สปริงนิวส์ “จอดำ” ช่องแรก ส.ค.นี้ ให้ทีวีดิจิทัล “ทุกช่อง” รับแบงก์การันตีคืน

มีความคืบหน้าการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล” 7 ช่องที่แจ้งหนังสือไว้กับ กสทช. เมื่อวันที่ 10 .. 2562 โดยมีเวลา 60 วันในการส่งเอกสารงบการเงินเพื่อให้ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาขั้นตอนเยียวยาผู้บริโภคและพนักงานสปริงนิวส์เป็นช่องแรก ที่ส่งแผนและเข้าสู่กระบวนการจอดำในเดือน ..นี้

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากทีวีดิจิทัล 7 ช่อง คือ ช่อง 13, ช่อง 28, MCOT Family, สปริงนิวส์ 19, สปริง 26, วอยซ์ทีวีและไบรท์ทีวี ได้แจ้งคืนใบอนุญาตกับ กสทช. ล่าสุด “สปริงนิวส์” ช่อง 19 เป็นรายแรกที่ส่งเอกสารงบการเงิน, แผนเยียวยาผู้บริโภค และแผนเยียวยาพนักงาน เข้ามาให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา

โดย สปริงนิวส์ ได้แจ้งแผนเยียวยาพนักงานที่ต้องถูกเลิกจ้างจากการคืนใบอนุญาต โดยจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน และบวกเพิ่มอีก 1 เดือน โดยไม่ได้ระบุถึงจำนวนพนักงานที่จะถูกเลิกจ้าง

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

ขั้นตอนการพิจารณาหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช.จะส่งเอกสารของสปริงนิวส์ให้คณะอนุกรรมการเยียวยาพิจารณาในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ รวมทั้งคณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนเยียวยาผู้บริโภค คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเยียวยาผู้บริโภค คือการแจ้งเป็นตัววิ่งที่หน้าจอสปริงนิวส์ว่าจะยุติให้บริการ โดยน่าจะใช้เวลาแจ้ง 30 วัน คือจบในสิ้นเดือน ก.ค. ดังนั้น สปริงนิวส์ จะยุติให้บริการเป็นช่องแรก ในเดือน ส.ค. 2562 และรับเงินชดเชยการคืนช่อง  

แต่ระหว่างนี้หากทีวีดิจิทัลช่องที่ขอคืนใบอนุญาตรายอื่นๆ ส่งเอกสารเข้ามาเพิ่มเติม สำนักงานจะบรรจุวาระ เพื่อพิจารณาพร้อมกับช่องสปริงนิวส์ ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ เช่นกัน และอาจมีช่องที่ยุติให้บริการเพิ่มเติม

ออกประกาศฯ คืนแบงก์การันตี “ทุกช่อง”

วันนี้ (29 พ.ค.) สำนักงาน กสทช.ได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์คืนหนังสือค้ำประกันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตาม คำสั่ง คสช. มาตรา 44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ

  1. ให้ทีวีดิจิทัล “ทุกช่อง” ส่งหนังสือต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อขอคืนหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) งวดที่ 5 และ 6 ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป  โดย กสทช.จะพิจารณาคืนให้ภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 44 ที่สนับสนุนเงินค่าประมูลใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6
  2. สำหรับทีวีดิจิทัลช่องที่จ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 แล้ว โดยไม่ได้ใช้สิทธิพักชำระหนี้ ตามมาตรา 44 เมื่อปี 2561 ซึ่งมีเพียง 3 ช่อง คือ ช่อง 7, เวิร์คพอยท์ทีวีและสปริงนิวส์ 19 ทั้ง 3 ช่องนี้ ให้ส่งหนังสือแจ้งขอคืนแบงก์การันตี งวดที่ 4 พร้อมงวดที่ 5 และ 6 ได้ทันที
  3. ทีวีดิจิทัลอีก 19 ช่อง ที่ใช้สิทธิพักชำระจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ในกลุ่มที่ “ไม่ได้คืนใบอนุญาต” ให้นำเงินงวดที่ 4 มาจ่ายให้ กสทช.ภายในวันที่ 8 ส.ค. 2562 แต่หากยังไม่สามารถจ่ายเงินได้ ให้จ่ายดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี ได้ถึงวันที่ 23 พ.ค. 2564 ซึ่งเป็นไปตามสิทธิการพักจ่ายค่าใบอนุญาตตามมาตรา 44 ปี 2561 กำหนดระยะเวลาไว้ 3 ปี หลังครบกำหนดพักชำระหนี้และจ่ายเงินงวดที่ 4 ให้ กสทช.แล้ว จะคืนแบงก์การันตี
  4. ส่วนทีวีดิจิทัลช่องที่ “คืนใบอนุญาต” หลัง กสทช.อนุมัติแผนเยียวยาผู้บริโภค และยุติการให้บริการแล้ว จะได้รับเงินค่าชดเชยคืนช่องจาก กสทช. โดยจะหักกลบลบหนี้ งวดที่ 4 ก่อนจะคืนเงินชดเชยส่วนที่เหลือ และแบงก์การันตีงวดที่ 4 ภายใน 15 วัน
  5. ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 4 บริษัท 7 ช่อง คือ ไทยรัฐทีวี, โมโน, อสมท 2 ช่อง และ บีอีซี 3 ช่อง ที่วางหนังสือค้ำประกันค่าใบอนุญาตรวม 3 งวดไว้ในแบงก์การันตีใบเดียว ในกลุ่มนี้ให้นำแบงก์การันตีค่าใบอนุญาตเฉพาะงวดที่ 4 มาเปลี่ยน เพื่อลดวงเงินงวดที่ 5 และ 6 ที่จะได้รับคืน