ภาพจาก : https://edition.cnn.com/2019/04/26/business/london-marathon-seaweed-water-bottles/index.html
จับตางานวิ่งยุคใหม่ถึงจุดเปลี่ยน เพราะแทนที่ผู้จัดงาน London Marathon 2019 จะเสิร์ฟเครื่องดื่มดับกระหายในขวดพลาสติกแบบปกติ แต่กลับเลือกบริการ “แคปซูลน้ำกินได้ที่ทำจากสาหร่าย” ซึ่งภายในอัดแน่นด้วยเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา งานนี้ไม่เพียงลดปริมาณขวดพลาสติกใช้แล้วหลักแสนใบ แต่ยังเป็นสัญญาณว่าบอลน้ำสาหร่ายนี้จะมีอิมแพคในวงการบรรจุภัณฑ์พลาสติกของหลายธุรกิจ
แคปซูลสาหร่ายบรรจุน้ำซึ่งเป็นสีสันใน London Marathon 2019 นี้มีชื่อเรียกว่า Ooho ตัว seaweed capsule ถูกพัฒนาโดยสตาร์ทอัพแดนผู้ดีชื่อ Skipping Rocks Lab โดยนักวิ่ง 41,000 คนที่ร่วมงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา จะได้รับบอลน้ำนี้ทันทีที่วิ่งถึงหลัก 23 ไมล์ เป้าหมายคือการลดปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นระหว่างการวิ่งมาราธอนได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ขวด
Rodrigo Garcia Gonzalez หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Skipping Rocks Lab ยืนยันว่าเป้าหมายของบริษัทคือการทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสูญพันธุ์ไปเลย จุดแข็งคือต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าพลาสติกและเยื่อบางที่ทำจากวัสดุอื่น โดยตัวแคปซูลนั้นกินได้และไม่มีรส จุดนี้ Rodrigo ย้ำว่าบริษัทเน้นจัดการสีและกลิ่นของสาหร่ายทิ้งไป เพื่อให้ได้วัสดุเหนียวหนืดที่ใช้บรรจุน้ำได้แทนพลาสติก
ผลคือแคปซูลนี้ย่อยสลายได้ภายใน 6 สัปดาห์หากไม่ได้รับประทาน ถือว่าคนละเรื่องกับ 450 ปีที่ขวดพลาสติกจะสลายตัว โดยการแข่งขันในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาถือเป็นครั้งแรกที่ Ooho ถูกใช้ในงานวิ่งมาราธอน
ก้าวสำคัญแคปซูลสาหร่าย
ผู้ก่อตั้งต้นสังกัด Ooho มั่นใจว่าการแจ้งเกิดในงานวิ่งมาราธอนถือเป็นก้าวสำคัญ ทำให้บริษัทหวังว่าจะสามารถแสดงให้โลกเห็นว่า Ooho สามารถใช้งานได้ในวงกว้างยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากนักวิ่ง Ooho ยังเหมาะกับผู้เข้าร่วมงานเทศกาลดนตรี เพราะแคปซูลสาหร่ายสามารถเติมของเหลวได้หลากหลายชนิด แถมการเป็น “บรรจุภัณฑ์ที่กินได้” ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เรียกความประทับใจได้ด้วย
นอกจาก Garcia Gonzalez ผู้ก่อตั้งอีกรายของสตาร์ทอัพดาวรุ่งรายนี้คือ Pierre-Yves Paslier ทั้งคู่พบกันระหว่างเรียนสาขาวิศวกรรมการออกแบบนวัตกรรมในลอนดอน เมื่อตั้งเป็นบริษัทจึงกำหนดภารกิจหลักว่าจะเน้นทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหายไปจากโลก ซึ่งไม่เพียงแคปซูลสาหร่าย ทั้ง 2 ยังพัฒนาวัสดุทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้แทนฟิล์มและแผ่นพลาสติกในถ้วยกาแฟซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก
โมเดลธุรกิจคือการให้เช่าเครื่อง
วันนี้ Skipping Rocks Lab สามารถพัฒนาเครื่องจักรที่เปิดสายการผลิตแคปซูลแบบเต็มขั้น เป้าหมายโมเดลธุรกิจที่วางไว้คือการให้เช่าเครื่องกับบริษัทที่ต้องการใช้แคปซูลสาหร่ายในการบรรจุเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ซอส ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จ เชื่อว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดในโลก นั่นคือปัญหาพลาสติกล้นโลก
จากการศึกษาในปี 2017 พบว่าชาวโลกยังไม่มีการรีไซเคิลพลาสติกที่ดีพอ โดยมีเพียง 9% ของพลาสติก 8,300 ล้านเมตริกตันที่ถูกผลิตในปีที่แล้วเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล โดยอีก 12% ถูกเผาในเตาเผาขยะ ขณะที่อีก 79% ที่เหลือถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบทิ้งอย่างไม่เหมาะสม หรือล้นทะลักสู่มหาสมุทร
น่าเสียดายที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดต้นทุนการผลิตแคปซูลสาหร่าย โดยมีเพียงคำยืนยันเบื้องต้นว่าแคปซูลน้ำมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เพราะขวดพลาสติกยังต้องใช้พลังงานและน้ำเป็นจำนวนมาก สถิติระบุว่าจะต้องใช้น้ำมากกว่า 5 ลิตรในการผลิตขวดพลาสติกขนาดมาตรฐาน 500 มล. (ข้อมูลจากเครือข่าย Water Footprint Network)
สำหรับผู้จัดงาน London Marathon คาดว่าจะไม่ได้ผูกติดกับแคปซูลนี้เท่านั้น แต่จะหันไปใช้ถ้วยเครื่องดื่มที่ย่อยสลายได้ในหลายสถานี โดยวางเป้าหมายลดจำนวนขวดพลาสติกที่ใช้จาก 920,000 ในปี 2018 เป็น 704,000 ในปีนี้.
ที่มา : https://edition.cnn.com/2019/04/26/business/london-marathon-seaweed-water-bottles/index.html