ในยุคที่คนไทยใช้ “โมบาย อินเทอร์เน็ต” กว่า 55 ล้านคน สามารถเข้าถึงคอนเทนต์หลากหลายทั้งไทยและต่างประเทศเพียงปลายนิ้วคลิก ทั้งดูฟรีและออนดีมานด์ ท่ามกลางการขยายตัวของ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” จึงมีคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า “ทีวีจะตายหรือไม่” เพราะตลอด 5 ปีทีวีดิจิทัล คนที่บาดเจ็บมีให้เห็นมากกว่าฝั่งผู้รอด!
“ผมไม่เคยเชื่อว่าทีวีจะตาย ในสหรัฐฯ ที่ดิจิทัลเติบโตมาก่อนไทย ทีวีก็ยังอยู่และแข็งแรงดี เพราะไม่ว่าจะเกิดเทคโนโลยี Disrupt อย่างไร สิ่งสำคัญที่จะอยู่ได้คือคอนเทนต์”
ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ผู้บริหารทีวีดิจิทัล ช่องวัน 31 ย้ำว่าปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่า “ทีวีไม่ตาย” เป็นเพราะ “ทีวี” ยังตอบโจทย์ฟังก์ชันสำคัญ คือ พฤติกรรมคนไทย “เปิดทีวีไว้เป็นเพื่อน” แค่ให้ได้ยินเสียง เมื่อมีภาพที่สนใจจึงหันมาดู มีทั้งกลุ่มที่เปิดทีวีฟังและทำงานอื่นๆ ไปด้วย และกลุ่มที่ฟังหรือดูทีวีพร้อมแชท ออนไลน์ พูดคุยเนื้อหารายการทีวีกับกลุ่มเพื่อน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้รายการที่มีเวลาออกอากาศยาวอย่าง ละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ต่างประเทศ ของช่องทีวีที่มีคอนเทนต์ดังกล่าว มีเรตติ้งติดในกลุ่มผู้นำ
“การเปิดทีวีฟังเป็นเพื่อน มีเพียงสื่อทีวีเท่านั้นที่ทำฟังก์ชันนี้ได้ และไม่มีสื่อใดแทนที่ เพราะหากเป็นสื่อออนไลน์ยังต้องใช้สมาธิทั้งการดูหน้าจอและใช้มือกดหาคอนเทนต์”
ปัจจุบัน “ทีวี” ยังเป็นสื่อที่เข้าถึง (reach) ครัวเรือนไทยทั่วประเทศมากหรือเกือบ 100% ปีที่ผ่านมาช่องวันเข้าถึงคนไทย 94% หรือ 62 ล้านคน ปีนี้วางเป้าหมายเข้าถึงผู้ชมไทย 98% หรือ 64 ล้านคน
ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00 – 22.30 น. ช่องวันมีคอนเทนต์ “ละคร” และ “วาไรตี้” ที่ดึงผู้ชมมาอยู่กับสถานีได้เพิ่มขึ้น เดือนมกราคมเรตติ้งไพรม์ไทม์อยู่อันดับ 6 เพิ่มขึ้น 8%, เดือนกุมภาพันธ์เรตติ้งขยับมาที่อันดับ 5 เพิ่มขึ้น 26% เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมเรตติ้งขึ้นมาอยู่อันดับ 3
ปีนี้วางเป้าหมายให้เรตติ้งไพรม์ไทม์อยู่อันดับ 3 ต่อเนื่องตลอดปี เป้าหมายหลังจากนั้นคือ ทั้งสถานีขยับมาอยู่ที่อันดับ 3 รองจากช่อง 7 และ ช่อง 3 แต่ยังไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนได้ว่าเมื่อไหร่
รายการไฮไลต์ช่วงไพรม์ไทม์ คือ “ละคร” 3 ช่วงหลัก คือ ละคร 19.00 น. จับกลุ่มครอบครัว ละคร 20.00 น. กลุ่มแมส เนื้อเรื่องมีความหวือหวาขึ้น และละคร 21.20 น. ระดับ น. 13 เจาะนิชมาร์เก็ต คนกรุงเทพฯ ที่เพิ่งเดินทางถึงบ้านและกลุ่มเมือง การใส่เส้นละครในช่วงไพรม์ไทม์ต่อเนื่องตั้งแต่ 19.00 – 22.30 น. เพื่อดึงคนดูให้อยู่ยาว ทั้งเปิดเป็นเพื่อนและกลุ่มที่ดูพร้อมแชทออนไลน์
ชูช่องวัน “เดสติเนชั่น” ดูสด-ย้อนหลัง
อีกปัจจัยสำคัญที่ ถกลเกียรติ ย้ำว่า “ทีวีไม่ตาย” และยังมีโอกาสเติบโตได้ในธุรกิจนี้ เพราะช่องวันเป็น “คอนเทนต์ โปรวายเดอร์” ที่เป็นเจ้าของ “แพลตฟอร์ม ทีวี” และเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เอง ปีนี้ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท จึงเปรียบเหมือนกับ “ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์”
การเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทีวีและคอนเทนต์ จึงวางกลยุทธ์ให้ช่องวันเป็น “เดสติเนชั่น” (Destination) หรือจุดหมายที่จะดูสด รวมทั้งดูย้อนหลัง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ร่วมกับพันธมิตรและแพลตฟอร์มออนไลน์ช่องวัน
ปัจจุบันดิจิทัล แพลตฟอร์มของช่องวันเข้าถึง 40 ล้านคน หรือ 75% ของผู้ใช้โมบาย อินเทอร์เน็ต Line TV เป็นแชนแนลอันดับ 1 มีผู้ติดตาม 2.3 ล้านคน ยอดวิว 4,000 ล้านวิวต่อปี YouTube ครองอันดับ 3 มีสมาชิก 16.8 ล้านคน ยอดวิว 11,900 ล้านวิวต่อปี มีผู้ชมผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น 6 ล้านคนต่อเดือน แม้แนวโน้มคนดูสดผ่านจอทีวีลดลง แต่ออนไลน์กลายเป็นตัวเลือกที่เพิ่มขึ้น
หลังจากช่องวันดันผังละครไพรม์ไทม์ขยับขึ้นมาครองเรตติ้งอันดับ 3 ได้แล้วในขณะนี้ ผังรายการครึ่งปีหลังจะใช้คอนเทนต์ “วาไรตี้และการประกวดทาเลนต์” แนวสนุกและตลก ผลักดันเรตติ้งวันเสาร์ – อาทิตย์ ให้เป็นอีกช่วงเวลาที่ครองตำแหน่งผู้นำ และดึงผู้ชมอยู่กับช่องวัน เพื่อเปิดทีวีเป็นเพื่อน
ขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ 20 ประเทศ
วันนี้รายได้หลักช่องวันมาจากโฆษณาทีวี 70% เมื่อเรตติ้งรายการเพิ่มขึ้น ก็สามารถขยับราคาโฆษณาได้ต่อเนื่อง แต่วันนี้สมรภูมิการแข่งขันหน้าจอทีวี “ไม่ได้ลดลง” แม้จะมีทีวีดิจิทัลขอคืนใบอนุญาต 7 ช่องก็ตาม
“คนที่ไม่คืนช่องคือยังสู้ต่อไป และทุกคนได้ประโยชน์เหมือนกัน คือต้นทุนค่าใช้จ่ายจากค่าใบอนุญาตและโครงข่าย MUX ลดลง ช่องวันลดลงไปราว 200 ล้านต่อปี จากนี้จะเห็นทุกช่องที่เลือกอยู่ต่อ จะใส่คอนเทนต์เข้ามาเต็มที่”
ถกลเกียรติมองว่าช่องวันยังมีโอกาสเติบโตได้ ทั้งรายได้จากทีวี ที่มีละครเป็นไฮไลต์หลัก และขยับราคาได้เมื่อเรตติ้งเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีช่องทางหารายได้จาก การขยายแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง OTT ในประเทศไทย รวมทั้ง OTT จากต่างประเทศ อย่าง Netflix รวมทั้งพันธมิตรจากประเทศจีน อีกทั้งการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครและวาไรตี้ในตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันขายไปแล้ว 20 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จีน และตะวันออกกลาง รวมทั้งการขาย “ฟอร์แมต” รายการ “รู้ไหมใครโสด” ให้กับทีวีในเวียดนาม
ปี 2561 ช่องวันมีผลประกอบการ “ขาดทุน” 500 ล้านบาท แต่ปี 2561 พลิกมากำไร 28 ล้านบาท ปี 2562 วางเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้น 15% กำไรเติบโต 100% และจะทำกำไรต่อเนื่องในปี 2563 จากนั้นช่วงปลายปี 2563 จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ