Facebook อยากมินิมอลบ้าง ? ดีไซน์ใหม่ไร้แถบสีฟ้า โปร่ง โล่ง สบายเหมือน Instagram ?

ในงาน F8 2019 ที่ผ่านมาไม่กี่วันก่อน Facebook ได้เปิดตัวหน้าตาเว็บไซต์และแอปมือถือที่ออกแบบขึ้นใหม่ล่าสุด โดยเรียกว่า FB5 เบื้องต้นมีการวิเคราะห์ว่าจุดเด่นของดีไซน์ใหม่เรื่องการมุ่งเน้นไปที่ฟีเจอร์ Groups และ Messager นั้นถูกสร้างเพื่อให้ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้แบบส่วนตัว ซึ่งคาดว่าจะเป็นอนาคตของ Facebook ยุคใหม่

ดีไซน์ใหม่เหล่านี้คาดว่าจะทยอยเปิดใช้งานจริงต่อเนื่อง ตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ ซึ่งหลังจากเปิดตัวไปแล้วหลายคนก็มองว่า ออกแบบใหม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่มองคล้าย Instagram เข้าไปทุกที

ที่ผ่านมาจุดเด่นของ Instagram ไม่ได้อยู่ที่ฟีดภาพที่ไม่สิ้นสุด แต่อยู่ที่เรื่องราวสดใหม่และการส่งข้อความโดยตรงหรือ Direct Messages ซึ่งเป็นกุญแจที่ทำให้ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่กระตุ้นการตอบสนองจากผู้ชมจนทำให้ปริมาณการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นสูง

การออกแบบใหม่ของ Facebook จึงถูกมองว่ากำลังพยายามเลียนแบบความสำเร็จของ Instagram โดยเน้นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งอย่าง Mark Zuckerberg ซึ่งกล่าวว่าเป็นหนึ่งในส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของ Facebook คือบริการ Groups

ประเด็นนี้ Facebook แถลงว่าผู้ใช้บริการกลุ่มหรือ Groups จำนวนมากกว่า 400 ล้านคนในวันนี้พาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มที่สนใจและมีความหมายเป็นพิเศษ สถิตินี้ทำให้ Facebook ตั้งแท็บ Groups ไว้โดดเด่นเป็นสง่าบน Facebook เวอร์ชันเว็บไซต์

เพื่อรวมการโพสต์ทั้งหมดจากกลุ่มส่วนตัวที่ผู้ใช้เป็นสมาชิกอยู่ กลายเป็นฟีดส่วนตัวหนึ่งเดียวที่ทำให้ผู้ใช้กดอ่านได้เร็วขึ้นกว่าการถูกซ่อนไว้ในแถบด้านข้างหรือ sidebar เหมือนปัจจุบัน 

การปลดแถบสีฟ้าเอกลักษณ์ของ Facebook ออกไปยังถูกมองว่ามองเหมือน Instagram เช่นกัน เพราะการเลือกใช้สีขาวโปร่งสบาย เหนือบริการ Stories ที่วางไว้กึ่งกลางหน้าเพจ ยังมีการวางแท็บไว้กึ่งกลางหน้าซึ่งมองเหมือน Instagram บนพื้นหลังสีเทาอ่อนที่ช่วยขับทุกองค์ประกอบโดดเด่นขึ้นบนหน้าเว็บไซต์

อย่างไรก็ตามการออกแบบใหม่ถือเป็นก้าวสำคัญครั้งแรกของ Facebook ในการสนับสนุนแถลงการณ์ล่าสุดของ Mark Zuckerberg ที่ระบุว่าจะมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารส่วนตัวและบริการที่มุ่งเน้นความเป็นส่วนตัว โดยอาจจะรวม Messenger, Instagram และ Whatsapp อยู่บนระบบหลังบ้านเดียวกัน

นำไปสู่ความกังวลว่า Facebook จะเพิ่มความสามารถติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นว่าผู้ใช้กำลังพูดกับใคร รวมถึงการเพิ่มโครงสร้างด้านเทคนิคที่อาจทำให้ Facebook มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้คนและแสดงโฆษณาที่ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น

ครั้งนั้น Zuckerberg แก้ต่างว่าไม่เกี่ยว เพราะวิสัยทัศน์ของเขาคือการเน้นให้ Facebook เป็นเครื่องมือสำหรับการแบ่งปันที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น สิ่งที่ Zuckerberg ไม่ตอบคือเสียงค้านจากนักวิจารณ์ที่มอง Facebook มักมีจุดอ่อนที่ทำให้ผู้พัฒนาสามารถใช้ข้อมูลของชาว Facebook ในทางที่ผิด

รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้อย่างไม่เหมาะสมโดยไม่ได้รับความยินยอมและไม่ได้มีการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยซึ่งเมื่อ Facebook ไม่สามารถควบคุมปัญหาเหล่านี้ทั้งที่โพสต์ถูกตั้งเป็นแบบสาธารณะ หากโพสต์และข้อความถูกตั้งเป็นส่วนตัวและเข้ารหัสลับ การควบคุมก็จะยิ่งทำได้ยากมากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว Facebook ก็ยืนยันว่ามุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของชุมชน บนเม็ดเงินลงทุนที่จริงจังต่อเนื่อง

Source