“Nitro Cold Brew Tea” โอกาสใหม่ของ “สิงห์ปาร์ค” ขยายตลาดชาให้เติบโต

เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีที่แล้วที่ทาง สิงห์ปาร์คร่วมทุนกับมารุเซ็น” (Maruzen) เป็นบริษัทที่ทำชาเขียวมายาวนานถึง 85 ปี โดยนำ Know-how เครื่องจักร กระทั่งคนปลูกมาจากญี่ปุ่น โดยปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มทำกำไรแล้ว

รายได้หลัก 85% มาจากกลุ่ม B2B ด้วยขายให้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตสินค้าที่ต้องใช้ผงชาเขียว รวมไปถึงร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ ซึ่งจากการผลิตในเมืองไทยทำให้ราคาขายถูกกว่าผลิตจากญี่ปุ่นอย่างน้อยก็ 20 – 30% ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาเขียวโตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ส่วนอีก 15% มาจากกลุ่ม B2C ซึ่งออกมาในรูปแบบชาผงสำหรับชงเอง วางขายในร้านโมเดิร์นเทรดต่างๆ ขณะเดียวกันเมื่อ B2B แข็งแรงแล้ว ในปีนี้สิงห์ปาร์ค จึงจะหันมาให้ความสนใจกับกลุ่ม B2C มากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 30% ส่วน B2B เหลือ 70%

พงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์คเชียงราย จำกัด อธิบายว่า ตลาดชาประเภทชงมี Big Name ยี่ห้อที่คนส่วนใหญ่รู้จักที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้วมารุเซ็นเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

แต่ทั้งนี้การจะชิงส่วนแบ่งของตลาดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนที่ดื่มชาอาจจะไม่ได้ดื่มเพราะว่าชอบชาเป็นกิจจะลักษณะ หากดื่มเพราะว่าดูดีหรือเป็นรสชาติที่แปลกใหม่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน แต่อาจจะไม่ได้ซื้อเพื่อมาดื่มทุกวัน

ดังนั้นการแข่งขันชาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามห้างสรรพสินค้าจะไม่เห็นกล่องชาในรูปแบบเชยๆ อีกต่อไป เพราะตลาดเริ่มเล็กลงๆ ตลาดชาเลยจะไปโตในช่องทางที่ดื่มง่ายขึ้น

ยอมรับว่าพฤติกรรมการบริโภคชามีการเปลี่ยนแปลงไป การนำใบชามาชงใส่น้ำร้อนเริ่มลดน้อยลง ถ้าหากยังขายชาที่เป็นใบอยู่เพื่อให้คนนำไปต้ม ไปใส่น้ำแข็ง น้ำตาลเองก็คงจะหดลงเรื่อยๆ ตามสภาวะของโลกที่เป็นอยู่

จึงเป็นที่มาของการพัฒนามารุเซ็น ไนโตร โคลด์ บรูว์ ทีที่ถูกวางเป็นสินค้า Highlight โดยเป็นเครื่องดื่มชาคราฟท์ วิธีทำคือเป็นชาหมักเย็น ที่เทคนิคการนำไนโตรเจนเข้ามาเบลนเพื่อให้เกิดความละมุน หน้าตาที่ออกมาจะคล้ายๆ เบียร์ในเรื่องของสีและฟอง เบื้องต้นได้เริ่มจำหน่ายในงานต่างๆ ที่ทางสิงห์ปาร์คจัดขึ้นมาบ้างแล้ว

รวมไปถึงเตรียมขยายสู่ช่องทางร้านสะดวกซื้อด้วย เบื้องต้นมีการหารือกับร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทของกลุ่มเซ็นทรัล ในการทดลองจำหน่ายสินค้า โดยจะเลือกสาขาที่ผู้บริโภคจำนวนมากมีกำลังซื้อสูง เช่น สุขุมวิท สยามสแควร์ เป็นต้น

นอกเหนือจากเรื่องชา พงษ์รัตน์ ระบุว่ายังมีความสนใจเรื่องของกาแฟ เนื่องจากพบว่ากาแฟของเชียงรายก็มีคุณภาพ ในช่วงหลังจะมี Roster (คนคั่วกาแฟ) เยอะ เลยจะทำในรูปแบบของ Single Origin เช่น กาแฟปางขอน

วิธีการคือ จะคัดเฉพาะกาแฟดอยปางขอน ให้คนคั่วเป็นคนเชียงราย คั่วส่งให้ในรูปแบบของเขา โดยจะระบุเลยว่าใครเป็นคนคั่ว และจะมี Artwork ที่เขียนให้สินค้าโดยเฉพาะ เป็นศิลปินที่เป็นคนเชียงรายทำออกมาเป็น Package เพื่อสร้างสีสันให้กับกาแฟ

โดยมีที่มาที่ไปไม่ใช่แค่การซื้อกาแฟมาแล้วบรรจุถุง กาแฟจะกลับมาสู่จุดเริ่มต้นในเรื่องนโยบาย คือ การช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรภายในจังหวัดหรือภายในภาคเหนือ เบื้องต้นจะวางจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ของสิงห์ปาร์คคาดจะคัด Roster ให้ได้ประมาณ 1 รายก่อน

ขณะเดียวกันในกลุ่มของสินค้าเกษตรเตรียมผลักดันให้เข้าไปจำหน่ายในกลุ่มห้างสรรพสินค้า The Mall, Tops Supermarket, Villa มากขึ้น เช่น พืช ผัก สมุนไพรต่างๆ เมล่อน มะเขือเทศ บลูเบอร์รี่ ผักสลัด โดยทางสิงห์ปาร์คจะทำหน้าที่คนกลางในการนำสินค้าของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้าไปจำหน่าย

นอกจากนั้นยังสนใจที่จะผลักดันผลไม้ เช่น กล้วย สับปะรด ไปจำหน่ายที่โตเกียว โอลิมปิก 2020” ซึ่งจะมีนักกีฬา ครอบครัวนักกีฬา ผู้มาเที่ยวก็จะมีมาก ปริมาณการใช้ก็จะต้องนำเข้าเป็นจำนวนมหาศาล

ที่มา : Singha Park Chiang Rai สิงห์ปาร์ค เชียงราย

โดยสิงห์ปาร์คจะประสานกับสภาหอการค้าเพื่อสรุปว่าจะมีสินค้าอะไรบ้าง พร้อมกับช่วยยกมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ถูกหลักเรื่องอาหารปลอดภัยหรือ Food safety

ปี 2019 “สิงห์ปาร์คตั้งเป้ารายได้เติบโต 25% ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจแปรรูปทางการเกษตร และธุรกิจท่องเที่ยว