ผ่าน พ.ศ. เก่า เข้าสู่ศักราชใหม่ เย้ยคำปรามาสที่ว่า “รัฐบาลจะไปได้สักกี่น้ำ” สำหรับรัฐบาลที่มีนายกฯ ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พาลำรัฐนาวา ปชป. ล่องมหาสมุทรผ่านพ้นขวบปีมาได้ หลังเกือบล่มตั้งแต่ออกจากท่า หลังพลิกขั้วตั้งรัฐบาลก็โดนมรสุมลูกแล้วลูกเล่ารุมเร้าตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ.ใหม่นี้ “อภิสิทธิ์” ก็ใช่จะเดินต่อไปได้สะดวกโยธิน ในเมื่อมรสุมจากพายุลูกเดิมตั้งเค้าให้เห็นกันตรงหน้า
ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ประดังประเดเข้ามาหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่ต้นปีต่อเนื่องไปอย่างน้อยๆ ก็ 3 เดือน เป็น 1 ไตรมาสที่อภิสิทธิ์จะต้องพบเจอรัฐนาวาประชาธิปัตย์จะไปรอด หรือล่มลง?
ปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกที่เผาหัวมาแต่ปลายปีที่ผ่านมา และทำท่าจะดีกรีพุ่งจนร้อนฉ่าตั้งแต่ต้นปี กับการประกาศเคลื่อนทัพ “ม็อบเสื้อแดง” ที่ดีเดย์เข้าตีแตกหักไล่รัฐบาล เผด็จศึกอภิสิทธิ์ เดือนมกราฯ!
วันนี้ถึงนายกฯ จะสามารถกระชับอำนาจอยู่ในมือได้ แต่ก็ยังไม่แน่นเต็มร้อย เพราะหลายภาคส่วนกลไกลยังทำงานไม่ลื่นไหล เพียงซ่อนพรางแรงต่อต้านไว้
ปัญหา “เกียร์ว่าง” อย่างที่เมื่อเหตุป่วนเมืองสงกรานต์เดือด ยังเกิดได้เสมอ
ยิ่งการเคลื่อนทัพของม็อบแดงครั้งนี้ จะยิ่งหนักหน่วงกว่าที่ผ่านมา เพราะทักษิณ มี “เดิมพันสูง” กับทรัพย์สินที่ถูกอายัด 7.6 หมื่นล้านบาท และอำนาจที่จะกลับคืนมา
เป็นระเบิดลูกใหญ่ที่อภิสิทธิ์ต้องถอดสลัก กอบกู้ ไม่งั้นก็อาจพังครืนไปทั้งรัฐบาล รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง
ในเวลาเดียวกันนั้น ปัจจัยเสี่ยงอันดับสอง ที่ “อภิสิทธิ์” ต้องบริการจัดการไปพร้อมกัน กับกำหนดการปรับคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้หลังผ่านพ้นปีใหม่
องคาพยพ ครม. จุดไหนที่บกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพ ควรปรับเปลี่ยน เป็นเรื่องที่ผุ้นำหัวโต๊ะ ครม.ต้องพิจารณาการทำงานในยามบ้านเมืองวิกฤต จะใช้คนเฉื่อยแฉะไร้ฝีมือแบบเดิมไม่ได้
ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความขัดแย้ง ทั้งกับพรรคร่วมรัฐบาล และในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เริ่มมีเสียงทวงถามสัญญาโควต้า
หากเกลี่ยไม่ลงตัว ไม่สามารถสยบแรงกระเพื่อมได้ ก็อาจกลายเป็นมรสุมอีกลูกใหญ่ในยามศึกนอกประชิด และจะต้องเหนื่อยหนักทวีคูณ เมื่ออีกปัจจัยเสี่ยงเรื่องที่สาม ก็เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน กำหนดยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่พรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านจองกฐินไว้แล้ว
หลังเปิดสภาฯ กลางเดือน ม.ค.นี้ นายกฯ และรัฐมนตรีรอขึ้นเขียงได้
สำหรับศึกซักฟอก ปกติธรรมดาเสียงพรรคร่วมรัฐบาลรวมกันคงไม่มีปัญหา ถึงแต่วันนี้ก็อย่างที่รู้ สัมพันธ์ในพรรคร่วมฯ ง่อนแง่น เป็นเรื่องอันตรายในวันโหวตลงมติ
โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสข่าวถึง “ปัจจัยแทรกซ้อน” จากแผนร้ายทักษิณ ที่เริ่มมองเห็นช่องว่างตรงนี้ สอดแทรกต่อสายมาเสี้ยม
กรณีพลิกสวิงขั้ว กลับไปจับมือตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยอีกครั้ง ใช่จะเป็นไปไม่ได้!
สัมพันธภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาล จึงเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยิ่งในการอภิปรายฯ เงื่อนไขรัฐธรรมนูญระบุไว้ นายกฯ ต้องอยู่รับผิดชอบในเวทีสภา
ปิดช่องไพ่ตาย “ยุบสภา” ล้มกระดานหนี!
เช่นเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงกับเกมการแก้รัฐธรรมนูญ ที่นายกฯ อภิสิทธิ์ใช้หมากยื้อเวลาสำเร็จมาได้ตลอดช่วงที่บริหารความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา
แต่มีสิทธิที่จะแตกหักได้ทุกเมื่อ เพราะบรรดา “ขาใหญ่” ในพรรคการเมืองต่างๆ ย่อมไม่ยอมไปตลอดแน่
แต่ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้ ก็คืออีกปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในเรื่องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อเริ่มมีสัญญาณไม่สู้ดีมาจาก กกต. ที่มีการซาวเสียงแล้ว โยนเรื่องให้ประธาน อภิชาติ สุขัคคานนท์ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองชี้ขาด
ประกอบกับแรงบีบของขั้วตรงข้าม ในเรื่องยุบพรรค เมื่อพรรคเพื่อไทย และม็อบเสื้อแดงเริ่มเคลื่อนไหวกดดันยัง กกต. โดยชูประเด็น “2 สองมาตรฐาน”
ยิ่งจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เริ่มขบคิดหาทางรอดสำรองไว้ และเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง
โดยเฉพาะในประเด็นโทษของการกระทำความผิดของกรรมการบริหาร และสมาชิกพรรค ที่จะแก้ไขให้เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวกับพรรค
เป็นทางรอดที่เข้าทางพรรคร่วมรัฐบาล ที่วันนี้นอกจากต้องการปรับเปลี่ยนในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ไปสู่ระบบเขตเล็กเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการเลือกตั้งแล้ว
เมื่อประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดอ้า บิ๊กๆ การเมืองที่ถูกจองจำย่อมผสมโรงขอปลดชนัก “นิรโทษกรรม” ทลายโซ่ตรวนด้วยแน่
แน่นอน หากขยับในเรื่องนี้เมื่อไหร่ กลุ่มต่อต้านก็จะเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯ รวมทั้งผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิดการรื้อระบบ กฎเกณฑ์ กติกา
ทำลายมาตฐานกระบวนการยุติธรรม เพื่อล้างความผิด!
นอกจากนี้ยังมีอีกสารพัดปัจจัยเสี่ยง ที่เป็นเผือกร้อนอยู่ในมืออภิสิทธิ์ และปรารภไว้ว่าจะแก้ไขสำเร็จหลังปีใหม่ กรณีการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
เรื่องร้อน ที่มาจาก “สัญญาณพิเศษ” ที่วันนี้ก็ยังแรงจัด และเป็นสัญญาณอันตรายอยู่เช่นเดิม เป็นเรื่องที่อภิสิทธิ์ต้องหาช่อง “เข้าถึง” เพื่อ “เคลียร์”
รวมทั้งที่มีข่าว อาจจิ้มเลือกไปที่ “ตัวเลือกใหม่” ทะลุผ่าน 2 แคนดิเดตที่ยื้อและยันกันมานานหลายเดือน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกด้าน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ถึงแม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัวในหลายจุด จากการอัดงบฯอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ก็ยังมีปมที่ต้องสะสางตามมา ทั้งการบริหารเงินกู้ก้อนใหญ่ การใช้จ่ายที่ต้องให้เกิดประสิทธิภาพ และไม่มีปัญหาความโปร่งใส การทุจริตตามมา ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ
ยังมีประเด็นที่อภิสิทธิ์เพิกเฉยหรือยื้อเวลาทอดยาวออกไปไม่ได้อีกแล้ว กับปัญหาโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ต้องหยุดการผลิตด้วยคำสั่งศาลปกครอง
คณะกรรมการที่นายกฯตั้งขึ้นมาพิจารณาแก้ไขปัญหาจะต้องได้ผลสรุปโดยรีบด่วน เพราะปมนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนี้ อีกสองปัจจัยเสี่ยงที่ต้องใช้เวลาแก้ไข ทั้งเรื่องไฟใต้ ที่ปัญหาลุกลามหมักหมม จนต้องใช้ทุกวิถีทางในการรักษาเยียวยา เพื่อดับไฟให้มอดลง
รวมทั้งปัจจัยเสี่ยง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะต้องไม่ให้มีการกระทบกระทั่งขอบรั้วประเทศที่ติดกับไทยอื่นๆ ตามซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายไปอีก
นอกเหนือจากฝั่งกัมพูชา ที่ชัดเจนแล้วว่าตัวผู้นำคือแนวร่วมของอดีตนายกฯ ที่หนีคดีไปพำนักใช้เป็นฐานป่วนรัฐบาลและประเทศไทย
เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อภิสิทธิ์ต้องใช้ทั้งไม้อ่อน-ไม้แข็ง แก้ปมไปทีละเปลาะ ด้วยความรอบคอบ แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องเด็ดขาด
ทั้งหมดคือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ท้าทายนายกฯ อภิสิทธิ์ ในฐานะควบคุมอำนาจในการบริหารไว้ในมือ
เมื่อเข้ามาเป็นผู้นำ ภาวะวิกฤตแค่ไหน ก็ต้องทำ!!