สรุปประเด็นสำคัญจากรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ 5G ทั่วโลก “Ericsson Mobility” ฉบับล่าสุดเดือนมิถุนายน 2019 พบศักยภาพผู้บริโภคไทยไม่ธรรมดา ส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเงินเพิ่ม 30% เพื่อใช้ 5G และจะย้ายค่ายไปหาโอเปอเรเตอร์ที่มี 5G ภายใน 6 เดือนหากโอเปอเรเตอร์เดิมไม่มี 5G คาดปริมาณการใช้ข้อมูลเฉลี่ยในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า เชื่อคนไทยจะใช้เวลาเพิ่มอีก 3 ชั่วโมง เป็น 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อดูวิดีโอบนมือถือและอุปกรณ์พกพา
ไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่ถูกสุ่มกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้สมาร์ทโฟน 35,000 ราย ตั้งแต่อายุ 15 ถึง 69 ปี เพื่อสรุปเป็นรายงาน Ericsson Mobility โดยกลุ่มตัวอย่างไทยมีจำนวนราว 1,500 คน เชื่อว่าจะสะท้อนความจริงของมุมมองผู้ใช้ได้มากกว่า 19 ล้านคน
ในรายงานฉบับนี้ Ericsson เก็บข้อมูลบนพื้นฐานความเชื่อยุคเก่า กลายเป็น 4 ข้อสรุปที่สวนทางกับ Myth ดั้งเดิม ตอกย้ำว่า 5G ไม่ต้องรอนานหลายปีกว่าจะเห็นผลประโยชน์อย่างที่หลายคนคิด เพราะกรณีศึกษาเกี่ยวกับ 5G สำหรับผู้บริโภคนั้นเกิดขึ้นจริงแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายอุตสาหกรรมตื่นตัว ทำให้ 5G ไม่ได้ใช้เฉพาะบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น และสุดท้ายคือพฤติกรรม 5G ของผู้บริโภค จะผลิกฝ่ามือจนต่างจากยุค 2G, 3G และ 4G ที่ผ่านมา
คนไทยไม่ปลื้มบรอดแบนด์บ้าน
วุฒิชัย วุติอุดมเลิศ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายเน็ตเวิร์กโซลูชัน บริษัท อิริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่จะเกิดในยุค 5G คือการย้ายค่าย ซึ่งแปลว่าโครงสร้างเป็นส่วนสำคัญ เพราะสะท้อนความพร้อมของโครงข่ายและความคาดหวังของผู้บริโภค การสำรวจพบว่า 52% ของผู้บริโภคในประเทศไทย มีความรู้สึกว่ายังไม่พอใจกับบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่บ้านและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการในอีก 6 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ 50% ของผู้บริโภคไทยจะย้ายค่ายไปหาโอเปอเรเตอร์ที่มี 5G ภายใน 6 เดือนหากโอเปอเรเตอร์เดิมไม่มี 5G
การสำรวจพบอีกว่า 40% ของผู้บริโภคในประเทศไทยคาดหวังว่าบริการ 5G จะสามารถออกสู่ตลาดได้จริงภายใน 2 ปีอีกข้างหน้า โดยหวังว่าจะใช้ 5G ในพื้นที่กลางเมือง ตามแนวขนส่งสาธารณะ ย่านช็อปปิ้ง พื้นที่สำนักงาน และสนามกีฬาหรือสถานที่จัดคอนเสิร์ต เหตุผลที่ทำให้คนไทยหวังให้เกิด 5G ในพื้นที่ “hot zone” เหล่านี้ คือเพราะการนำไปเปรียบเทียบกับ Wi-Fi ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่คนไทยมองว่าควรให้บริการ 5G ก่อน
ในมุม 5G สำหรับผู้บริโภค การสำรวจพบว่าบริการ eMBB หรือบริการที่เน้นความเร็วในการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Enhanced Mobile Broadband) และอุปกรณ์เซนเซอร์ในบ้านอัจฉริยะ เป็น 2 สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยยินดีที่จะจ่ายค่าบริการ โดยผู้บริโภคมีความคาดหวังว่าบริการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 2 ปีข้างหน้า
ตัวเลขน่าสนใจคือกว่า 83% มีความสนใจในบริการและยินดีที่จะจ่ายค่าบริการ 5G ที่เพิ่มขึ้น โดย 1 ใน Top 5 อันดับแรกที่ผู้บริโภคในประเทศไทยคาดหวังอยากให้รวมอยู่ในบริการ 5G คือ 5G hot zone เพื่อให้สามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์แบบ full HD ได้ภายในไม่กี่วินาที
จับตา Top 5 บริการใหม่ยุค 5G
นอกจาก 5G hot zone บริการอื่นในกลุ่ม Top 5 ที่คนไทยหวังได้เห็นในยุค 5G ได้แก่บริการ Diorama, บริการ 3D hologram, บริการ 5G สำหรับความบันเทิงในรถยนต์ และบริการเซนเซอร์ในบ้านอัจฉริยะ ที่ชาว 5G จะสามารถเชื่อมต่อจอมอนิเตอร์ต่าง ๆ ภายในบ้านเข้าด้วยกันเพื่อความง่ายในการจัดการและรักษาความปลอดภัย
วิดีโอ 3 มิติเสมือนจริงที่เรียกกันว่า Diorama เป็นวิดีโอที่ผู้ชมจะสามารถเลือกมุมมองของการดูกีฬาบนหน้าจอแท็ปแล็ตได้เอง จากกล้องมุมต่าง ๆ เช่น มุมมองจากผู้เล่น ผู้ตัดสิน หรือผู้ชม พร้อมกับดูคะแนนหรือสถิติในปัจจุบันได้ อีกทั้งยังสามารถแชร์หน้าจอไปหาคนอื่นได้อีกด้วย ขณะที่บริการ 3D hologram คือบริการวิดีโอคอลล์ที่มีเทคโนโลยีฉายภาพแบบใหม่ให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นหน้าคู่สนทนาที่โทรเข้ามาด้วยโทรศัพท์แบบโฮโลแกรม 3 มิติ ให้ความรู้สึกเสมือนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน
“88% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยเชื่อว่าจะสื่อสารทางโทรศัพท์ในแบบโฮโลแกรม 3 มิติ เป็นประจำทุกสัปดาห์ผ่าน 5G ขณะที่ราว 13 % คาดว่าการโทรศัพท์แบบ Video call ธรรมดาจะถูกแทนที่อย่างสิ้นเชิงด้วยการสื่อสารแบบโฮโลแกรม 3 มิติ“
อีกจุดน่าสนใจคือ “5G สำหรับความบันเทิงในรถยนต์” นอกจาก 5G จะทำให้ผู้โดยสารในรถสามารถชมวีดีโอ 4K ได้ต่อเนื่อง หรือสามารถหยุดพักและกลับมาชมต่อได้ ผู้โดยสารยังสามารถช้อปปิ้งออนไลน์และเล่นโซเชียลมีเดียได้ต่อเนื่องเช่นกัน ขณะเดียวกันก็อาจได้เห็นภาพจากกล้องติดรถยนต์ของรถที่แล่นอยู่ด้านหน้า เป็นการมองเห็นข้ามช่วงรถที่อาจจะป้องกันอุบัติเหตุรถชนต่อเนื่องได้
“ผู้บริโภคในประเทศไทยมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นอีก 30% (โดยเฉลี่ย) สำหรับบริการ 5G เหล่านี้ โดยส่วนใหญ่ยอมจ่ายเพิ่ม 150 บาทต่อเดือน ขณะที่คนที่อยากใช้ 5G ก่อน จะยอมเสียค่าบริการเพิ่ม 175 บาทต่อเดือน“
จุดพลุสินค้าใหม่ พฤติกรรมเปลี่ยนรับยุค 5G
จะไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟนที่ต้องพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งาน 5G แต่ยังมีอุปกรณ์กลุ่มอื่นที่จะมาปฏิวัติตลาดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สำรวจพบ 76% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยคาดหวังว่าจะได้ใช้แว่น AR ภายในปี 2025
การรอแว่น AR และปัจจัยอื่นทำให้ทีมสำรวจประเมินว่าผู้บริโภคในประเทศไทยจะใช้เวลาดูวิดีโอเพิ่มมากขึ้นประมาณ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดย 1 ใน 3 ชั่วโมงส่วนเพิ่มขยายที่ดูวิดีโอบนมือถือและอุปกรณ์พกพานี้ จะเป็นการใช้งานผ่านอุปกรณ์แว่น AR และ VR
จากปี 2018 ข้อมูลระบุว่าคนไทยดูวิดีโอเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อคำนวณว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 3 ชั่วโมงในปี 2022-2025 ก็แปลว่าคนไทยจะดูวิดีโอไม่ต่ำกว่า 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ตัวเลขนี้สอดคล้องกับตลาดโลก การสำรวจพบว่าวิดีโอเป็นแอปพลิเคชันหลักที่ชาวโลกใช้งานดาต้ามากที่สุด คิดเป็น 60% ของปริมาณดาต้าที่ใช้งานกัน คาดว่าต่อไปสัดส่วนนี้จะเพิ่มอีกเป็น 74% ในปี 2024 โดยแอปพลิเคชันกลุ่มโซเชียลจะยังมีปริมาณการใช้งานคงที่ไม่ลดหรือเพิ่ม แต่อาจจะมีแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมาเพิ่มเช่น แอปรับส่งลิงก์เพื่อให้ชมวิดีโอบนคลาวด์ ซึ่งจะทำให้การชมวิดีโอแตกต่างไปจากปัจจุบัน และส่วนที่ลดลงคือการเรียกดูเว็บไซต์ผ่านเบราว์เซอร์ เพราะผู้ใช้จะไปออนไลน์บนแอปพลิเคชันแทน
ตัวเลขล่าสุดประจำไตรมาส 1 ปี 2019 พบว่าโลกมีจำนวนผู้สมัครใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 7.9 พันล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้สมัครใช้บริการรายใหม่ 44 ล้านราย โดย 12 ล้านรายมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (ไม่นับรวมจีนและอินเดีย)
การวิจัยคาดการณ์ว่า 5G จะมาเร็วกว่าเมื่อเทียบกับตอนเปิดให้บริการ 4G เชื่อว่าภายในปี 2024 ผู้สมัครใช้บริการ 5G จะมีจำนวนมากถึง 1.9 พันล้านราย ส่งให้เครือข่าย 5G ครอบคลุมได้ถึงประมาณ 65% ของจำนวนประชากรทั้งโลก.