ไฟเขียว “นกแอร์” กู้ “จุฬางกูร” 3 พันล้าน หวังหยุดขาดทุน

ถูกจับตามองมาตลอดสำหรับสายการบิน นกแอร์ หลังจากต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มทุนมาตลอด ต้นปี 2562 นกแอร์ ประกาศเพิ่มทุนอีกรอบ แต่การบินไทยซึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ลดการถือหุ้นลง เหลือ 16% แต่ในที่สุดนกแอร์ก็เพิ่มทุนได้ 2,300 ล้านบาท ซึ่งนกแอร์แจ้งว่า จะทำให้มีเงินทุนหมุนในองค์กรพอกับการดำเนินงาน และขยายเส้นทางและเครือข่ายการบิน

แต่ดูเหมือนว่าเงินเพิ่มทุนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอกับการพลิกฟื้นธุรกิจแก้ปัญหาขาดทุนได้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 (วันที่ 25 เมษายน 2562) จึงมีมติอนุมัติให้รับความช่วยเหลือทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ภายใต้วงเงินกู้ยืมจำนวน 3,000 ล้าน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง ในการดำเนินงานธุรกิจ

ประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานทั่วไป ทำให้นกแอร์มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการดำเนินกิจการเพื่อเดินหน้าแผนพลิกฟื้นธุรกิจต่อไป ซึ่งเงื่อนไขการกู้ยืมเงินผ่อนปรนกว่าสถาบันการเงิน เป็นการลดภาระของผู้ถือหุ้น เพราะไม่ต้องทำการเพิ่มทุนอีกและถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของแหล่งเงินทุน”

โดยนกแอร์กำลังเร่งเดินหน้าตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ (TURNAROUND PLAN) เพื่อหยุดขาดทุนให้ได้โดยเร็ว ซึ่งในปี 2561 แม้ว่าบริษัทจะได้ดำเนินการตามแผนการพลิกฟื้นธุรกิจอย่างเต็มความสามารถ แต่เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจสายการบินทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนทำให้ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุน อันเห็นได้จากผลประกอบการของสายการบินส่วนใหญ่รวมถึงนกแอร์ประสบปัญหาขาดทุน

แนวทางในการบริหารจัดการจากนี้ไป จะมุ่งเน้นบริหารจัดการเส้นทางบินให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำกำไรในแต่ละเส้นทางบิน รวมถึงการบริหารจัดการเครื่องบิน (Aircraft Utilization) โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดที่สร้างรายได้และกำไรจากการขายบัตรโดยสารได้ดีกว่าตลาดภายในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว กลุ่มจุฬางกูร ได้ให้นกแอร์ กู้เงิน 500 ล้านบาท ด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี.