หากจะถามว่าภาพจำของคนทั่วไปที่มีต่อ TV Direct คืออะไร? แน่นอนคนในวัย 20 กว่าๆ ขึ้นไปคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอ้ว พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก” ซึ่งเป็นคำพูดที่ “จอร์จ – ซาร่า” ใช้พูดบ่อยที่สุดตอนบรรยายสรรพคุณของสินค้า แต่วลีนี้ก็หายไปนานนับ 10 ปี ก่อนจะกลับมาให้เห็นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับ “จอร์จ – ซาร่า” ถูก TV Direct ให้นิยามว่าเป็น Asset หรือ “สินทรัพย์” เพราะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ที่หายไปเพราะคนข้างในมีความรู้สึกว่าเบื่อ เลยหันไปใช้อย่างอื่นแทน แต่ความเป็นจริงทั้งคู่ยังถูกลูกค้าถามถึงอยู่เสมอ จน TV Direct รู้สึกว่าก่อนที่ Signature จะกลายเป็นของคนอื่น ควรจะต้องนำกลับมาใช้แล้ว
หลักๆ ได้ถูกแปลงจากคนไปเป็นตัวการ์ตูน ทำเป็นสติกเกอร์ติดไปกับสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภค Remind ถึง และจะโผล่เข้าไปในฉากกับโฆษณาต่างๆ ส่วนการนำคนมาสวมคาแร็กเตอร์คงจะไม่ได้เห็น เพราะ TV Host ในวันนี้ทำได้เรียลและคนเชื่ออยู่แล้ว
“จอร์จ – ซาร่า” กลับมาพร้อมกับความท้าทายของ TV Direct ที่กำลังเจอศึกใหญ่อยู่ เพราะแต่เดิมทีวีโฮมช้อปปิ้งในบ้านเรา มีผู้เล่นอยู่ประมาณ 9 ราย แต่วันนี้กลับมีผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนคือ “ทีวีดิจิทัล” ซึ่งกำลังเจอภาวะช่องที่เยอะเกินไป เม็ดเงินโฆษณาที่ลดลง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เข้ามากระทบกับรายได้ จึงต้องหาแหล่งอื่นเข้ามาเสริม
กรณีศึกษาคือ “ช่อง 8” ที่กระโดดเข้ามาแล้วรุ่ง ใช้เวลา 4 ปีสร้างยอดขายจากหลัก “ร้อยล้านบาท” สู่ 2,127 ล้านบาท เติบโตกว่า 53% ถึงกับเปลี่ยนหมวดธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์จากหมวดธุรกิจสื่อ ไปยังหมวดธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก ความสำเร็จนี้เองทีวีดิจิลเลยเอาบ้าง
ในวันนี้จึงมีทั้ง NEW TV, Thairath TV, MONO 29, Workpoint, Bright TV และอีก 3 ช่องในเครือนิวส์ เน็ตเวิร์ค รวมๆ กว่า 9 ช่อง
ก่อนหน้านี้ TV Direct สนใจทีวีดิจิทัล โดยเจรจากับ Spring News ใช้เงินราว 1,080 ล้านบาทเข้าซื้อหุ้น สุดท้ายดีลนี้ได้ถูกยกเลิกไป โดย TV Direct ยืนยันจะไม่กลับไปฟื้นดีลใหม่ ใช้วิธีเช่าเวลาแทน ปัจจุบันเช่าทั้งหมด 50 ชั่วโมงต่อวัน ลดลง 20 ชั่วโมงเนื่องจากทีวีดิจิทัลมาทำเอง นอกจากนี้ยังเช่าทีวีดิจิทัลตลอด 24 ชั่วโมงอีก 7 ช่อง
แม้จะมีผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว แต่ในมุมมองของ “ทรงพล ชัญมาตรกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) บอกว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากนัก เพราะตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งเมืองไทยมูลค่า 15,000 ล้านบาท น้อยมากเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ที่มีมูลค่า 700,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีประชากรน้อยกว่า
ในเมืองไทยจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นกลับจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดเติบโต คาดปี 2019 ทะลุ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากเมืองไทยฝั่งค้าปลีกแข็งแรงมาก และผู้บริโภคไม่ได้มีปัญหาอะไร หากจะต้องออกนอกบ้านไปซื้อของ ทีวีโฮมช้อปปิ้งจึงไม่ได้เติบโตหวือหวามากนัก ส่วนในแง่ของการแข่งขัน ถึงจะมีผู้เล่นมากขึ้น หากแต่ละรายมีฐานลูกค้าและ Positioning แตกต่างกัน
TV Direct เคยพยายามขายเครื่องประดับแต่ไม่สำเร็จ ในขณะที่ SHOP CH กลับขายดี ช่อง 8 ขายเครื่องสำอางดีมาก ส่วนเราเองก็ขายเครื่องออกกำลังกายและสินค้าสำหรับผู้สูงอายุได้ดี ชี้ให้เห็นว่าแต่ละรายมีฐานลูกค้าเฉพาะอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีฐานลูกค้าเฉพาะ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ถูกคนอื่นแย่งชิงไป หากไม่ปรับตัว สักวันก็จะถูกคนอื่นแซงไปได้ TV Direct จึงใช้โอกาสครบ 20 ปี รีแบรนด์ใหม่เปลี่ยนทั้งโลโก้ที่ใช้มากกว่า 15 ปี ใหม่
นอกยังใช้สีน้ำเงินซึ่งมีผลวิจัยว่ากระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ามากที่สุด ได้เติมสีแดงและเหลืองเข้ามา พร้อมกับเปลี่ยนสี่เหลี่ยม เป็นปุ่มวิดีโอ 6 เหลี่ยม ซึ่งแฝงไว้ด้วยศาสตร์ฮวงจุ้ยที่เชื่อว่าจะ “ดึงพลังได้รอบทิศ”
ปรับโมเดลธุรกิจชูความเป็น Omni Channel ใช้สื่ออนไลน์ทุกด้านทั้ง Facebook, Google, YouTube โดยปรับตัวเป็น Video Marketer ที่มีครบทั้งภาพ เสียง และคอนเทนต์ จากเดิมที่ใช้โมเดล TV Shopping
เพื่อเจาะกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 25 – 54 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักมีประมาณกว่า 31.7 ล้านคน เน้นสร้าง Customer Experience เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มซื้อสินค้าด้วยความรู้สึกและอารมณ์เพิ่มขึ้น
ส่วนสื่อเดิมก็ไม่ทิ้ง เพราะกลุ่มที่มีอายุ 55 – 64 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นลูกค้าหลักมีกำลังซื้อสูง มีประมาณ 15.7 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่ยังนิยมดูทีวี จึงทำให้การใช้สื่อแบบแมสมีเดียยังคงเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก
ด้านแคตตาล็อกก็ยังทำอยู่ เพราะแคตตาล็อกผู้บริโภคจะเปิดดูทุกหน้า ไม่เหมือนอ่านนิตยสารจึงมีโอกาสกระตุ้นให้ซื้อได้
ปี 2019 วางรายได้ 4,800 ล้านบาท เติบโต 20% ภายใน 3 ปีต้องการ 8,000 – 9,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ออนไลน์จาก 10% เป็น 50% ด้วย
ทีวีโฮมช้อปปิ้ง 15,000 ล้านบาท “TV Direct” มียอดขายมากที่สุด
- TV Direct ยอดขาย 4,000 ล้านบาท
- ช่อง 8 ขอดขาย 2,200 ล้านบาท
- O Shopping ยอดขาย 2,000 ล้านบาท
- 1577 Home Shopping ยอดขาย 2,000 ล้านบาท
- TVDmomo ยอดขาย 1,000 ล้านบาท
ประเมินโดย TV Direct, เมษายน 2019