เหตุการณ์ภัยพิบัติใน “เฮติ” ไม่เพียงแต่นำความสูญเสียและความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงแล้ว เหตุการณ์ไม่คาดฝันในครั้งนี้ยังทำให้แต่ละแบรนด์ รวมทั้งเหล่า Celebrity ฉายภาพความเป็น “แบรนด์ใจดี” หรือ Generosity Brand ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลกในเวลานี้
เหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงปอร์โตแปรงซ์ สาธารณรัฐเฮติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ซึ่งคร่าชีวิตชาวเฮติกว่า 150,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน นอกจากจะถูกจัดเป็นประเทศยากจน (80% ของประชากรทั้งสิ้น 9 ล้านคน ดำรงชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นวัดระดับความยากจน) และมีปัญหาการเมืองเรื้อรังแล้ว ครั้งนี้ดูจะเป็นหายนะที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ของเฮติ
แม้จะเป็นประเทศที่อยู่ห่างไกล แต่ภัยพิบัติครั้งนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “Incredible Generosity” โดยเฉพาะยอดบริจาคออนไลน์ผ่านสภากาชาดอเมริกันเพียงแห่งเดียวก็ปาเข้าไปกว่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ทั่วโลกต่างแสดงน้ำใจต่อเฮติอย่างต่อเนื่อง เฉพาะยอดเงินบริจาคผ่าน UN มีกว่า 562 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในไทยก็ไม่น้อยหน้า การช่วยเหลือเกิดขึ้นอย่างรีบด่วน ไม่แพ้ประเทศไหน
ที่น่าสนใจ แทบทุกแบรนด์ต่างใช้ Social Media อย่าง Facebook และ Twitter เป็นเครื่องมือในการเชิญชวนให้ลูกค้าของตนเองร่วมบริจาคให้กับเฮติเพื่อมนุษยธรรม ดาราฮอลลีวู้ดอย่าง เบน สติลเลอร์ ลินเซย์ โลฮาน และ อดัม แลมเบิร์ท ต่างใช้ Twitter ของตนเองเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับแฟนคลับของพวกเขา
ด้าน Tim Calkins ศาสตราจารย์ด้านการตลาดแห่ง Kellog’s School of Management บอกว่า “นี่เป็นช่วงเวลาวิกฤตใหญ่หลวง แต่ก็เป็นเวลาที่นักการตลาดทั้งหลายจะรุกเข้าไปสร้างแบรนด์ แต่ต้องทำด้วยความจริงใจและรวดเร็ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือ และความมีน้ำใจอย่างแท้จริง”
นักการตลาดต้องมั่นใจว่าเม็ดเงินที่บริจาคหรือสิ่งของที่นำไปช่วยเหลือนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันแล้วใกล้เคียงกันหรือดูยิ่งใหญ่กว่า เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจถูกคู่แข่งโชว์เหนือและดึงความสนใจไปเสียหมด บางรายอาจเริ่มต้นบริจาคที่เงินจำนวนเพียง 25,000 เหรียญสหรัฐ แต่เมื่อหยั่งเชิงสถานการณ์ความรุนแรงและท่าทีของคู่แข่งแล้ว ก็บริจาคเพิ่มเติมอีก 500,000 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น
ส่วนแบรนด์ที่ข้นแค้นล่ะจะทำอย่างไร ตัวอย่างจาก United Airline คือคำตอบที่ดี เพราะเมื่อยังไม่พ้นวิกฤต สายการบินแห่งนี้บริจาคเงินเพียง 50,000 เหรียญสหรัฐ แต่ก็ดึงให้ผู้โดยสารสามารถบริจาคไมล์ร่วมด้วย เป็นต้น หรือ American Airlines ก็ประกาศผ่าน Twitter ว่ายินดีลำเลียงแพทย์และพยาบาลไปปฏิบัติภารกิจยังเฮติโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
Generosity Trend มาแรง
ในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เฮติ ผลจาก Google Search พบว่า 5 ใน 10 คำค้นสูงสุดทั่วโลก มีคำว่า Haiti อยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต่างให้ความสนใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว แบรนด์เด่นแบรนด์ดังทั่วโลกอยู่นิ่งกับที่ไม่ได้
จากการสำรวจและเก็บข้อมูลของ POSITIONING พบว่า แทบทุกแบรนด์จะบริจาคผ่านองค์กรการกุศลระดับนานาชาติ โดยแบรนด์ใหญ่อย่างพีแอนด์จี ยูนิลีเวอร์ เป๊ปซี่ โค้ก เนสท์เล่ ฯลฯ ล้วนจัดสรรงบบริจาคจากกองทุนเพื่อสังคมของตนเองที่ดำเนินการอยู่แล้วทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ Generosity ที่กระตุ้นให้พนักงานรู้สึกมีความสุขในการทำงาน เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการทำภารกิจเพื่อสังคมในนามขององค์กรอันเป็นที่รัก
มายด์แชร์รายงานว่า ปี 2553 จะเป็นปีทองของ Generosity เพราะคนในสังคมต่างมีแนวโน้มที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อตนเองและสังคม มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น ความใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับบุคคลรอบข้างมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ จนถึงการปลูกต้นไม้ ไม่เว้นแม้กระทั่งวัยรุ่น เลยไปถึงวัยหลังเกษียณ ความรู้สึกที่ต้องให้ได้เพิ่มมากขึ้นๆ
ทั้งนี้ แบรนด์ Generosity ให้เป็น Mindset ของคนในองค์กรให้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่เสแสร้งแกล้งทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพราะการเป็นแบรนด์ใจดี ทำให้ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ก่อเกิด “ความสุข” ซึ่งจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมให้เติบโตต่อไป
นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์สินค้า และนักการตลาด ที่จะขี่ไปกับกระแสนี้
แบรนด์ไทย “ใจดี”
ถึงแม้ชื่อของ “เฮติ” ดูจะไม่เป็นที่คุ้นหูคนไทยเท่าใดนัก ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ห่างกันคนละซีกโลก มิหนำซ้ำมูลค่าการติดต่อค้าขายยังน้อยมาก แต่ไทยกลับตื่นตัวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเฮติอย่างมากและรวดเร็ว ระดับรัฐบาลและเอกชน ถึงขั้นติดอันดับประเทศที่ช่วยเหลือเฮติมากที่สุด
“เป็นเพราะเราผ่านเหตุการณ์สึนามิมาแล้ว ทำให้คนไทยรู้สึกเห็นใจคนที่ต้องเจอกับภัยพิบัติ
ในลักษณะไม่ต่างกัน ฟีดแบ็กเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเร็วมาก ” วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส สะท้อน “สิ่งที่ได้แน่ๆ คือ พนักงานในองค์กร ทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ในองค์กรที่ดีช่วยเหลือสังคม และการร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน”
ช่อง 3 ระดมยอดบริจาค 166 ล้านบาท
กลายเป็นแชมป์ระดมทุนไปแล้วสำหรับช่อง 3 เมื่อปิดยอดบริจาค “กองทุนคนไทยช่วยผู้ประสบภัยเฮติ” ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ ยอดบริจาค 11 วันได้เงินไป 166 ล้านบาท นับเป็นยอดบริจาคจากเอกชนที่สูงที่สุดซึ่งมองให้กับโครงการ World Food Program เพื่อช่วยเหลือเฮติ
โดยระดมโปรโมตผ่านรายการข่าวทุกรายการของครอบครัวข่าว 3 นอกเหนือจากประชาชนทั่วไปแล้วยังมีหน่วยงานเอกชนต่างๆ ร่วมบริจาคผ่านช่อง 3 ด้วย อาทิ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ปตท. และไทยแอร์เอเชีย เป็นต้น
ที่มานั้นเกิดจากสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้พูดคุยกับ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ให้คำปรึกษาว่าคนไทยจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชาวเฮติอย่างไร เพราะถึงแม้คนไทยจะไม่รู้จักเฮติว่าอยู่ส่วนใดในโลก แต่เหตุการณ์สึนามิ ไทยก็ได้รับความช่วยเหลือจากทั่วโลกเช่นกัน โดยมีผู้บริจาคตั้งแต่ 50 บาท ถึง 2 ล้านบาท
“ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสื่อมีพลังอำนาจในการสร้างสรรค์ เมื่อประชาชนคนดูเชื่อในพลังอำนาจของเราก็จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อสังคมโลกได้อย่างมหาศาล”
ด้านวิบูลย์ ลีรัตนขจร บอกถึงสาเหตุที่ช่อง 3 ตอบรับต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรวดเร็วว่า “เพราะเราอยู่กับข่าวตลอดเวลา เป็นเรื่องของหน้าที่ สะท้อนถึงความสามัคคีของทีมงานและองค์กร ตลอดจนเป็นช่องทางให้คนไทยได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วย เพราะคนไทยเองเคยประสบภัยสึนามิเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ยังจดจำ และเข้าถึงความสูญเสียได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ทางครอบครัวข่าว 3 ยังได้ส่ง กรุณา บัวคำศรี และ กฤต เจนพาณิชยการ ติดตาม WFP ไปทำข่าวที่เฮติ เพื่อนำเสนอ Exclusive Content อีกด้วย
กาละแมร์ แบรนด์ลุ่มลึกขึ้น
Twitter ของกาละแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ ในช่วงนี้มีเรื่องอัพเดทของเฮติให้ Follower ได้ติดตามรับทราบข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา แบรนด์ของกาละแมร์ที่ผ่านมาแม้จะเป็นพิธีกร ผู้ประกาศข่าว แต่ Brand Characteristic ของเธออาจดูสนุกสนาน เฮฮา อาจดูจริงจังบ้างในประเด็นเฟมินิสต์
แต่กับการเป็นแม่งาน “น้ำใจคนบันเทิงช่วยผู้ประสบภัยเฮติ” กาละแมร์ชักชวนศิลปินไทยร่วม 100 ชีวิต มาร่วมงานคอนเสิร์ตนี้ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงสามารถจำหน่ายเสื้อยืดแสกนคำว่า Help Hope Haiti ตัวละ 300 บาทจำนวน 3,000 ตัวหมดภายใน 30นาที เบ็ดเสร็จได้เงินบริจาคกว่า 3 ล้านบาท
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้แบรนด์ “กาละแมร์” ดูลุ่มลึก มีมิติและมีคุณค่าต่อสังคมในแง่ของการเป็น Generosity Brand อย่างเด่นชัด จากนี้ไปหากเกิดภัยพิบัติที่ใดและต้องการระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยชื่อของกาละแมร์จะได้รับความคาดหวังเป็นอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน
3 โอเปอเรเตอร์มือถือเสือปืนไว
3 ค่ายโอเปอเรเตอร์เมืองไทย ก็ถูกจัดเป็นเสือปืนไว เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือเฮติ ด้วยการจับมือกับ “สภากาชาดไทย” ผ่านครอบครัวข่าว 3 โดยเสียค่าบริการข้อความละ 10 บาท ขณะที่ดีแทคและทรูมูฟบริจาคสมทบอีกรายละ 500,000 บาท งานนี้เอไอเอสและดีแทคตีคู่กันมาในแง่ของความรวดเร็ว ขณะที่ทรูมูฟเดินเกมตามหลัง
ปัจจุบัน ทำยอดเงินบริจาคจากค่า SMS ครั้งนี้มียอดมากกว่า 10 ล้านบาท
ดีแทคสร้างแบรนด์คนดี
ดีแทค เป็นรายแรกที่ออกมาประกาศความช่วยเหลือก่อนหน้าเอไอเอสได้วันเดียว พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการ สำนึกรักบ้านเกิด ดีแทค บอกว่า โครงการช่วยเหลือสังคมป็นนโยบายที่ทั้งผู้บริหารเทเลนอร์ และผู้บริหารฝั่งไทยที่ให้ความสำคัญมาตลอด เมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้น ฟีดแบ็กในการช่วยเหลือจึงได้ทันที ไม่ต้องรอการอนุมัติงบจากซีอีโอก่อน แต่จะแจ้งให้ทราบในภายหลัง
นอกจากนี้ ด้วยความที่ดีแทคให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมต่อเนื่อง โดยมีทั้งโครงการระยะยาว เช่น โครงการสำนึกรักบ้านเกิด และโครงการระยะสั้น เช่น อุทกภัย ไฟไหม้ น้ำท่วม และมีการกระจายการช่วยเหลือไปทั่วประเทศ กิจกรรมช่วยเหลือสังคมจึงมีขึ้นต่อเนื่องทุกวัน การให้ช่วยเหลือจึงทำได้รวดเร็ว และไม่จำเป็นว่าโครงการเหล่านั้นจะช่วยเพิ่มยอดขายได้หรือไม่ก็ตาม
การช่วยเหลือสังคม และการสร้างแบรนด์คุณธรรม นับเป็นเทรนด์สำคัญของโลก เพราะสามารถสร้างความสุขได้อย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งของสร้าง Human Touch ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกองค์กร เป็นเรื่องจำเป็นมากในยุคนี้ และยังเชื่อมโยงกับการสร้างแบรนด์คนดี ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของดีแทคด้วย
เอไอเอสเป็นช่องทางบริจาค
วิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด บอกกับ POSITIONING ว่า การช่วยเหลือของเอไอเอสในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการเป็นสะพานเชื่อมให้กับลูกค้าเอไอเอสเกือบครึ่งประเทศกว่า 29 ล้านราย ได้มีช่องทางที่สะดวกในการบริจาค โดยมองว่าเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และยินดีที่ร่วมกันทำความดีของแต่ละแบรนด์
“เป็นการยกระดับ CSR ไม่ได้ฉาบฉวย แต่ให้ประโยชน์จริงๆ แข่งกันทำความดี ก๊อบปี้กันทำความดีไม่มีปัญหา ทำมากทำน้อยดีกว่าไม่ทำ แต่ถ้าใครจะประชาสัมพันธ์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกบริษัทต่างต้องการ Corporate Image”
โดยเอไอเอสร่วมกับครอบครัวข่าว 3 และเปิดรับบริจาคผ่าน SMS เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 หลังจากเกิดเหตุ 9 วัน และสิ้นสุดในวันที่ 19 มีนาคมนี้ ขณะที่ดีแทคเปิดฉากก่อนหน้า 1 วัน ด้านทรูมูฟตามติดมาในวันที่ 22 มกราคม
เจเอสแอล
จัดงาน “07 โชว์ ตลาดนัดดาราช่วยเฮติ” งานนี้ กบ สุวนันท์ แม้ไม่ได้เป็นแม่งานโดยตรงแต่ก็ได้หน้าไปเต็มๆ เมื่อใจป้ำยอมเป็นสาวน้อยตกน้ำ ในงานของเจเอสแอล ซึ่งระดมเงินบริจาคได้ราว 1.2 ล้านบาท
ถึงแม้ “เจเอสแอลไม่ได้มีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจน แต่ในฐานะสื่อมวลชนที่อยู่ในวงการมากนาน เราต้องการใช้สื่อสร้างประโยชน์คืนให้กับสังคม เมื่อเกิดหตุการณ์สำคัญๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งทำมาแล้วเมื่อครั้งเกิดสึนามิ” วัชระ แวววุฒินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจเอสแอล บอก
ส่วนกรณีเฮติ ที่คนไทยตื่นตัวกันมาก วัชระเชื่อว่า เป็นเพราะเหตุการณ์นี้แทงใจคน และคนส่วนใหญ่รู้สึกโลกกำลังจะแย่ จึงต้องการช่วยเหลือในระดับสากล ทางเจเอสแอลเองก็ได้รับคำสั่งให้จากผู้บริหารระดับสูงให้ทำเต็มที่
Pepsi
กองทุนเป๊ปซี่ โค บริจาค 1 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงบริจาคน้ำดื่ม Aquarfina, Gatorade และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของเป๊ปซี่ โค ด้วย
Yum !
บริจาคเงิน 500,000 เหรียญสหรัฐ ผ่าน กองทุน World Hunger Relief ของยัมเอง แม้ยัมจะไม่ได้เปิดบริการร้านอาหารแบรนด์ใดในเฮติเลยก็ตาม
Virgin
นำโดย ริชาร์ด แบรนด์สัน นักสร้างแบรนด์ระดับโลก ระดมความช่วยเหลือจากเครือข่ายของเวอร์จิ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเวอร์จิ้น แอตแลนติก ขนส่ง Shelterbox กว่า 1,000 ชิ้น (แต่ละกล่องประกอบด้วยเต็นท์ 10 ผืน และอุปกรณ์ยังชีพอื่นๆ ที่จำเป็น) ส่วนเวอร์จิ้น อเมริกา ขนส่งคาร์โก้กว่า 40,000 ปอนด์ จากลอสแองเจลิส ขณะที่เวอร์จิ้น โมบาย ยูเอสเอ ร่วมกับสภากาชาดอเมริกันในการบริจาคเงินและในการส่ง SMS ฟรีระหว่างผู้ใช้งานในเฮติกับสหรัฐอเมริกา ด้านเวอร์จิ้น เวเคชั่น บริจาคเงิน 5 เหรียญสหรัฐทุกการจองผ่าน virginvacations.com ในทุกๆ เส้นทางทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2553
เป้าหมายของเขา คือ ใช้โอกาสนี้สร้างความหมายของการเป็นแบรนด์คุณธรรมให้กับเวอร์จิ้น
P&G
พีแอนด์จีบริจาคน้ำดื่ม PUR จำนวน 6 ล้านแพ็ก (60 ล้านลิตร) ไปยังเฮติ ซึ่งเป็นการบริจาคภายใต้ P&G Fund and Children’s Safe Drinking Water Fund ซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว ขณะที่พนักงานพีแอนด์จีทั่วโลกร่วมกันบริจาคกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐ
Unilever
ยูนิลีเวอร์ซึ่งมีโรงงาน 2 แห่งตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศเพื่อนบ้านของเฮติ บริจาคเงินจำนวน 500,000 เหรียญสหรัฐให้กับเฮติ ผ่านทางพันธมิตรคือ United Nations World Food Programme (WFP) ทั้งนี้ยูนิลีเวอร์เคยบริจาคเม็ดเงินก้อนโตมาแล้วในกรณีภัยพิบัติสึนามิที่อินโดนีเซียในปี 2547 และเฮอริเคนแคทรีนาถล่มอเมริกาในปี 2548
Nestle
ตอบรับเหตุการณ์ภัยพิบัตินี้อย่างทันควัน ในวันที่ 14 มกราคม 2553 เนสท์เล่ โดยสาธารณรัฐโดมินิกันบริจาคอาหารมูลค่า 150,000 เหรียญสหรัฐ และเงินจำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ความช่วยเหลือด้านอาหารและน้ำดื่มยังคงตามมาอย่างต่อเนื่องอีกมูลค่ากว่า 205,000 เหรียญสหรัฐ และพนักงานเนสท์เล่ทั่วโลกร่วมบริจาคครั้งนี้อีก 500,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เนสท์เล่ทำธุรกิจในเฮติมานานกว่า 50 ปีแล้ว
Apple
จับมือกับสภากาชาดอเมริกันให้ผู้ใช้งาน iTunes บริจาคเงินผ่านออนไลน์ตั้งแต่ 5-200 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังเปิดบริการดาวน์โหลดเพลงจากคอนเสิร์ต Hope for Haiti Now ด้วย
Hollywood
ดาราฮอลลีวู้ดระดับ A-List นำโดย จอร์จ คลูนี่ย์ จัดงาน Hope for Haiti Now ระดมเงินทุนผ่านสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง ในเวลา 2 ชั่วโมง ร่วมด้วยดาราและนักร้องดังคนอื่นๆ เช่น มาดอนนา บียอนเซ่ รีฮันน่า แมท เดมอน คลินท์ อีสท์วู้ด
Angelina Jolie & Bratt Pit
บริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญเพื่อความช่วยเหลือทางการแพทย์ นับเป็นดาวดังฮอลลีวู้ดรายแรกๆ ที่ตอบรับเหตุการณ์นี้อย่างทันควัน และด้วยตำแหน่งทูตองค์การสหประชาชาติของโจลี่ที่เคยเดินทางไปเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือเด็กยากไร้ของเฮติเมื่อ 3 ปีก่อนหน้า ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์นางเอกแม่พระของโจลี่ให้เด่นชัดยิ่งขึ้นด้วย
Lady Gaga
มีไอเดียที่แรงเหลือหลายกับการออกมาประกาศบริจาครายได้ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2553 ทั้งเดือนให้กับเฮติ พร้อมทั้งจัดทำเสื้อยืดจำหน่ายทางเว็บไซต์ในราคาตัวละ 25 เหรียญสหรัฐ เพื่อนำเงินรายได้ทั้งหมดไปสมทบการบริจาคในครั้งนี้ด้วย
นับเป็นรูปแบบการช่วยเหลือที่แตกต่าง โดดเด่น สะท้อนถึงคาแร็กเตอร์แรงเกินใครของเลดี้ กาก้า
How to be Generosity Brand
1. Be active แสดงความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ก่อนคู่แข่งได้ยิ่งดี เพราะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อสถานการณ์โลก นั่นหมายความว่าผู้บริหารต้องตัดสินใจทันทีและช่วยเหลือด้วยรูปแบบที่เหมาะสม ดังนั้นองค์กรที่มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะและมีความยืดหยุ่นจะได้เปรียบ
2. To get noticed ต้องวัดใจคู่แข่ง ช่วยเหลือให้เหนือกว่า หมายถึงชนะใจผู้บริโภคและได้รับการจดจำ เพราะทำดีทั้งทีต้องให้โลกเห็นด้วย
3. Always sincere แสดงความจริงใจด้วยการช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง
4. Mindset as a mission บรรจุไว้เป็นพันธกิจหลักของแบรนด์ หรือมีกองทุนที่ดำเนินการเพื่อสังคมอย่างจริงจังโดยเฉพาะไม่ใช่แค่เฉพาะกิจ
Timeline โศกนาฏกรรมโลกในรอบ 5 ปี
ปี 2004-2005
ภัยธรรมชาติ สึนามิ
ประเทศที่ได้รับผลกระทบไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า บังกลาเทศ มัลดีฟส์ โซมาเลีย เซเชลส์ แทนซาเนีย
จำนวนผู้เสียชีวิต (คน) 235,000-285,000
ปี 2005
ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว
ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ปากีสถาน อินเดีย อัฟกานิสถาน
จำนวนผู้เสียชีวิต (คน) 80,000
ปี 2008
ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว
ประเทศที่ได้รับผลกระทบ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน
จำนวนผู้เสียชีวิต (คน) 70,000
ภัยธรรมชาติ พายุไซโคลน
ประเทศที่ได้รับผลกระทบ พม่า
จำนวนผู้เสียชีวิต (คน) 150,000
ปี 2009
ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว
ประเทศที่ได้รับผลกระทบ เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย
จำนวนผู้เสียชีวิต (คน) 1,000
ปี 2010
ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว
ประเทศที่ได้รับผลกระทบ เฮติ
จำนวนผู้เสียชีวิต (คน) 150,000
ที่มา : POSITIONING รวบรวม