ส้ม…ผลไม้มงคล : คาดราคาเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 14-17…รับเทศกาลตรุษจีน

“ส้ม” จัดเป็นเครื่องเซ่นไหว้ที่สำคัญในเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากเป็นผลไม้ที่แสดงถึงความสุข หรือโชคลาภ ไม่เพียงแต่การนำส้มมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้เจ้าเท่านั้น ชาวไทยเชื้อสายจีนยังมีธรรมเนียมปฏิบัติโดยการมอบส้มให้เป็นของขวัญอวยพรกับญาติผู้ใหญ่ในวันตรุษจีนอีกด้วย จึงทำให้คาดการณ์ว่า ความต้องการส้มในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ยังคงมีมากเหมือนทุก ๆ ปี

จากความต้องการส้มที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจ พบว่า ในปีนี้ราคาส้มน่าจะทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 14-17 เมื่อเทียบกับราคาส้มจากช่วงปกติ1 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ ปริมาณส้มน่าจะเพียงพอกับความต้องการ เพราะยังอยู่ในช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาด รวมทั้งคาดว่า ปริมาณส้มราคาถูกจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนจะทะลักเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ผลผลิตส้มไทย…มีแนวโน้มลดลง
ในปีเพาะปลูก 2552/53 ผลผลิตส้มของไทยมีประมาณ 5 แสนตัน2 ลดลงประมาณร้อยละ 22.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหนึ่งมาจาก การลดพื้นที่ปลูกส้มของเกษตรกร เนื่องจาก ถูกส้มจีนซึ่งมีราคาถูกเข้ามาตีตลาดในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาส้มในประเทศลดลง เกษตรกรจึงเลิกปลูก และหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ราคาดีกว่าทดแทน

จากปัญหาดังกล่าว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาส้มมีแนวโน้มลดลงอย่างมากคือ เกษตรกรรายย่อย เนื่องจากไม่มีการควบคุมคุณภาพในการปลูก และการเก็บ ทำให้ส้มที่จำหน่ายได้มีราคาตกต่ำ และคุณภาพยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของตลาด ในขณะที่ส้มที่ปลูกโดยเกษตรกรรายใหญ่ที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดนั้น ยังคงจำหน่ายได้ในราคาดี

ดังนั้น ทางออกของเกษตรกรรายย่อย คือ การเร่งปรับกลยุทธ์ในการควบคุมคุณภาพของผลผลิต ทั้งเรื่องของการส่งเสริมให้ปลูกส้มพันธุ์ดี การดูแลรักษา ตลอดจนกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ส้มที่มีคุณภาพ และสามารถจำหน่ายส้มในราคาดี นอกเหนือจากนี้ ควรมีการเร่งพิสูจน์หรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคยอมรับส้มที่ปลูกได้ภายในประเทศควบคู่ไปด้วย

ผลผลิตส้มจีน…ยังคงเพิ่มขึ้น
ในปีเพาะปลูก 2552/53 ผลผลิตส้มของจีนมีประมาณ 23 ล้านตัน3 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจาก จีนขยายพื้นที่เพาะปลูกส้ม ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.0 ประกอบกับระบบการจัดการฟาร์มที่ดี ส่งผลให้ผลผลิตส้มของจีนในปี 2552/53 นี้ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลผลิตส้มของจีนส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนมกราคม ซึ่งตรงกับช่วงที่ผลผลิตส้มของไทยออกสู่ตลาดเช่นกัน โดยที่ส้มของจีนนั้นแบ่งเป็น

ส้มแมนดาริน (Mandarins) เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มจุก เป็นต้น
ส้มเปลือกบาง (Orange) หรือส้มเปลือกล่อน เช่น ส้มเกลี้ยง ส้มเช้ง เป็นต้น

โดยผลผลิตส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90.0 นั้นเป็นส้มเขียวหวาน และจีนถือว่าเป็นผู้ผลิตส้มเขียวหวานมากเป็นอันดับ 1 ของโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผลผลิตส้มเขียวหวานของจีนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ซึ่งจากตัวเลขสถิติปี 2552/53 พบว่า ผลผลิตส้มเขียวหวานมีประมาณ 13.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่ส้มเปลือกบางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกใหม่ และอายุของต้นส้มอยู่ในเกณฑ์ที่ให้ผลผลิตสูง ซึ่งจากตัวเลขสถิติปี 2552/53 พบว่า ผลผลิตส้มเปลือกบางมีประมาณ 6.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส้มนำเข้าจากจีน…ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ราคาส้มช่วงตรุษจีนไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นมาก
สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนในปี 2553 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจราคาส้ม และคาดการณ์ว่า ราคาส้มในช่วงเทศกาลตรุษจีนน่าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติประมาณ 5-10 บาท/กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14-17 และยังสูงกว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนของปี 2552 ประมาณ 5-10 บาท/กิโลกรัม โดยขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 40-70 บาท4 (ขึ้นอยู่กับชนิด และเกรดหรือขนาดของส้ม) เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลตรุษจีนของปีที่แล้วที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงหดตัว ดังนั้น คาดว่า ผู้บริโภคน่าจะมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้าปรับเพิ่มราคาสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ราคาส้มในช่วงเทศกาลตรุษจีนไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป คือ ปริมาณส้มที่นำเข้ามาจากจีน ซึ่งคาดว่า อาจจะทะลักเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก จากสถิติการนำเข้าส้มของไทยในปี 2552 ไทยนำเข้าส้มจากจีนกว่าร้อยละ 90.0 ของมูลค่าการนำเข้าส้มทั้งหมด หรือคิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 4.1 หมื่นตัน มูลค่า 909.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 119.6 และ 74.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่งผลให้ราคาส้มในประเทศไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนัก เนื่องจาก หากมีการปรับขึ้นราคาที่สูงมากเกินไป จะทำให้ส้มไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับส้มที่นำเข้ามาจากจีนได้

จะเห็นได้ว่า การเข้ามาตีตลาดในประเทศของส้มจีน ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยในช่วงเทศกาลตรุษจีนไม่เพิ่มขึ้นมากนัก อย่างไรก็ตาม ส้มจีนก็ไม่ได้เข้ามาทดแทนส้มไทยทั้งหมด โดยส้มจีนจะเข้ามาครองตลาดระดับกลางลงไปเนื่องจากมีราคาถูก ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่ยังคงต้องการซื้อส้มที่มีรสชาติ และคุณภาพดี มีการติดยี่ห้อของผู้ผลิต มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ก็ยังคงหันไปซื้อส้มของไทยถึงแม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่า

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ส้มของจีนบางส่วนนั้น ยังมีการลักลอบนำเข้าผ่านมาทางชายแดน ดังนั้น คาดการณ์ว่า ปริมาณส้มของจีนที่เข้ามาในตลาดไทยนั้นมีปริมาณมาก ซึ่งนับว่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาส้มภายในประเทศที่ทำให้มีแนวโน้มลดลง

ส่งออกส้มเริ่มมีแนวโน้มลดลง…เผชิญการแข่งขันกับส้มจากจีน
นอกจากส้มจีนจะเข้ามาตีตลาดส้มในประเทศแล้ว ส้มจีนยังเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดส่งออกอีกด้วย ในปี 2552 ปริมาณการส่งออกส้มของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ มีทั้งหมด 6.1 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 135.8 ล้านบาท ทั้งปริมาณ และมูลค่าลดลงร้อยละ 64.1 และ 56.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงเป็นประเทศเพื่อนบ้านกว่าร้อยละ 44.0 นอกจากนั้นก็ยังมีการ ส่งออกไปยังประเทศจีน ร้อยละ 23.8 และฮ่องกง ร้อยละ 17.4 เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคในจีนบางกลุ่มนิยมบริโภคส้มไทย เนื่องจาก มีรสชาติ และคุณภาพดี อีกทั้งจีนยังผลิตส้มในลักษณะนี้ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ

จะเห็นได้ว่า การส่งออกส้มของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยสาเหตุหนึ่งมาจาก ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากส้มของจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อีกทั้งต้นทุนในการผลิตของจีนยังถูกกว่าส้มของไทยมาก โดยส้มจากจีนนั้นได้เข้ามาทำการตีตลาดโดยเฉพาะตลาดเอเชีย ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยไม่ว่าจะเป็นพม่า อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น อีกทั้งรัฐบาลจีนได้มีการวางเป้าหมายว่าในปี 2555 จีนจะเป็นแหล่งผลิตส้มที่สำคัญที่สุดในเอเชีย และจะทำการขยายการส่งออกส้มไปตามตลาดเป้าหมายต่างๆ เพิ่มขึ้นไปยังประเทศในแถบตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่มีชาวเอเชียไปตั้งถิ่นฐานอยู่มากไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และแคนาดา เป็นต้น ส่งผลให้ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนยังคงประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพของส้มที่ยังไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งปริมาณส้มที่มีคุณภาพในประเทศนั้น ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะการบริโภคน้ำส้มของคนจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยควรใช้จุดอ่อนของส้มจีนเป็นบทเรียนในการสร้างโอกาส โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการแปรรูปเป็นน้ำส้มพร้อมดื่ม เพื่อทำการขยายการส่งออกให้มากขึ้น เช่น พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้มีความทันสมัย ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น การผลิตส้มปลอดสารเคมีรวมถึงการเร่งสร้างแบรนด์สินค้าให้ติดตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของส้มแปรรูปจากไทย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่คิดว่าจะทำให้สามารถขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งควรมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกส้มพันธุ์ดีและมีคุณภาพ เนื่องจากส้มไทยยังสามารถแข่งขันกับส้มจีนได้ด้วยคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคตลาดโลก

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ราคาส้มในช่วงเทศกาลตรุษจีนน่าจะทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ และยังสูงกว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนของปี 2552 ประมาณ 5-10 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลตรุษจีนของปีที่แล้วที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงหดตัว ดังนั้น คาดว่า ผู้บริโภคน่าจะมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้าปรับเพิ่มราคาสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ราคาส้มในช่วงเทศกาลตรุษจีนไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป คือ ปริมาณส้มที่นำเข้ามาจากจีน ซึ่งคาดว่า อาจจะทะลักเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาส้มในประเทศไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนัก