ในอุตสาหกรรมสื่อ เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ “โทรทัศน์” ครองสัดส่วน 60-70% ของภาพรวมโฆษณา “แสนล้าน” หากย้อนไปปี 2556 มูลค่าโฆษณาทีวี ที่ขณะนั้นยังเป็น “ฟรีทีวี” แอนาล็อก 6 ช่อง มีเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 78,683 ล้านบาท เติบโต 6.63% นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ ใครๆ ก็อยากเป็น “เจ้าของ” ฟรีทีวี หวังเป็นเครื่องมือปั๊มเงิน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ช่อง 3 – ช่อง 7” เป็นต้นแบบเจ้าของสถานีทีวีที่ใครๆ ก็อยากเดินตามรอย ดูจากรายได้ที่อู้ฟู่ในยุคแอนาล็อก ย้อนไปปี 2556 BEC หรือ ช่อง 3 ทำรายได้สูงสุดที่ 15,127 ล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรสูงสุดที่ 5,589 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตแคป) 101,000 ล้านบาท ส่วน ช่อง 7 รายได้ ปี 2556 รายได้ 10,312 ล้านบาท กำไร 5,231 ล้านบาท
การจัดประมูลทีวีดิจิทัลของ กสทช. ในเดือน ธ.ค.2556 ด้วยจำนวน 24 ช่อง มองว่าหากแต่ละช่อง มีส่วนแบ่งโฆษณาราว 2% ของอุตสาหกรรมโฆษณา “แสนล้าน” หรือราวช่องละ 2,000 ล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอให้อยู่ได้
จังหวะการประมูลทีวีดิจิทัลในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจสื่อในตลาดหลักทรัพย์หลายราย “ทำกำไรสูงสุด” ส่วนกลุ่มคอนเทนท์ โปรวายเดอร์และสถานีทีวีดาวเทียมเอง ก็ต้องการเป็น “เจ้าของ” สื่อทีวี
ส่งผลให้การประมูลทีวีดิจิทัล ปลายปี 2556 มีการเคาะราคาประมูลสูงถึง 50,862 ล้านบาท จากราคาขั้นต่ำที่ กสทช. กำหนดไว้ 15,190 ล้านบาท สะท้อนถึงความหวังและความฝันที่จะสร้างความมั่งคั่งจากการเป็นเจ้าของสื่อทีวี ทั้งฟรีทีวีรายเดิมที่ต้องการมีใบอนุญาตมากกว่า 1 ช่อง ธุรกิจสื่อที่ต้องการขยายอาณาจักรสู่ทีวี ผู้ผลิตรายการและผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องการแบ่งเค้กโฆษณา 70,000 ล้านบาท
“ไทยทีวี”ขาดทุน 700 ล้าน
เมื่อทีวีดิจิทัลเริ่มออนแอร์ในเดือน เม.ย.2557 ตลอดเส้นทางเพียงปีแรกของใบอนุญาต 15 ปีที่จะจบในปี 2572 ต้องบอกว่าหลายช่อง “ผิดคาด” ทั้งผู้ชมและรายได้ ปัญหาที่แจกแจงออกมาได้ หลักๆ คือ การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลของ กสทช. ไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะการแจกกล่องรับสัญญาณ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ผู้ชมเปลี่ยนพฤติกรรมเสพสื่อออนไลน์ แต่ในฝั่งทีวีดิจิทัลเอง ก็ต้องยอมรับด้วยว่าหลายช่องผลิต “คอนเทนต์” ไม่โดนใจผู้ชม
เพียงจบปีแรกของใบอนุญาตทีวีดิจิทัล “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” หรือ “ติ๋ม ทีวีพูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยทีวี จำกัด เจ้าของทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ไทยทีวี ช่องข่าว และ โลก้า ของเด็กและครอบครัว ต้องส่งหนังสือ “เลิกกิจการ” ทั้ง 2 ช่อง กับตัวเลขขาดทุนกว่า 700 ล้านบาท และฟ้องร้อง กสทช. เรียกค่าเสียหาย คดีกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
มาตรา 44 ช่วยครั้งสุดท้าย
สถานการณ์ทีวีดิจิทัล 22 ช่อง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา “ส่วนใหญ่” ประสบปัญหา “ขาดทุน” ทำให้ กสทช. ต้องเสนอให้หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งมาตรา 44 มาช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ปี 2559 ผ่อนผันจ่ายเงินงวดที่ 4 และช่วยจ่ายค่าโครงข่าย Must Carry 100% ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 มีกำหนดสิ้นสุด ธ.ค. 2562 และปี 2560 คำสั่งมาตรา 44 ให้ กสทช. สนับสนุนค่าโครงข่าย Mux 50% ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 มีกำหนดสิ้นสุด มิ.ย. 2563
แต่สถานการณ์ทีวีดิจิทัล “ส่วนใหญ่” ยังไปไม่รอด มาตรการช่วยเหลือตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ที่ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. บอกว่านี่คือครั้งสุดท้าย คือการเปิดให้ทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” โดยได้รับเงินชดเชย
วันที่ 10 พ.ค.2562 ซึ่งกำหนดให้ทีวีดิจิทัล ส่งหนังสือแจ้งคืนใบอนุญาต สรุปมีผู้ประกอบการขอคืน 7 ช่อง ประกอบด้วย 1.สปริงส์นิว 19 2.วอยซ์ทีวี 3.สปริง 26 (NOW 26) 4. MCOT Family (อสมท) 5. ไบรท์ทีวี 6. ช่อง 3 SD (ช่อง 28) และ 7. ช่อง 3 Family (ช่อง13)
การคืนช่องของทีวีดิจิทัลครั้งนี้ เป็นกลุ่มช่องที่มีเรตติ้งอยู่ในอันดับต่ำกว่า 10 นั่นเท่ากับว่า “โอกาส” หารายได้จากโฆษณาถือว่าน้อยมาก อีกทั้งเม็ดเงินในอุตสาหกรรมทีวี ตลอดช่วง 5 ปีนี้แทบไม่ขยับ ยังเป็น “เค้กก้อนเดิม”
นับจากปี 2556 ถึงปี 2561 นีลเส็น รายงานงบโฆษณาทีวีผ่านสื่อมูลค่าอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท ไม่ได้เพิ่มขึ้น งบโฆษณาทีวี ยังกระจุกตัวอยู่ที่ช่องเรตติ้งสูงสุด กลุ่มแรกที่เม็ดเงินไปครอง คือ ช่อง 7 และช่อง 3 ตามมาด้วย เรตติ้งรองลงมาอีก 5 อันดับเท่านั้น หากเรตติ้งต่ำกว่า 7 อันดับแรกเรียกว่าแทบไม่ได้งบโฆษณา ทำให้ต้องหารายได้จาก ทีวีโฮม ช้อปปิ้ง
7 ช่องคืนไลเซ่นส์ลงทุน “หมื่นล้าน” ขาดทุนอ่วม
การใช้มาตรา 44 เปิดทางให้ “คืนใบอนุญาต” ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าจำนวนช่องทีวีดิจิทัล มีมากเกินไป การเปิดโอกาสให้ออกจากตลาด เพื่อนำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ใช้งานในฝั่งกิจการโทรทัศน์ไปประมูลคลื่น 700 MHz ในฝั่งกิจการโทรคมนาคม เพื่อใช้ประโยชน์ 5G กสทช. คาดว่าจะได้เงินราว 75,000-80,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ต้องนำไปจ่ายค่าชดเชย “คืนช่อง” พร้อมสนับสนุนค่าโครงข่าย Mux และใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 ราว 32,000 ล้านบาท
ทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง ที่ “คืนใบอนุญาต” การยุติออกอากาศ “จอดำ” จะอยู่ในราวเดือน ส.ค.นี้ ประเมินจำนวนเงินที่ต้องชดเชยรวมกันอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท
การดำเนินธุรกิจของทั้ง 7 ช่อง ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เผชิญปัญหา “ขาดทุน” มาต่อเนื่อง หากวิเคราะห์จากเม็ดเงินลงทุน ของทั้ง 7 ช่อง ที่ใส่เงินไปแล้วประมาณ “หมื่นล้านบาท”
- ค่า operation เช่น บุคลากร 100-200 คนต่อสถานี, อุปกรณ์ 150 -200 ล้านบาทต่อสถานี รวมเป็นเงิน 2,000-3,000 ล้านบาท
- ค่าโครงข่ายช่อง SD และเด็กเดือนละ 3.5-3.8 ล้านบาท รวมมูลค่า 1,500 ล้านบาท
- ค่าใบอนุญาต 2 ช่อง SD, 3 ช่องข่าว และ 2 ช่องเด็ก ในกลุ่ม 7 ช่องที่คืนใบอนุญาต รวม 4 งวด ประมาณ 5,700 ล้านบาท
โดยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง ต่างรายงานผลประกอบการ “ขาดทุน” ตลอดช่วง 5 ปี ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอีก 15 ช่องที่ขอไปต่อ ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” เช่นกัน โดยเลขาธิการ กสทช. เองก็ย้ำว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล “ขาดทุน”ไปแล้วกว่า “หมื่นล้านบาท”
เปิดตัวเลขรายได้-ขาดทุน
สำรวจผลการดำเนินการกลุ่มทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่แจ้งไว้ถึงปี 2560 และข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บีอีซี-มัลติมีเดีย (รายได้รวม 3 ช่อง โดยคืนใบอนุญาต 2 ช่อง คือ ช่อง 3 family และช่อง 3 SD)
- ปี 2557 รายได้ 707 ล้านบาท ขาดทุน 495 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 2,232 ล้านบาท ขาดทุน 14 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 2,332 ล้านบาท ขาดทุน 118 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 2,398 ล้านบาท ขาดทุน 204 ล้านบาท
สปริงนิวส์ 19
- ปี 2557 รายได้ 166 ล้านบาท ขาดทุน 84 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 225 ล้านบาท ขาดทุน 34 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 224 ล้านบาท ขาดทุน 211 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 200 ล้านบาท ขาดทุน 19 ล้านบาท
ไบรท์ทีวี
- ปี 2557 รายได้ 435 ล้านบาท ขาดทุน 39 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 268 ล้านบาท ขาดทุน 229 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 258 ล้านบาท ขาดทุน 191 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 278 ล้านบาท ขาดทุน 134 ล้านบาท
วอยซ์ทีวี
- ปี 2557 รายได้ 117 ล้านบาท ขาดทุน 310 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 126 ล้านบาท ขาดทุน 409 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 179 ล้านบาท ขาดทุน 368 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 132 ล้านบาท ขาดทุน 354 ล้านบาท
สปริง 26 (NOW 26)
- ปี 2557 รายได้ 204 ล้านบาท ขาดทุน 84 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 338 ล้านบาท ขาดทุน 213 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 202 ล้านบาท ขาดทุน 480 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 196 ล้านบาท ขาดทุน 1,213 ล้านบาท
อสมท (รวมรายได้ทั้งหมด ไม่ได้แยกเฉพาะช่อง MCOT family ที่คืนใบอนุญาต)
- ปี 2557 รายได้ 4,362 ล้านบาท กำไร 535 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 3,840 ล้านบาท กำไร 57.81 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 2,830 ล้านบาท ขาดทุน 734 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 2,736 ล้านบาท ขาดทุน 2,542 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 2,562 ล้านบาท ขาดทุน 375 ล้านบาท
สถานการณ์ทีวีดิจิทัลปัจจุบัน ผู้ที่ตัดสินใจไปต่อ 15 ช่อง สัดส่วนกว่าครึ่งที่ยังอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” และยังจะต้องเผชิญการแข่งขันดุเดือด ทั้งกลุ่มทีวีดิจิทัลด้วยกันเองและสื่อออนไลน์ มาตรการช่วยเหลือจาก มาตรา 44 ช่วยลดต้นทุนค่าประมูลงวดที่เหลือและค่าเช่าโครงข่าย Mux แต่ยังต้องลงทุน “คอนเทนต์” ที่ถือเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ หากต้องการชนะในการแข่งขันทีวีดิจิทัล และหลังจากนี้ จะไม่มีมาตรการใดออกมาช่วยเหลืออีกแล้ว สำหรับผู้ที่เลือกไปต่อ.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
- อวสานโลกสวย..ทีวีดิจิทัล กสทช. กลืนเลือด กว่า 3 หมื่นล้าน ปิดฉาก 7 ช่อง 15 ช่องขอไปต่อ
- “ทีวีดิจิทัล” คืนไลเซ่นส์ได้เงินทันที ส.ค.นี้ ไม่รอเงินประมูลคลื่น 700 MHz คาด 5 ช่องเล็งคืน
- กสทช. ออกกฎใหม่ ทีวีดิจิทัลคืนช่อง 10 พ.ค. ยกเลิกภายหลังไม่ได้
- เปิด “10 ประเด็น” คำสั่ง คสช. มาตรา 44 “มือถือ-ทีวีดิจิทัล” ได้สิทธิอะไร