คนไทยบนโลกโซเชียลมีเดียและโอกาสทางธุรกิจ

อิษณาติ วุฒิธนากุล

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อชีวิตเรามากขึ้นทุกวัน และหากถามหนุ่มสาวในปัจจุบันว่าเสพสื่อจากช่องทางไหน ไม่ว่าจะเป็นข่าวหรือรายการบันเทิงต่างๆ คำตอบส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นโซเชียลมีเดีย

ผลการวิจัยของบริษัท YouGov ประเทศไทย จะพบว่าเกือบ 1 ใน 5 หรือ 22% ของคนไทยเราใช้เวลาถึง 9 ชั่วโมงต่อวันในโซเชียลมีเดียต่างๆ และมีเพียงแค่ 4% ของคนไทยเราเท่านั้นที่ใช้เวลาในโซเชียลมีเดียน้อยกว่า 4 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าไม่เพียงคนจำนวนมากเข้ามาเป็นประชากรในโลกอินเทอร์เน็ต แต่เวลาที่ใช้กับแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การทำความเข้าใจเพียงแค่ความแตกต่างระหว่างออนไลน์” กับ ออฟไลน์ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะตอนนี้โลกออนไลน์โดยเฉพาะโลกโซเชียลมีเดียนั้นทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากถามว่าโซเชียลแพลตฟอร์มไหนที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในประเทศไทย ก็คงไม่มีใครแปลกใจว่า Line นั้นมาเป็นอันดับ 1 ถ้าให้ Rank ความนิยมโดยรวมของโซเชียลมีเดียในประเทศไทยที่ตามไลน์มาติดๆ ก็จะเป็น Facebook, Youtube, Facebook Messenger, Instagram ตามลำดับ แต่หากเรามองไปที่กลุ่มคนไทยที่เป็น Heavy User หรือใช้เวลาเกิน 5 ชั่วโมงต่อวันในโซเชียลมีเดีย จะพบว่าแพลตฟอร์มอย่าง Instagram, Twitter รวมถึงแอปน้องใหม่อย่าง Tik Tok นั้นกลับได้รับความนิยมจากคนกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่ Tik Tok นั้นได้รับความนิยมสูงมากในกลุ่มวัย 18 – 24 ปี แอปเดียวกันนี้กลับไม่ได้รับความนิยมจากคนวัย 55+ เลย หลายคนอาจจะบอกว่าก็ต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้วเพราะ Tik Tok นั้นถูกดีไซน์มาสำหรับวัยรุ่น แต่ประโยคนี้ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะสมัยหนึ่ง Line เองก็ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่วัยรุ่น แต่ปัจจุบันคนวัย 45+ กลับเป็นกลุ่มสำคัญที่ใช้ไลน์เป็นหลักไปแล้ว

ทำนองเดียวกันในขณะที่แอปหาคู่อย่างทินเดอร์” ที่เคยได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น ปัจจุบันราวครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ทินเดอร์กลายมาเป็นคนวัยทำงานช่วงอายุ 25 – 34 ปี ซึ่งก็แปลว่าคนวัยนี้คือผู้ใช้งานหลักในปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือหลายคนอาจคิดว่าผู้ชายน่าจะใช้ทินเดอร์มากกว่าผู้หญิงซึ่งก็จริงครับ แต่สัดส่วนนั้นต่างกันไม่เยอะเท่าไหร่ โดยสัดส่วนเกือบเป็นครึ่งๆ ทั้งคู่ (54% , 46% ) กลับกันผู้หญิงกลับใช้ Instagram มากกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ

จริงๆ แล้วไม่เพียงแค่ Instagram แต่หากให้เทียบสัดส่วนระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงแล้ว จะพบว่าผู้หญิงมีสัดส่วนที่ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าผู้ชายในเกือบทุกแพลตฟอร์ม อย่างน้อยๆ นะครับนี่ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งความเป็นจริง หรือโลกออนไลน์ผู้หญิงก็ดูที่จะชอบคุย แชร์เรื่องราว ติดต่อสื่อสารมากกว่าผู้ชายอย่างเราๆ จริงๆ

ที่อาจจะผิดคาด คือ คนทั่วไปอาจคิดว่าคนโสดน่าจะใช้หลากหลายโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มมากกว่ากลุ่มคนที่แต่งงานแล้ว เพราะน่าจะแอคทีฟมากกว่า หรืออาจจะต้องการเพื่อนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มคนแต่งงานกลับใช้โซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์มมากกว่าคนโสด รวมไปถึงแพลตฟอร์มอย่าง Medium ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ถ้ามาดูจำนวนเวลาที่ใช้ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะเจอว่าคนโสดจะใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากกว่าคนที่มีครอบครัวแล้วอย่างชัดเจน โดยหากดูจากคนที่ใช้เวลาในโลกออนไลน์หรือโลกโซเชียลมีเดียตั้งแต่ 9 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน จะพบว่า 66% ของคนกลุ่มนั้นคือกลุ่มคนโสด และส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาเสียด้วย

Source : Photos.com; Medium.com

ที่น่าตกใจและอาจผิดคาดสำหรับหลายคน กลุ่มผู้ใช้ทินเดอร์ที่ต้องเข้าไปใช้อย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้งนั้น 38% คือกลุ่มคนที่แต่งงานแล้วและ 42% คือกลุ่มคนที่โสด จริงๆ แค่เห็นว่า 38% ของผู้ใช้เป็นกลุ่มคนที่แต่งงานแล้วก็เพียงพอที่จะทำให้ตกใจในระดับหนึ่งแล้ว แต่หากดูเปอร์เซ็นต์ส่วนที่เหลือจากสองกลุ่มแรกจะพบว่าคือกลุ่มคนที่คบหาดูใจแต่ยังไม่ได้แต่งงานกัน หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีแฟนอยู่นั่นแหละ แปลว่าหากรวมกลุ่มคนที่แต่งงานและมีแฟนเข้าด้วยกันแล้ว กลุ่มคนที่มีพันธะตรงนี้มีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มคนโสดด้วยซ้ำไป

แน่นอนว่าสัดส่วน พฤติกรรม หรือกระทั่งเปอร์เซ็นต์ที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ใครจะรู้ว่าอีกหน่อยผู้ใช้ของ Tik Tok อาจจะกลายมาเป็นคนสูงอายุ ผู้ใช้ทินเดอร์อาจจะกลายมาเป็นคนโสดทั้งหมด เฟซบุ๊กอาจจะไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป หรืออาจจะมีโซเชียลมีเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งนี่แหละที่เรียกว่าความซับซ้อนของโลกโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์

หากมองจากมุมมองธุรกิจการที่โลกออนไลน์ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจำนวนผู้ใช้และเวลาที่ใช้ มันคือโอกาสอันมหาศาลที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ไม่ใช่แค่การเข้าถึงคนในประเทศไทย แต่เราสามารถเข้าถึงใครก็ได้บนโลกใบนี้ตราบที่คนคนนั้นสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึงโซเชียลมีเดียได้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะพวกที่เป็น Unicorn จึงมักเป็นบริษัทที่อยู่ในรูปแบบออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพราะมันสามารถ scale และสร้างเม็ดเงินได้อย่างรวดเร็วและมหาศาล

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดโซเชียลมีเดียที่เป็นที่ถูกใจจริงๆ อาจจะไม่เรื่องง่าย เพราะไม่เพียงต้องมีความเข้าใจในคนของประเทศตัวอย่าง แต่ยังต้องมีความเข้าใจในพฤติกรรมและสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการบนโลกออนไลน์และโลกโซเชียลมีเดียอีกด้วย การที่บริษัททางตะวันตกเช่น Amazon, Whatsapp หรือ Airbnb สามารถแผ่ขยายได้ทั่วโลกเป็นเพราะบริษัทเหล่านี้มีความสามารถในการสร้างไอเดียที่คนหมู่มากต้องการและสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะทำให้ไอเดียเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เป็นเจ้าแรกๆ

อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่บริษัทเหล่านี้จะสามารถเข้าใจทุกๆ ตลาดที่มีความแตกต่างทั้งในด้านความเชื่อศาสนา กฎหมาย และวัฒนธรรมได้ แปลว่าตรงนี้นี่แหละที่เป็นโอกาสของคนไทย ของบริษัทไทยเรา เพราะว่าเรามีความสามารถที่จะเข้าใจในตลาดของตัวเอง คนของตัวเองได้ดีกว่า มันไม่ได้เพ้อฝันอาจจะยากที่สู้กับบริษัทเหล่านั้นในระดับโลกแต่อย่างน้อยๆ เราก็ควรทำได้ในบ้านตัวเอง

หากต้องการตัวอย่างเราสามารถมองไปที่จีน การที่แบรนด์อย่าง Amazon, Whatsapp หรือ Airbnb ได้พ่ายแพ้ให้กับบริษัทจีนในประเทศจีน หากมองดีๆ จะพบว่ามันไม่ใช่เพราะว่าแบรนด์เหล่านี้ถูกปกป้องจากภาครัฐของจีน แต่เป็นเพราะบริษัทจีนเหล่านี้สามารถเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของคนในประเทศตัวเองได้อย่างดียิ่งกว่าบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ทำให้สุดท้ายแล้วสินค้าและบริการที่เกิดจาก Alibaba เช่น การไม่เก็บค่าธรรมเนียม, WeChat ที่มีฟีเจอร์มากมายที่ Whatsapp ไม่มี หรือ Tujia ที่ให้มีคนไปตรวจดูห้องและอาคาร เป็นที่โดนใจชาวจีนมากกว่าบริการของบริษัทต่างชาติพวกนั้น จนสามารถก้าวขึ้นมาครองตลาดของบ้านตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ

จริงๆ แล้วไม่เพียงในจีน ในเกาหลีก็มีบริษัทอย่าง Kakao Talk ในญี่ปุ่นมี Rakuten อินโดนีเซียมี Go-Jek แล้วไทยหละมีอะไร? จริงๆ แล้วการที่คนไทยเราชอบใช้ Line มากกว่า WhatsApp คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสติกเกอร์ไลน์ที่เป็นที่โดนใจคนไทยมากกว่า น่าเสียดายที่ไลน์เองก็ไม่ใช่ของคนไทย หากมองไปรอบๆ ก็จะพบว่าทุกๆ โซเชียลมีเดียที่โด่งดังในบ้านเรานั้นไม่มีอันไหนเลยที่เป็นของคนไทยเรา

บางทีเราอาจจะควรเอาอย่างจีนก็ได้นะครับ หากเริ่มต้นทำเองไม่ได้ ไม่มั่นใจก็ก๊อปของต่างประเทศ แล้วพยายามสร้างให้เกิดการแข่งขันในด้านนี้อย่างจริงจัง จะได้มีการต่อยอด พัฒนา จนสุดท้ายแล้วได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์คนในประเทศตัวเองได้ดีกว่าบริการของบริษัทต่างชาติ มันไม่ควรทำการโปรโมตว่าเป็นคนไทย ต้องช่วยใช้ผลิตภัณฑ์ใช้บริการของคนไทย สิ่งที่ควรจะเป็นคือ คนไทยอย่างเราๆ ต้องอยากใช้บริการของบริษัทไทย เพราะบริการจากบริษัทไทยเหล่านี้เข้าใจเรามากกว่า ตอบโจทย์กับสิ่งที่เราต้องการและสิ่งที่เรามองหาได้ดีกว่า หากวันหนึ่งมีบริษัทคนไทยที่ทำแบบนั้นได้ ผมก็เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็พร้อมให้ความสนับสนุนอย่างแน่นอนครับ.