‘ดิจิทัลเเบงกิ้ง’ โตไวในอาเซียน โอกาสทองของ KBank สู่การเป็นธนาคารเเห่งภูมิภาค


‘อาเซียน’ กลายเป็นดาวรุ่งด้าน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ที่ดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลจากทั่วโลก ยิ่งในยามวิกฤตโรคระบาด ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซเเละฟินเทค

จากรายงาน e-Conomy SEA Report 2021 ประเมินว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศในอาเซียน จะมีมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 และมีโอกาสแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030

เมื่อผู้คนเริ่ม ‘เปิดใจเเละคุ้นชิน’ กับการทำธุรกรรมการเงินดิจิทัล จนเเทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเเล้ว

จึงเป็นโอกาสของ ธนาคารใหญ่ของไทย ที่จะเร่งเกมบุกเข้าสู่ ‘ตลาดเติบโตใหม่’ เจาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อปูทางสร้าง ‘ดิจิทัล เเบงกิ้ง’ ให้เข้าถึงกลุ่มประชากรจำนวนมาก

เห็นได้ชัดจากความเคลื่อนไหวสำคัญ เพื่อการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 ของธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ที่ขยับเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยกลยุทธ์หลักๆ ของ KBank จะมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมต่อเครือข่ายการค้าและการลงทุนในอาเซียนเข้าด้วยกันผ่าน ‘ดิจิทัล แพลตฟอร์ม’ เเละจุดหมายล่าสุดก็คือภารกิจเจาะตลาดเนื้อหอมอย่าง ‘เวียดนาม’


เวียดนาม สนามเเข่งดิจิทัลแห่งอาเซียน

 เวียดนาม กำลังเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบตามเทรนด์โลก โดยเฉพาะในภาคส่วนอีคอมเมิร์ซเเละเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) พร้อมการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ประกาศตั้งเป้าให้เศรษฐกิจดิจิทัล มีสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพีประเทศ ภายในปี 2025 และสัดส่วน 30% ภายในปี 2030 ซึ่งต่อจากนี้ก็คงจะมีการออกนโยบายเเละเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อดึงดูดให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติทั้งหลายเข้ามาลงทุน

จากรายงานของสื่อท้องถิ่นอย่าง VnExpress ระบุว่า ณ ตอนนี้เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.2% ของจีดีพี โดยรัฐบาลยังตั้งเป้าให้ประชากรกว่า 80% ใช้งานการทำธุรกรรมออนไลน์อีกด้วย

 ใน e-Conomy SEA Report 2021 มีประเด็นเกี่ยวกับ ‘ผู้บริโภคดิจิทัล’ ในเวียดนามที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่โรคโควิด-19 ได้กลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เวียดนามมีจำนวนผู้บริโภคดิจิทัล เพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านราย ในจำนวนนี้ ‘มากกว่าครึ่ง’ มาจากพื้นที่นอกเขตเมืองใหญ่  และกว่า 99% ตั้งใจจะใช้บริการออนไลน์ต่อไปหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

สะท้อนให้เห็นว่าชาวเวียดนามได้หันมาใช้สินค้าและบริการดิจิทัลกันในระดับสูงมาก โดยเหล่าพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ในเวียดนามถึง 30% เชื่อว่าพวกเขาอาจจะไม่สามารถพยุงธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ได้ ‘หากไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัล’ เข้ามาช่วย 


โอกาส KBank สู่ธนาคารเเห่งภูมิภาค ‘บุกเวียดนาม’ ด้วยกลยุทธ์ที่เเตกต่าง

เเม้ว่าการแข่งขันของ ‘สถาบันการเงิน’ ในเวียดนามจะค่อนข้างรุนแรง แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

เมื่อเห็นช่องว่างการตลาดที่เอื้อต่อการลงทุน ‘กสิกรไทย’ ไม่รอช้าเดินหน้าบุกเวียดนามเต็มสูบ ประเดิมเปิดสาขาเเรกที่ ‘โฮจิมินห์’ พร้อมขยายทีมงานเพิ่ม ประเมินปี 2022 มียอดเงินฝากเเตะ 1,200 ล้านบาทเเละสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้า 5 ปีสร้างฐานลูกค้ารายย่อยมากกว่า 8 ล้านราย

หลังประสบความสำเร็จในตลาดกัมพูชาและ สปป.ลาว ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อใน 3 เซ็กเมนต์ ทั้งในส่วนซัพพลายเชน กลุ่มรายย่อย และกลุ่มไมโคร

จากการที่เวียดนาม มีสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน เเละคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเเรงงาน ทำให้การเข้าไปตีตลาดครั้งนี้ ต้องใช้กลวิธีที่ ‘เเตกต่าง’ ในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศ AEC+3 อื่น ๆ ที่จะเน้นให้บริการธุรกิจระหว่างประเทศเป็นหลัก

จุดเด่นของเวียดนาม คือการเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมที่รวดเร็วที่สุดในภูมิภาค

เป็น ‘ฐานผลิต’ สำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่เลือกย้ายการผลิตมายังอาเซียนมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างจีน–สหรัฐฯ เเม้ในวิกฤตโรคระบาด เวียดนามก็ยังเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก

จากมาตรการล็อกดาวน์ที่กระทบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ไปบ้าง แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งนำไปสู่การส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ถูกกระทบมากนัก

เหล่านี้ เป็นปัจจัยหนุนช่วยภาคเศรษฐกิจอื่นของเวียดนาม และมีการประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตเกิน 5% ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งเอเชียและตะวันตกเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง

กสิกรไทย เริ่มเปิดให้บริการแก่ลูกค้าเวียดนามผ่านสำนักงานผู้แทน 2 แห่ง ณ กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ มาตั้งแต่ปี 2015

 เเละเมื่อเห็นโอกาสที่มากขึ้น ก็มีการ ‘ยกระดับ’ การให้บริการมาเป็น ‘สาขานครโฮจิมินห์’ เป็นสาขาแรกในประเทศเวียดนาม และเป็นสาขาที่ 10 ในต่างประเทศ ซึ่งได้เปิดตัวสาขาอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย สาขานครโฮจิมินห์ ในช่วงแรกจะเน้นไปที่บริการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่  (Corporate Lending) เจาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ในเวียดนาม

มุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการค้าและอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภค ให้บริการแก่บริษัทของไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ต้องการขยายธุรกิจไปเวียดนามเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังจะขยายการให้บริการในส่วนของ ‘กลุ่มลูกค้ารายย่อย’ ในท้องถิ่น จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านดิจิทัล แบงกิ้ง และโมบาย แบงกิ้งของธนาคารกสิกรไทยมาใช้ ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเงินฝาก สินเชื่อบุคคล เเละสินเชื่อดิจิทัล

โดยธนาคารจะทยอยส่งมอบบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าเข้าสู่โลกของดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบผ่านสินเชื่อดิจิทัล ซึ่งภายในปี 2022 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อดิจิทัลไว้ที่ 1,500 ล้านบาท จากลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก 25,000 ราย ที่มาใช้บริการขอเงินกู้ (KBank Biz Loan) หรือร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการต่อยอดธุรกิจ

และยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อหนุนศักยภาพทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น เช่น การร่วมมือกับบริษัทฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีความเข้าใจในตลาดอย่างลึกซึ้งอย่าง IPOS VN., Haravan และ KiotViet ที่จะมาช่วยส่งมอบบริการได้ตรงใจลูกค้าได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึง Sendo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อสร้างโซลูชั่นทางการเงินสำหรับผู้ค้าออนไลน์ ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อทางธุรกิจได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว และสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนสินเชื่อได้สูงสุดถึง 36 เดือน วงเงินกู้สูงสุดถึง 100 ล้านดงเวียดนาม หรือประมาณ 150,000 บาท ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 1.4% ต่อเดือน


กลยุทธ์ AssetLight จับมือ ‘เทคสตาร์ทอัพ’ ท้องถิ่น

ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมมือกับเทคสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ด้วยการร่วมลงทุนของ KVision เข้ามาช่วยในการให้พัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

“ขณะนี้มีกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) ระดับโลกที่สนใจเข้ามาหารือในการเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารเพื่อสร้างอีโคซีสเต็มของการขยายธุรกิจในเวียดนาม ทั้งยังจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน (Unbank) และกลุ่มประชากรวัยทำงานที่มีโอกาสเติบโตได้อีกด้วย” พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

เพื่อย้ำให้เห็นถึงการทุ่มทุนบุกตลาดเวียดนาม KBank ได้ประกาศเฟ้นหาทีมงาน เพื่อขยายกำลังคนที่มีศักยภาพ หลากหลายทักษะมากกว่า 500 ตำแหน่ง ทั้งในประเทศไทยและทีมงานที่อยู่ประจำสาขานครโฮจิมินห์

เเละยังเตรียมเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาให้กับพนักงานปัจจุบัน ทั้งการรีสกิล ทักษะด้านภาษา เทคโนโลยี บวกกับวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ผนึกกำลังสร้างบริการทางการเงินให้พร้อมรับกับตลาดดิจิทัล และบริบทของธุรกิจในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจธนาคารในเวียดนาม จึงไม่ได้เน้นธุรกรรมการเงินพื้นฐาน (Traditional Banking) เท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของธนาคารในธุรกรรมการเงินยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัล แบงกิ้ง (Disruptive Banking / Digital Banking)

“ประชากรของเวียดนามเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มีความคุ้นเคยและพร้อมในเทคโนโลยีดิจิทัล ขณะเดียวกันดิจิทัล อีโคซิสเต็มในเวียดนามยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ AssetLight Regional Digital Expansion ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยลงทุนและร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในท้องถิ่น รวมถึงการให้สินเชื่อระหว่างประเทศแก่บริษัทในท้องถิ่นในเวียดนาม โดยอาศัยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ”

ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง และพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก มีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน

ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราได้เห็นถึง ‘ความจริงจัง’ กับยุทธศาสตร์ในการก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบของกสิกรไทย ที่ต้องการเชื่อมต่อการให้บริการผ่านเครือข่ายของธนาคารในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการเป็นธนาคารท้องถิ่น สาขาของธนาคาร สำนักงานผู้แทน และสถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรของธนาคาร เดินหน้าขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับปรุงเเละเปลี่ยนเเปลง เพื่อให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ไปเรื่อยๆ