่าเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินรวมสุทธิของ Lu อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นมหาเศรษฐีที่น่าสนใจที่สุด ในวันที่จีนเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา.

ที่มา :