MyMarkets เทรนด์แรงที่แบรนด์จะแข่งกันแพ้ชนะชัดเจนในช่วง 3 ปีนับจากนี้

จากเดิมที่แบรนด์เคยแข่งกันเรื่อง 4P ทั้งตัวสินค้า ราคา จุดวางจำหน่าย และโปรโมชั่น การสำรวจล่าสุดพบว่าสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนไป เพราะแบรนด์จะเทพลังแข่งขันกันแย่ง “moment” ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้แบบเดี๋ยวนี้ ตอนนี้กลายเป็นที่มาของเทรนด์ momentary markets หรือ MyMarkets ที่บริษัทวิจัย accenture เชื่อว่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดเข้าสู่ทุกธุรกิจในข่วง 3 ปีนับจากนี้

นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ accenture ประเทศไทย อธิบายว่า คีย์เวิร์ดของ MyMarkets คือความเป็นเรียลไทม์ หรือการตอบความต้องการของลูกค้าให้ได้ เวลาจุดนั้นเท่านั้น ซึ่งองค์กรหรือแบรนด์จะต้องเข้าใจว่าความต้องการ เวลานั้นของลูกค้าคืออะไร และหมายถึงอะไร

แนวคิดนี้ทำให้เราเห็นการเสนอขายสินค้าทันทีที่ลูกค้าทำการเสิร์ช เป็นการวิ่งเข้าหาผู้บริโภคในเวลานั้น

MyMarkets จึงเป็นแนวโน้มการแข่งขันในโลกธุรกิจที่ความต้องการในตลาดเปลี่ยนไป ทำให้ลูกค้าหลายคนอยากได้สินค้าในตอนนี้ ซึ่งหากเลยช่วงเวลานี้ไป หรือให้รอนานกว่านี้ก็จะไม่อยากได้แล้ว การแข่งขันของหลายแบรนด์จึงเริ่มไปอยู่ที่การบริการและจัดส่งที่จะทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งสินค้านั้นอาจไม่ใช่ของที่ราคาถูกที่สุด แต่จะขายได้เพราะตอบความต้องการได้ในเวลานั้น 

ผู้บริหารไทยขานรับ

วันนี้ธุรกิจโลกเริ่มแข่งกันที่ MyMarkets แล้ว และแนวโน้มนี้กำลังเกิดขึ้นในตลาดไทยเช่นกัน เพราะการสำรวจของ accenture พบว่า 95% ของนักธุรกิจชั้นนำของไทย พูดตรงกันว่าจะหันมาแข่งตรงนี้ เพื่อแย่งโมเมนต์นั้นของลูกค้าให้ได้

“นี่ไม่ใช่เรื่องของการทำราคา แต่เป็นการตอบความต้องการให้ได้ในเวลานั้น เราจึงเชื่อว่านี่จะเป็น Next big wave ที่จะชี้แพ้ชนะระหว่างแบรนด์ได้”

สัดส่วน 95% ของนักธุรกิจชั้นนำของไทยที่เห็นด้วยกับแนวคิด MyMarkets นั้นสูงกว่ามาตรฐานโลก เพราะเมื่อเทียบกับผลสำรวจที่ accenture ทำในระดับโลก พบว่าผู้บริหารโลกเพียง 85% เท่านั้นที่เห็นด้วยว่าการใช้เทคโนโลยีและกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สามารถชี้แพ้ชี้ชนะถึงความได้เปรียบเชิงแข่งขันของธุรกิจ

รู้แต่ยังไม่ตื่นตัว

อย่างไรก็ตาม นนทวัฒน์ประเมินว่าองค์กรไทยยังไม่ตื่นตัวกับเทรนด์นี้ เพราะมีบางรายเท่านั้นที่เริ่มตอบความต้องการแบบ On Demand คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10%

แต่ความจริงคือวันนี้องค์กรไทยยังไม่ตื่นตัวเทรนด์นี้เท่าไหร่ ธุรกิจไทย 7% เท่านั้นที่บอกว่าตอบตลาด On Demand แล้ว

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นจุดน่ากังวลตามมาตรฐานโลก เพราะสัดส่วน 7% นี้ถือว่าไม่หนีจากค่าเฉลี่ยโลก 9% ที่เป็นกลุ่มธุรกิจซึ่งบอกว่าเริ่มตอบ On Demand แล้ว จุดนี้ทำให้นนทวัฒน์เชื่อว่าเราจะได้เห็นธุรกิจในหลายตลาด เริ่มแข่งขันเรื่องการให้บริการ On Demand เพิ่มขึ้น 

สำหรับ MyMarkets นั้นเป็น 1 ใน 5 เทรนด์ที่ accenture มั่นใจว่าทุกธุรกิจจะได้พบเจอในช่วง 3 ปีนับจากนี้ การสำรวจนี้มีชื่อเรียกเต็มว่า “Technology Vision 2019 report” ซึ่งลงมือสำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทใหญ่มากกว่า 6,000 คนทั่วโลกรวมถึงไทย โดยอีก 4 เทรนด์ ได้แก่ 

1. DARQ Power : ธุรกิจจะใช้เทคโนโลยีกลุ่ม DARQ จนเป็นเรื่องปกติ ทั้ง Distributed ledger บล็อกเชน, Artificial intelligence ปัญญาประดิษฐ์, Extended Reality ระบบเสมือนจริงสำหรับองค์กร และ Quantum computing การประมวลผลระดับสุดยอดคอมพิวเตอร์ 

2. Get To Know Me : ธุรกิจจะใช้ดาต้าถอดรหัสลูกค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้เข้าถึงโอกาสเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะได้ พบว่า 4 ใน 5 ของผู้บริหารทั่วโลก (83%) เผยว่าวันนี้องค์กรต้องใช้วิธีการใหม่ในการหาโอกาสทางการตลาดเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ยังไม่มีใครตอบโจทย์ ตัวเลขนี้ต่ำกว่าการสำรวจในไทย ที่ผู้บริหาร 95% เชื่อว่าการใช้ดิจิทัลดาต้ามีผลกับธุรกิจ  

3. Human+ Worker : ธุรกิจจะดำเนินไปผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างคนและเครื่องจักร การสำรวจพบว่าผู้บริหารกว่า 2 ใน 3 (71%) เชื่อว่าพนักงานของบริษัทมีความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมากกว่าองค์กร ส่งผลให้คนทำงานต้องรอให้องค์กรก้าวตามให้ทัน ตัวเลขนี้ถือว่าต่ำกว่าผู้บริหารไทย 87% ของกลุ่มตัวอย่าง ที่ยอมรับว่าวันนี้พนักงานมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ในองค์กรเพราะเทคโนโลยี

4. Secure Us to Secure Me : ธุรกิจจะใส่ใจการรักษาความปลอดภัยแบบทั้งระบบนิเวศมากขึ้น ทั้งตัวบริษัทเองและพันธมิตร จุดนี้การสำรวจพบว่ามีผู้บริหารโลก 29% เท่านั้นที่ทราบดีว่าพันธมิตรในระบบนิเวศของตนได้ดำเนินการอย่างจริงจังด้านมาตรฐานความปลอดภัย เท่ากับบริษัทส่วนใหญ่ไม่ทราบจริงๆว่าบริษัทพันธมิตรรายอื่นมีความสามารถในการแก้ไขฟื้นฟูระบบได้ทันท่วงทีหรือไม่

โดยเทรนด์ที่ 5 ก็คือ MyMarkets ที่เราพูดถึงตั้งแต่ต้น.