“ไทยพีบีเอส” เปิดช่อง VIPA เสริมทัพ OTT หวังจับคนดูรุ่นใหม่ดูได้ทุกแพลตฟอร์ม เขย่าองค์กรมุ่ง Content

ในภาวะที่ทุกสื่อกำลังปรับตัวและกลยุทธ์เพื่อแข่งขันในตลาดทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะหลังการคืนใบอนุญาตและปิดตัวลงของ 7 ช่องทีวีดิจิทัล “ไทยพีบีเอสทีวีสาธารณะ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงในยุค Media Disruption เช่นกัน  

วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อในยุคดิจิทัล ถือเป็นความท้าทายของไทยพีบีเอส จากพฤติกรรมผู้ชมรับสื่อผ่านหน้าจอโทรทัศน์ลดลงและหันมาชมผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ไทยพีบีเอสจึงเตรียมเผยแพร่คอนเทนต์ ผ่านช่องทาง OTT เรียกว่า ช่องวิภา (VIPA Channel) รองรับผู้ชมทางออนไลน์ที่สนใจเนื้อหาเชิงสาระของไทยพีบีเอส และกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยจะเปิดตัวในไตรมาส 3 นี้

โดย VIPA Channel จะให้บริการ Audio และ Video Streaming ในช่องสื่อใหม่ของไทยพีบีเอสเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชั่น VIPA นำเสนอในหลายหมวดเนื้อหา พร้อมบริการภาษาทางเลือก โดยให้บริการ VIPA Live รายการสด ในเหตุการณ์และการแข่งขันกีฬาสำคัญๆ VIPA Archive คลังคอนเทนต์จากไทยพีบีเอส VIPA Original เนื้อหาที่นำเสนอเฉพาะช่อง VIPA และ VIPA UGC พื้นที่สร้างสรรค์ผลงานจากครีเอเตอร์ออนไลน์

“ช่อง VIPA วาง Positioning เป็น Passionate Learners คือ คนที่กระตือรือร้นแสวงหาการเรียนรู้ และเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานจาก Creator Online ส่งเสริมการมีส่วนร่วมบนสื่อออนไลน์”

ปรับองค์กรมุ่ง Content Based

นอกจากนี้ได้พัฒนาบุคลากรให้ทำงานแบบ Multi Skills มากขึ้น เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่เหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์ม หรือ Transmedia รวมทั้งปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็น Content Based มากขึ้น นำร่องสร้างหน่วยย่อยลักษณะ Business Unit เพื่อบริหารจัดการได้อย่างคล่องตัว และทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรได้ดีขึ้น เช่น หน่วยสื่อสารภัยพิบัติ หน่วยที่มุ่งสื่อสารให้บริการประชาชน หน่วย Thai PBS World ที่เน้นนำเนื้อหาของไทยออกไปสู่ Global และอีก 2 กลุ่มเนื้อหาที่เป็นจุดแข็งของไทยพีบีเอส คือ หน่วยผลิตสารคดี และศูนย์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ทั้งหมดเป็นทิศทางที่กำลังเร่งพัฒนาในปีนี้

ภาพจาก thaipbs

นอกจากนั้นการปรับเนื้อหาให้แข่งขันได้มากขึ้น ไทยพีบีเอสได้กำหนดเซ็กเมนต์ของตัวเองเป็นกลุ่มเป้าหมายแบบ Informed Citizen เนื้อหาของข่าวและรายการมุ่งทำให้ผู้ชมเป็นพลเมืองตื่นรู้ ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้องรอบด้าน โดยจะเพิ่มรูปแบบการนำเสนอให้น่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น จะเริ่มเห็นภาพการปรับตัวของไทยพีบีเอส ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป

“จุดแข็งของไทยพีบีเอส คือ ข้อมูลข่าวสารอยู่บนความถูกต้อง น่าเชื่อถือ เป็นธรรม ปราศจากอคติ ปลอดจากการแทรกแซงของกลุ่มทุนและการเมือง มุ่งสื่อสารเพื่อหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน”

วิลาสินี พิพิธกุล

เสริมคอนเทนต์เด็กหลังปิด 7 ช่องทีวีดิจิทัล

จากสถานการณ์การคืน 7 ช่องทีวีดิจิทัล ทำให้ช่องเด็กสูญพันธุ์ “ไทยพีบีเอส” ในฐานะสื่อสาธารณะมีแผนพัฒนา ศูนย์สื่อเพื่อเด็กและครอบครัว เพื่อต่อยอดเนื้อหารายการเด็กเพิ่มขึ้น ทั้งสื่อทางหน้าจอทีวี สื่อออนไลน์ และพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ ขยายเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็ก รวมถึง Gamer ที่ผลิตเกมสำหรับเด็ก

โดยมีสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ทำวิจัยติดตามพฤติกรรมการรับสื่อของเด็กกลุ่มอายุ 3-6 ปี และกลุ่มอายุ 7-11 ปี ผลวิจัยพบว่าเด็กวัย 3-6 ปี ยังดูทีวีเป็นอันดับแรก รองลงมาคือการอ่านหนังสือและดู YouTube ส่วนเด็กอายุ 7-11 ปี ใช้สื่อ YouTube มากที่สุด รองลงมาคือโทรทัศน์ ดังนั้นศูนย์สื่อเพื่อเด็กและครอบครัว จะนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบสนองพฤติกรรมทั้ง 2 กลุ่ม.