ชาวเมียนมาชอบมารักษาในเมืองไทย “ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” จะรอช้าอยู่ไย บุกไปเปิดโรงพยาบาลถึงที่

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของเมืองไทย ไม่ได้แค่คนไทยที่เข้าไปรักษาเท่านั้น แต่ชาวต่างชาติถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่สร้างรายได้เป็นอย่างมหาศาล TDRI ประเมินปี 2018 มีชาวต่างชาติเดินทางมารักษาในเมืองไทยกว่า 1.8 ล้านคน

ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า นอกจากกลุ่มตะวันออกกลางที่นิยมเข้ามารักษาในเมืองไทย จึงยังครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ 12.5% ในละแวกบ้านเราเมียนมาถือเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 8.7% สูงกว่าสหรัฐอเมริกา 6.2% สหราชอาณาจักร 5% และญี่ปุ่น 4.9%

ข้อมูลทั้งหมดที่ว่ามาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมาทำให้ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปซึ่งมีโรงพยาบาลอยู่แล้ว 6 แห่ง มีเตียงทั้งหมด 1,600 เตียง สนใจเมียนมาเป็นอย่างยิ่ง เพราะถึงจะเทียบกันแล้วรายได้หลักจะยังมาจากการรักษาคนไทย ส่วนรายได้จากชาวต่างชาติจะยังไม่มากนัก แต่ชาวเมียนมาคือกลุ่มที่เข้ามารักษามากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปหรือ THG จึงไม่รอช้าบุกไปเปิดโรงพยาบาลถึงที่ โดยร่วมทุนกับ Ga Mone Pwint Company Limited (GMP) ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในเมียนมา ถือหุ้น 50%

THG ถือหุ้น 40% และที่เหลือ 10% ถือหุ้นโดยบริษัท Aryu Ananta Medical Services Company Limited ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 90 คนในเมียนมา

ใช้งบลงทุนราว 75 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 2,000 ล้านบาท) สร้างภายใต้โรงพยาบาลชื่อ “Ar Yu International Hospital” ตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง มีขนาด 200 เตียง มีห้องผ่าตัด 8 ห้อง ห้องพัก 142 ห้อง มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 120 คน

นพ. ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในเมียนมา นอกเหนือจากที่ชอบบินไปรักษาที่เมืองไทย โดยเฉพาะการตรวจร่างกาย ปัจจุบันมีข้อมูลระบุว่าไปวันละประมาณ 600 คน โรงพยาบาลเอกชนที่นี่ยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประชากร

โดยมีโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงขึ้นไปราว 7 – 8 แห่งเท่านั้น ในขณะที่ประชากรในกรุงย่างกุ้งมีกว่า 6 ล้านคน เข้าข่ายเป็นฐานลูกค้าของโรงพยาบาล Ar Yu กว่า 30% ซึ่งกลุ่มนี้มีได้ได้ราว 45,000 – 60,000 บาทต่อเดือน

สิ่งที่จะทำให้แตกต่างจากรายอื่นๆ นอกเหนือจากทำห้องน้ำสะอาดซึ่งก็เพียงพอจะชนะที่อื่นแล้ว การบริการที่ใส่ใจเหมือนกับการไปรักษาที่เมืองไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างความแตกต่าง จึงนำทีมงานเข้ามาประมาณ 10 คน เพื่อเข้ามาสอนพนักงานชาวเมียนมาซึ่งจะไม่ได้เป็นหัวหน้างาน เพราะอาจจะมีอุปสรรคด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกัน

หลังจากเปิดอย่างเป็นทางการมาได้ประมาณ 3 เดือน พบมีผู้ป่วยนอก (OPD) เข้ามารักษาเฉลี่ยวันละ 200 คน หลักๆ มาด้วยโรคพื้นฐานโดยเฉพาะท้องเสีย และมีผู้ป่วยใน 25 – 26 คน เช่น โรคมะเร็ง

เมื่อเทียบกันแล้วค่ารักษาของที่นี่ถูกกว่าเมืองไทย 1 ใน 3 โดยผู้ป่วยนอกมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,200 – 1,500 ต่อครั้ง ส่วนนอนโดยไม่ผ่าตัดคืนละ 6,000 – 7,000 บาท เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลของเราที่กรุงเทพฯ ตกคืนละ 12,000 – 13,000 บาท ที่สำคัญโรคกว่า 95% ไม่จำเป็นต้องบินไปรักษาที่ไทย จึงสามารถดึงเข้ามารักษาที่นี่ได้

นพ. ธนาธิป ระบุว่า ความท้าทายหลักในตอนนี้คือการการปั้นบุคลากรให้เทียบเท่ากับเมืองไทย ซึ่งคาดว่าจะภายใน 10 ปีจะได้แน่ๆ ส่วนการเพิ่มงบลงทุนในโรงพยาบาลในตอนนี้ยังไม่จำเป็น เพราะยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก 2 ปี หรือ 700 คนต่อวัน

และยังมีการสร้างห้องรังสีไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว หากมีความต้องการสามารถติดตั้งเครื่องรักษาได้ทันที ส่วนที่เหลือก็แค่สร้างการรับรู้ให้กับชาวเมียนมาที่ไม่ได้อยู่ในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยจากทางเหนือเข้ามารักษาบ้างแล้ว

ด้านการขยายแห่งถัดไปยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ ด้วยเมียนมามีความท้าทายเรื่องกฎหมายที่เปลี่ยนปีต่อปี จึงศึกษาให้ดีก่อน อีกทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ดีนัก ไฟดับบ่อย ที่โรงพยาบาล Ar Yu จึงต้องมีระบบสำรองไฟ 100% ไม่เหมือนไทยที่สำรอง 30% ก็เพียงพอ

ตามการประเมินที่วางไว้ก่อนหน้านี้คาดว่าจะสามารถมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสี่ยมได้ภายใน 2 ปี แต่จากการตอบรับแล้วคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้ด้วยซ้ำ

ปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่กว่า 65% ยังมาจากค่าแล็บและค่าเอกซเรย์ เชื่อว่าต่อไปจะสามารถเพิ่มรายได้จากค่ายาได้อีก หากสามารถทำให้คนไข้คุ้นชินกับการรับการรักษาจากที่โรงพยาบาล ด้วยที่ผ่านมาจะนิยมให้หมอเขียนใบสั่งไปซื้อยาเองมากกว่า

นอกเหนือจากโรงพยาบาลในเมียนมา “ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปยังมีโรงบาลนอกประเทศอีกแห่งที่จีน สำหรับปี 2018 ภาพรวมทำรายได้ 7,094 ล้านบาท กำไร 348 ล้านบาท