10 พ.ค. นี้ ก็จะรู้กันแล้วว่า จะมีทีวีดิจิทัลช่องไหนบ้าง ที่จะยื่นขอคืนใบอนุญาตกับ กสทช. ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4/2562
แม้เบื้องต้นจะมีข่าวมาว่าอาจจะมีทีวีดิจิทัลคืนช่องประมาณ 3-4 ช่อง แต่ด้วยเงื่อนไขสูตรคำนวณที่ กสทช.ประกาศออกมานั้น ดูเหมือนว่าจะเชิญชวนให้บรรดาทีวีดิจิทัลแห่คืนช่องกันมากขึ้น
เนื่องจากสูตรชดเชยคืนช่องทีวีดิจิทัล คือ ให้นำเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่ 1-4 มาคูณกับระยะเวลาใบอนุญาตที่ยังเหลืออยู่จำนวน 10 ปี แล้วหารด้วยระยะเวลาใบอนุญาตทั้งหมดจำนวน 15 ปี
จากนั้นนำไปหักกับวงเงินที่แต่ละช่องได้รับการสนับสนุนการจ่ายค่าโครงข่าย Must Carry หรือโครงข่ายดาวเทียม ที่ กสทช.จ่ายให้ 100% ตั้งแต่ เดือน ธ.ค. 2559 มีกำหนดสิ้นสุด ธ.ค. 2562 และค่าเช่าโครงข่าย MUX ที่ กสทช.จ่ายให้ 50% ตั้งแต่ เดือน มิ.ย. 2561 มีกำหนดสิ้นสุด มิ.ย. 2563
จากนั้นจึงนำหัก “กำไร” ที่เกิดจากการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2561
อย่างไรก็ตาม สูตรในการคำนวณนี้ เป็นการประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในส่วน Must Carry ของแต่ละช่องไม่เท่ากัน แต่เป็นการประเมินจากราคากลาง จึงทำให้สูตรการคำนวณนี้ อาจจะมีผลบวกลบไม่เกิน 20 ล้านบาท
อย่างที่รู้กันว่า ช่องที่ได้กำไรนั้นมีน้อย จะมีช่อง 7 และเวิร์คพอยท์ ที่มีกำไรทุกปี เช่น หากช่อง 7 คืนช่อง จะได้วงเงินเบื้องต้นจากสูตรนี้ 1,583 ล้านบาท แต่เนื่องจาก ช่อง 7 มีกำไรทุกปี เมื่อนำมาหัก เท่ากับว่าช่อง 7 จะไม่ได้เงินชดเชยเลยแม้แต่บาทเดียว
ช่องเวิร์คพอยท์ หากคืนช่องจะได้เงิน 978 ล้านบาท แต่เวิร์คพอยท์มีกำไรในปี 2559-2560 จำนวน 106 ล้านบาทและ 933 ล้านบาท รวมเป็นกำไร 2 ปี 1,039 ล้านบาท เท่ากับว่าจะไม่ได้เงินชดเชยจากสูตรนี้เช่นกัน
ที่มาของสูตรคำนวณนี้ที่ กสทช.กำหนดไว้นั้น ชัดเจนว่า ต้องการ “ปลดล็อก” ช่องที่ขาดทุนต่อเนื่อง ให้ออกจากธุรกิจได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีจำนวนช่องทีวีดิจิทัลในระบบมากเกินไป ถึง 24 ช่อง ส่งผลให้การแข่งขันสูงเกินไป ช่องส่วนใหญ่จึงต้องประสบปัญหาขาดทุน
ดังนั้นการวิเคราะห์ในเบื้องต้นได้ว่า กลุ่มช่องที่จะคืนนั้น น่าจะเป็นช่องที่ขาดทุนต่อเนื่องกันมาตลอดสูตรคำนวณ
อวสาน 2 ช่องเด็ก
กลุ่มช่องเด็กนั้น มีปัญหารายได้น้อย จากข้อจำกัดกลุ่มคนดูและการหาโฆษณา ทำให้เรตติ้งของกลุ่มช่องเด็กอยู่ในลำดับท้ายๆ ซึ่งมีช่องเด็กจากการประมูลครั้งแรก 3 ช่อง แต่ช่อง LOCA ของกลุ่มทีวีพูล จอดำไปแล้ว เหลือ 2 ช่อง คือช่อง 3 Family หรือช่อง 13 และช่อง MCOT Family หรือช่อง 14 ซึ่ง ทั้ง 2 ช่องมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จึง “กำไร” มาหักค่าชดเชยตามสูตรนี้
จากสูตรคำนวณเบื้องต้น ช่อง 3 Family จะได้เงินชดเชยอยู่ที่ประมาณ 246 ล้านบาท และช่อง MCOT Family อยู่ที่ 243 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มช่อง 3 และช่อง 9 อสมท จะขอคืนใบอนุญาตช่องเด็กทั้งสองช่องอย่างแน่นอน
กลุ่มช่องข่าว ขาดทุนถ้วนหน้า คาดคืนมากกว่า 2 ช่อง
กลุ่มช่องข่าว จากทั้งหมด 7 ช่องเมื่อประมูลครั้งแรก เหลือ 6 ช่อง หลังจากไทยทีวีของ “เจ๊ติ๋ม-ทีวีพูล” ที่กำลังมีเรื่องฟ้องร้องกับ กสทช.ปิดตัวไปเมื่อปี 2558
6 ช่องที่เหลือได้แก่ เนชั่นทีวี, สปริงนิวส์, วอยซ์ทีวี, ไบรท์ทีวี, นิวทีวี และทีเอ็นเอ็น ก็ล้วนประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า สปริงนิวส์ เป็นช่องแรกๆ ที่ต้องการคืนช่อง ตั้งแต่ก่อนมีคำสั่งม.44 จนถึงขั้นยกเลิกดีลขายช่องให้กับทีวี ไดเร็ค ที่มีการทำ Due Diligence ไปหมดแล้วตั้งแต่ปลายปี 2560 และเมื่อ กสทช.คลอดสูตรคำนวณค่าชดเชยมาให้ จึงทำให้มีอีกหลายช่องให้ความสนใจที่จะขอคืนช่องเช่นเดียวกัน
จากสูตรคำนวณพบว่า กลุ่มช่องข่าวทั้งหมด 6 ช่อง จะได้ค่าชดเชยอยู่ระหว่าง 517-533 ล้านบาท (ดูรายละเอียดที่ตาราง) ช่องที่ได้รับการชดเชยมากที่สุดในกลุ่มนี้คือช่องเนชั่นทีวี จะได้รับการชดเชยในวงเงิน 533 ล้านบาท เนื่องจากประมูลมาในราคาสูงกว่าช่องอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์ของ “ฉาย บุนนาค” ผู้บริหารกลุ่มเนชั่นล่าสุดนั้นระบุว่า จะไม่คืนช่องเนชั่นอย่างแน่นอน
กลุ่มที่มีการเล็งกันมากว่าน่าจะอยู่ระหว่างการพิจารณาประเมินผลดีผลเสียอย่างหนักคือ ไบรท์ทีวี, นิวทีวี และทีเอ็นเอ็น เพราะจากการประเมินมูลค่าการชดเชยเบื้องต้น จะได้เงินกันไป 517, 522 และ 524 ล้านบาท เมื่อเทียบกับอันดับเรตติ้งช่องในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา มีเรตติ้งอยู่ที่อันดับ 21, 18 และ 20 ตามลำดับ และประเมินรายได้ต่อปีของแต่ละช่องแล้ว ทั้ง 3 ช่องมีเปอร์เซ็นต์สูงพอสมควรที่จะขอคืนช่อง
อย่างไรก็ตาม ไบรท์ทีวี มองว่า เมื่อปลดภาระไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตและค่า MUX แล้ว จะเหลือแต่คอนเทนต์ที่ต้องลงทุนเท่านั้น โอกาสในการหารายได้จะเพิ่มขึ้น ทำให้การตัดสินใจค่อนข้างยาก
ช่อง 3SD – สปริง 26
ในกลุ่มช่อง SD ทั้งหมด 7 ช่อง ส่วนใหญ่ติดอยู่ในกลุ่มท็อปเท็น ช่องเวิร์คพอยท์ , โมโน, ช่อง 8 และช่อง 3SD ส่วนช่องสปริง 26, ทรูโฟร์ยู และจีเอ็มเอ็ม25 ก็เป็นช่องในกลุ่มท็อป 15 มีการคำนวณมูลค่าชดเชยอยู่ระหว่าง 917- 978 ล้านบาท ในกรณีที่ไม่มีกำไร
หากวิเคราะห์ตามเรตติ้ง โมโนอยู่ในอันดับ 3, เวิร์คพอยท์ในอันดับ 4, ช่อง 3SD ในอันดับ 7, ช่อง 8 ในอันดับ 9 ในขณะที่ช่องสปริง 26 หล่นจากอันดับ 10 ในช่วงต้นปี ดูเหมือนว่าเรตติ้งจะลดลงเรื่อยๆ จนมาอยู่ในอันดับ 12,จีเอ็มเอ็ม25 ในอันดับ 14 และช่องทรูโฟร์ยู ในอันดับ 15
ลำดับของช่องต่างๆ มีความสำคัญมากต่อการหารายได้และโฆษณา โดยเฉพาะช่องที่อยู่ในกลุ่มท็อปเท็น อย่างช่องโมโน, เวิร์คพอยท์, ช่อง 3SD และช่อง 8 นอกจากเจ้าของสินค้าและเอเจนซี่โฆษณาจะเลือกแล้ว หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งถืองบโฆษณาก้อนใหญ่ มักจะระบุไว้ในเงื่อนไขโฆษณาว่า จะลงโฆษณาในกลุ่มช่องที่ติดอันดับท็อปเท็นเท่านั้น
จากข้อมูลเบื้องต้น ในกลุ่มนี้ มีช่องที่เปิดเผยมีกำไร 2 ช่องได้แก่ เวิร์คพอยท์ และโมโน ที่เริ่มกำไรในปี 2560 จำนวนประมาณ 90 ล้านบาท ส่วนช่อง 3SD ไม่ได้มีการเปิดเผยว่ากำไรหรือไม่ ในขณะที่ช่องอื่นๆ มีผลประกอบการขาดทุน
ช่องโมโน และเวิร์คพอยท์ ที่อยู่ในอันดับท็อป 5 คงไม่คิดคืนช่องแน่ ในขณะที่ช่อง 8 นั้น แม้ว่าจะหันไปหาธุรกิจพาณิชย์ขายตรงสินค้ามากกว่าการทำคอนเทนต์ทีวี แต่ทีวียังคงเป็นช่องทางสำหรับการสินค้าที่สำคัญ จึงไม่น่าจะออกจากธุรกิจทีวี รวมถึงช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ที่มี ตระกูลสิริวัฒนภักดี เจ้าของไทยเบฟเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีฐานผู้ชมชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับช่องทรูโฟร์ยู ของกลุ่มทรู ซึ่งมีอยู่ 2 ช่อง คือ ทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น หากทรูตัดสินใจคืนหนึ่งช่อง ก็เป็นไปได้ว่าจะเลือกคืนช่องข่าวทีเอ็นเอ็นมากกว่า เพราะช่องทรูโฟร์ยู มีเรตติ้งและฐานผู้ชม และยังเป็นกลุ่มช่องในหมวดวาไรตี้ที่ยืดหยุ่นกว่าในการจัดรายการหลากหลายลงผัง
ส่วนสปริง 26 ของกลุ่มเนชั่น ก็มีแนวโน้มที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เนชั่นอาจจะตัดสินใจทิ้งช่องนี้ เพราะขาดทุนมาตลอด แม้ว่าจะเป็นช่องที่ทำเรตติ้งได้ดี จากคอนเทนต์หลักคือการถ่ายทอดสดมวยไทย แต่คอนเทนต์ซ้ำซ้อนกับช่องเนชั่นทีวี อีกทั้งเมื่อดูยอดเงินชดเชยที่น่าจะได้ มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 917 ล้านบาททีเดียว
ในขณะที่ช่อง 3SD หรือช่อง 28 ของกลุ่มช่อง 3 นั้น น่าจับตามองมากว่า กลุ่มช่อง 3 จะทำอย่างไร
ช่อง 3SD อันดับ 7 ทีวีดิจิทัล โตด้วยละครรีรัน
หากวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบันของช่อง 3SD แล้ว คอนเทนต์หลักของช่อง คือละครรีรัน ซึ่งเป็นรายการที่ไม่มีต้นทุน แต่สามารถทำเรตติ้งได้ดี เป็นคอนเทนต์กลุ่มหลักที่ดันช่องให้ขึ้นมาถึงอันดับ 7 และยังมีรายการถ่ายทอดสดกีฬาหลายชนิด ทั้งมวยไทย และวอลเลย์บอล
ช่อง 3SD จึงเป็นช่องที่มีต้นทุนน้อย สามารถทำกำไรได้ และเป็นช่องไฟท์ติ้งแบรนด์ ที่ช่อง 3 ใช้ในการแข่งขันกับคู่แข่ง
จำนวนเงินชดเชยของช่อง 3SD จึงไม่น่าสูงเท่ารายอื่นๆ จากวงเงินเบื้องต้นที่คำนวณได้ประมาณ 946 ล้าน (แต่หากทำกำไร อาจได้เงินชดเชยไม่มาก) อาจทำให้ช่อง 3 ตัดสินใจคืนช่องเพื่อพุ่งเป้าไปลงทุนออนไลน์ เพราะดูแล้วเป็นธุรกิจในอนาคตมากกว่า หากได้เงินชดเชยพอสมควร
แต่การลงไปสู้ในสนามออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งเรื่องของรายได้จากทีวีออนไลน์ยังไม่สูงมาก และต้องสู้กับคู่แข่งรายใหญ่ๆที่อยู่ในตลาด ตั้งแต่ Facebook, Youtube, Netflix และบรรดา net idol ทั้งหลาย ถือเป็นความท้าทายมาก โอกาสประสบความสำเร็จและล้มเหลวในคราวเดียวกัน
ในกรณีของช่อง 3SD จึงเป็น “งานหนัก” จะเลือกการคืนช่อง เพื่อไปสู้ในตลาดออนไลน์ เพื่อหวังรายได้ในอนาคต ที่จะยังไม่รู้ว่าจะหมู่หรือจ่า หรือจะอยู่เล่นต่อในตลาดทีวีดิจิทัลเหมือนเดิม ที่มีแต้มต่อเหนือช่องอื่นๆ อยู่แล้ว มีรายได้ชัดเจน และมีต้นทุนต่ำ จากการช่วยเหลือของ กสทช. ก็น่าจะมีผลต่อผลประกอบการในระยะยาว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีคู่แข่งหลายช่องจากไป เค้กเม็ดเงินโฆษณาก็จะมีคนมารุมแย่งน้อยลง ขึ้นอยู่กับการจัดกลยุทธ์ผังรายการให้น่าสนใจ ครองเรตติ้งได้ขนาดไหน
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ซึ่งมีใบอนุญาติถึง 3 ใบ บอกว่า “การพิจารณาคืนช่องทีวีดิจิทัลหรือไม่ ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญเพราะสูตรคำนวณเงินชดเชย ที่กสทช. ชี้แจง หากจะคืนก็ได้ประโยชน์ และถ้าไม่คืนก็ได้ประโยชน์เช่นกันจึงถือเป็นการตัดสินใจที่ยากและต้องรอบคอบ”
งานนี้ ขึ้นอยู่กับ “วิสัยทัศน์” ของผู้บริหารแต่ละช่องได้เป็นอย่างดี ว่าใครจะชนะในเกมนี้.