Disruptor ตัวจริง! แบงก์ จับตา “Libra” กับอนาคตของสกุลเงินโลก?

หลังจาก Facebook ประกาศเปิดตัว สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ใหม่ มีชื่อว่า “Libra” โดยจะเปิดใช้ในต้นปีหน้า 2020 โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้ Facebook จำนวน 2 พันล้านคนใช้สกุลเงินใหม่เพื่อซื้อสิ่งของหรือส่งเงินไปต่างประเทศเป็นประจำ

โปรเจกต์นี้ Facebook ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอีก 28 ราย เช่น “วีซ่า” (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) อีเบย์ (eBay), สปอติฟาย (Spotify) และอูเบอร์ (Uber) โดยมีกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อสมาคมลิบรา Libra Association” ซึ่งตั้งอยู่ในเจนีวา ดูแลสกุลเงิน Libra อีกครั้ง

จุดหลักของโครงการ คือการนำสกุลเงินดิจิทัลเวอร์ชั่นใช้ง่าย มาสู่สมาร์ทโฟนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถโอนเงิน สร้างเครดิต และชำระค่าใช้จ่ายได้ง่ายแบบไม่มีค่าธรรมเนียมราคาสูง จะช่วยอุดช่องว่างในกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร

นอกจากนี้ Libra ยังสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส เพื่อที่จะทำให้บริษัทหรือบุคคลใดก็สามารถสร้างธุรกิจที่เข้ากับกรอบการทำงานของเงิน Libra ได้เสรี โดย Facebook มีแผนจะให้บริการทางการเงินอื่นร่วมด้วย เช่นให้บริการสินเชื่อกู้ยืมผ่านบริการในเครือ

ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ของไทย มองว่า Libra ได้ส่งผลสะเทือนถึงสถาบันการเงินทั่วทั้งโลกและเป็นที่จับตามองของธนาคารกลางทั่วโลก

ศรชัย สุเนต์ตา, CFA ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ SCB Investment Advisory, CIO office ระบุว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีเงินสกุล Digital เกิดขึ้นมากมายก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่สร้างความแปลกใหม่ได้

“แต่ที่ผมว่าไม่ธรรดาก็คือการก่อกำเนิดขึ้นของ Libra ที่มีFacebook และมีพันธมิตรอีก 27 คนมาจับมือกัน แถมยังเป็นระดับบิ๊กๆ ทั้งนั้น เช่น Visa, MasterCard, Uber, PayPal, Spotify, eBay, Lyft, Vodafone และอีกหลายบริษัททั่วโลก เห็นไหมล่ะแค่การเกิดก็ไม่ธรรมดาแล้ว ยิ่งกว่าเหล่า Avengers ทีมอีกนะ

คำถามต่อมาก็จะเอา Libra Cryptocurrency มาใช้ประโยชน์อะไรกันได้ล่ะ

ที่มาของ Libra เพื่อสร้างให้มีโครงสร้างระบบการเงินขั้นพื้นฐานที่ทุกคนๆ ในโลกนี้สามารถเข้าถึงได้ง่ายดายทุกคน และจะเป็นระบบทางการเงินที่มีต้นทุนต่อผู้ใช้ที่ถูกที่สุด แถมยังมีความปลอดภัยสูงสุดเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เท่าที่เทคโนโลยีวันนี้จะมีได้ เช่นใช้ Technology Blockchain มาเป็นตัวกลาง

ส่งผลให้ทุกๆ คนบนโลกไม่จำเป็นต้องพกเงินสดเงินกระดาษ ที่อาจจะหาย ถูกขโมย หรือก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยหากพกพาติดตัวตลอดเวลา

ยังเข้าถึงคนบนโลกนี้อีกมากมายหลายพันล้านคน ที่ไม่เคยเข้าถึงการเบิดบัญชีกับสถาบันการเงินได้เลย สามารถเข้าถึงระบบทางการเงินนี้ได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ ว่ากันว่าบนโลกเรายังมีคนอีกหลายพันล้านคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือแต่ยังไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ และไม่เคยใช้ธุรกรรมทางการเงินใดๆ เลยกับธนาคาร

การโอนเงินให้เพื่อน ญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ต่างประเทศจะทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็วเงินถึงผู้รับได้ทันทีที่กดโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หรือถ้าจะมีก็ถูกมาก โดยเราไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการโอนเงิน หรือไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมจากอัตราแลกเปลี่ยนใดๆ ให้เราต้องลุ้นว่าแพงไหม เช่นวันนี้ ราคาซื้อ ขายเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 3-5% ที่เราต้องจ่ายให้กับธนาคาร และค่าโอนเงินก็เช่นเดียวกัน ได้แก่ โอนเงินผ่านระบบ Swift ของธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 ถึง 1,500 บาท ที่ผู้โอนจะต้องจ่าย

นอกจากนั้นผู้รับโอนเงินปลายทางก็ต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารปลายทางอีกด้วย เช่นอีก 400-500 บาทต่อรายการ ถ้าคิดเลขแบบง่ายๆ โอนเงิน 1 แสนบาท หักไปหักมา เหลือถึงผู้รับ เพียง 93,000 บาท

ในขณะที่ใช้ระบบ Digital Money Transfer อาจะไม่ต้องเสียอะไรเลย หรือเสียน้อยมากๆ ก็ได้ ดังนั้นผลดีคือ ผู้รับปลายทางน่าจะได้รับเงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ต่อไปการเดินทางไปต่างประเทศหรือการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ สามารถทำได้โดยใช้สกุลเงินเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องแลกเงินหรือถือเงินสด หรือไม่จำต้องใช้บัตรเครดิตที่จะมีค่าธรรมเนียมที่แพงอยู่ เช่นอัตราแลกเปลี่ยนเป็นต้น การเดินทางขึ้นรถ หรือการเดินทางโดยรถสาธารณะ การจ่ายค่ากาแฟ ต่างๆ ก็สามารถจ่ายผ่าน Digital Wallet ที่เก็บเงิน Digital ไว้ผ่านโทรศัพท์มือถือของเราอย่างง่ายดาย ไม่ว่าใครที่สามารถเข้าถึง Internet ได้ก็สามารถใช้ระบบการเงินใหม่นี้ได้ด้วยเช่นกัน

แล้วถามว่า เงิน Digital สกุลนี้จะน่าเชื่อถือหรือไม่?

Cryptocurrency โดยทั่วไปจะถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีสินทรัพย์อะไรมาสำรอง Backup เงินสกุลเหล่านั้นอยู่ข้างหลัง ดังนั้นที่ผ่านมาเราจะเห็นเงิน Cryptocurrency ผันผวนได้อย่างมาก ง่ายต่อการนำมาเก็งกำไร เพราะมูลค่าที่แท้จริงยังยากต่อการค้นหา แต่คนสร้างเงินสกุล LIBRA ว่ากันว่า จะมีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมา อาจจะเป็นเงินสกุลต่างๆ Fiat Money Bank Deposits Government Securities เป็นสิ่งที่สำรอง Backup ค่าเงิน Digital นี้ให้มีความมั่นคงน่าเชื่อถือ แบบนี้ก็จะเหมือนกับสมัยก่อน ที่เงินดอลลาร์จะถูก Backup สำรองโดยมีทองคำกันเอาไว้ข้างหลังจึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์ได้รับความน่าเชื่อถือ และเป็นที่นิยมใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน สินค้าและบริการต่างๆ ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ จะเป็น Disruptor ตัวจริงที่มีทั้ง Technology, Resources และ Money สถาบันการเงินทั่วโลกจะต้องปรับตัวให้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อจะได้ไม่ตกเทรนด์ของภาวะการแข่งขันครับ ดังนั้นควรจับตามองให้ดี

“Libra ไม่ช่วยเรื่องคนไร้บัญชี”

สื่อใหญ่ไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times) หยิบสถิติตอกหน้าเฟซบุ๊ก (Facebook) ระบุว่าคำอ้างเรื่องเงินสกุลใหม่ลิบรา” (Libra) จะช่วยอุตช่องว่างในกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารนั้นอาจไม่เป็นความจริง เพราะสถิติทางการชี้ว่าเหตุผลหลักของการไม่มีบัญชีในคนกลุ่มนี้คือการมีเงินไม่พอที่จะรักษาบัญชี ทางแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การสร้างเงินสกุลใหม่ในอินเทอร์เน็ตอย่างที่ Libra ทำ 

นอกจากนี้ Libra ยังถูกมองว่าน่ากังวลเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสังคมไร้เงินสด ทั้งกลุ่มเป้าหมายอย่างผู้สูงวัยคนยากไร้ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารที่อาจตามไม่ทันในโลกการค้ายุคใหม่ และความเสี่ยงเรื่องการถูกแทรกแซงได้ง่ายจากหลายปัจจัย 

ไม่ว่าโลกจะสงสัยในเงินสกุล Libra เพียงใด แต่ยักษ์ใหญ่บริการสตรีมมิ่งอย่างสปอติฟาย (Spotify) ซึ่งขานรับร่วมเป็นพันธมิตรในสมาคม Libra Association เชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นฐานบริการสมาชิกได้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าใหม่

สำหรับ Libra เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ Facebook วางแผนให้บริการอย่างเป็นทางการในปีหน้า (2020) เชื่อว่าผู้ใช้ Facebook จำนวน 2 พันล้านคนจะใช้สกุลเงินใหม่เพื่อซื้อสิ่งของหรือส่งเงินไปต่างประเทศเป็นประจำ

การสำรวจของสถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) เมื่อปี 2017 ระบุชัดว่าเหตุผลใหญ่ที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีบัญชีธนาคาร คือการไม่มีเงินมากพอที่จะรักษาบัญชี

การสำรวจของสถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) เมื่อปี 2017 ระบุชัดว่าเหตุผลใหญ่ที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีบัญชีธนาคาร คือการไม่มีเงินมากพอที่จะรักษาบัญชี


สถิติในสหรัฐฯ ชี้ว่า 34% ของผู้ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารให้เหตุผลว่ามีเงินไม่พอ ขณะที่ 15.6% ระบุว่าไม่ทราบ อีก 12.6% ระบุว่าไม่ไว้วางใจธนาคาร ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Facebook กำลังจัดการกับปัญหาแบบไม่ตรงจุด เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยการใส่บัญชีธนาคารบนอินเทอร์เน็ต การสร้างเงินสกุลใหม่จึงอาจไม่ตอบโจทย์ปัญหานี้

ที่สำคัญ การสำรวจพบว่ากลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือมีบัญชีธนาคารแต่ยังใช้บริการกู้รายวันแล้วยอมเสียค่าดอกเบี้ยสูงมหาโหดนั้นเริ่มลดจำนวนลง เฉพาะในสหรัฐฯ ตัวเลขนี้เริ่มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011 คาดว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เป็นผลที่ตามมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปี.