10 ข้อรู้จัก “Libra” เงินดิจิทัลสะเทือนโลกให้ดีขึ้น

หลายคนเชื่อว่า ธุรกิจการเงินโลก กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก หลังจาก Facebook ประกาศออกเงินสกุลดิจิทัลลิบราที่ใช้ง่ายคล่องลดต้นทุนด้านการเงินและไม่มีค่าธรรมเนียม ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเข้ามาอีกมหาศาล

1. เปิดใช้กลางปี 2020

นับเป็นก้าวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลกสกุลดิจิทัล และเทคโนโลยีบล็อกเชน เมื่อเฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศยืนยัน เปิดตัวโครงการลิบรา (Libra)” สกุลเงินดิจิทัล พร้อมใช้อย่างเป็นทางการในปีหน้า (2020) 

2. ชื่อและโลโก้

การเลือกชื่อ Libra นั้นมีหลายเหตุผล นอกจากโลโก้แสดงความหมายที่เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโรมันที่เกี่ยวข้องกับเหรียญแล้ว ชื่อนี้ยังมาจากเครื่องหมายทางโหราศาสตร์รูปตาชั่งที่แสดงถึงความสมดุล และอีกส่วนหนึ่งมาจากคำภาษาฝรั่งเศส “libre” ซึ่งหมายถึงอิสรภาพ รวมกันเป็นเงินที่ผู้ถือจะได้รับความยุติธรรมและอิสระ ตามแนวคิดหลักของโครงการนี้

เชื่อว่าผู้ใช้ Facebook จำนวน 2 พันล้านคนทั่วโลกจะใช้สกุลเงินใหม่เพื่อซื้อสิ่งของหรือส่งเงินไปต่างประเทศเป็นประจำ

3. เฟซบุ๊ก ร่วมมือกับ 27 องค์กร 

เช่นวีซ่า” (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) รวมถึงบริษัทอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่างอีเบย์ (eBay), สปอติฟาย (Spotify) และอูเบอร์ (Uber)

โดยทั้ง 28 ราย ร่วมกันสร้างกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ชื่อสมาคมลิบรา ”Libra Association” ตั้งอยู่ในเจนีวา เพื่อดูแลสกุลเงิน Libra ในการใช้จ่ายเงินสกุลลิบราจะถูกควบคุมดูแลโดยพันธมิตร 28 ราย

สมาคม Libra ต้องการเพิ่มจำนวนพันธมิตรให้ถึงระดับ 100 องค์กร ก่อนที่สกุลเงินดิจิทัล Libra จะเปิดตัว โดยในเอกสารยืนยันว่าพันธมิตรแต่ละรายจะมีอำนาจการโหวตเท่ากัน

4. ใช้เทคโนโลยี Blockchain

Libra ใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นพื้นฐานด้านวิศวกรรม ช่วยกระจายอำนาจให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายมีส่วนร่วมในการบันทึกข้อมูลที่มาของเงินแบบสาธารณะ เช่นเดียวกับ Bitcoin และ Ethereum จึงทำให้เกิดธุรกรรมที่ปลอดภัยเป็นการกรจายโดยไม่มีใครใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จ

5. Libra ต่างจาก bitcoin ตรงไหน

แม้จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลเหมือน bitcoin และคอยน์อื่นๆ แต่ Libra มีความแตกต่างที่สำคัญคือการถูกดูแลโดยหน่วยงานกลาง และมูลค่าของมันจะผูกติดอยู่กับสินทรัพย์อื่น 

เบื้องต้นนักวิเคราะห์มองว่า สกุลเงินที่มีความผันผวนต่ำสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับประชาชนที่ไม่ต้องการใช้สกุลเงินที่อยู่ในภาวะเงินเฟ้อรุนแรงระดับวิกฤต ทำให้ Libra ถูกมองว่ามีอนาคตสดใส

6. Libra ยังสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส

ซึ่งหมายความว่าบริษัทหรือบุคคลใดก็สามารถสร้างธุรกิจที่เข้ากับกรอบการทำงานของเงิน Libra ได้เสรี ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคสามารถซื้อเงิน Libra โดยใช้เงินดอลลาร์แล้วเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล เงิน Libra นี้สามารถถูกส่งไปยังสมาชิกในครอบครัวผ่านแอปพลิเคชั่นสื่อสารอย่าง WhatsApp หรือจะใช้จ่ายบิลในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินแข็งค่า

7. ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล

เพื่อให้การโอนเงิน Libra ที่จะแจ้งเกิดในปีหน้า Facebook ใช้วิธีแจ้งเกิดแอปพลิเคชั่นชื่อคาลิบรา” (Calibra) หน้าที่หลักคือการเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถโอนเงินระหว่างกันได้ ด้วยค่าธรรมเนียมราคาต่ำมากถึงฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

8. ต้นทุนโอนเงินลดลง

ขณะนี้ต้นทุนเฉลี่ยในการส่งเงินไปทั่วโลกอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากลดต้นทุนการทำธุรกรรมลงได้ ราคาค่าใช้บริการออนไลน์ เช่น การเรียกรถผ่าน Uber ก็อาจต่ำลงด้วย

9. รับเงินเดือนเป็น Libra

เป้าหมายใหญ่ของบริษัทคือการผลักดันให้ Libra เป็นที่ยอมรับ หากประสบความสำเร็จก็จะมีโอกาสอื่น ในการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มธุรกิจของ Facebook และเพื่อให้เป็นไปอย่างคาดหวัง มีรายงานว่า ขณะนี้ Facebook เสนอให้พนักงานที่ทำงานกับโครงการ Libra รับเงินเดือนเป็นสกุลเงิน Libra แล้ว

10. แม้ว่า Libra จะไม่ได้ผูกเข้ากับเฟซบุ๊ก เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยข้อมูล

แต่ Libra ถูกมองว่าน่ากังวลเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสังคมไร้เงินสด ทั้งกลุ่มเป้าหมายอย่างผู้สูงวัยคนยากไร้ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารที่อาจตามไม่ทันในโลกการค้ายุคใหม่ และความเสี่ยงเรื่องการถูกแทรกแซงได้ง่ายจากหลายปัจจัย.


ข่าวเกี่ยวเนื่อง 

• Disruptor ตัวจริง! แบงก์ จับตา “Libra” กับอนาคตของสกุลเงินโลก?