หากสังเกตไปรอบตัว จะพบว่าโซเชียลมีเดียที่เราใช้ๆ กันนั้นไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram หรือ Twitter ไม่มีอันไหนเลยที่มาจาก Google สิ่งที่ดูคล้ายกับโซเชียลมีเดียจาก Google มากที่สุดคงเป็น YouTube ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว Google ก็ไม่ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมา หากแต่ซื้อธุรกิจนี้มาอีกที ทั้งๆ ที่ Google เป็นบริษัทที่มีทุกปัจจัยที่สามารถเกื้อหนุนให้ธุรกิจโซเชียลมีเดียประสบความสำเร็จได้ ตั้งแต่จำนวนผู้ใช้งานหลายล้านคนใน Google Account การเป็นเจ้าของ OS อย่าง Andriod, Know-how ในการสร้างแพลตฟอร์มโฆษณา รวมถึงเงินลงทุนและพนักงานที่มีความสามารถจำนวนมาก แต่เหตุใด Google ถึงไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างโซเชียลแอปของตัวเองเลย?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่า ไม่ใช่ว่า Google “ไม่มี” หรือ “ไม่เคยสร้าง” โซเชียลแอปของตัวเอง แต่โซเชียลมีเดียที่พัฒนาขึ้นมาเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จทำให้คนหมู่มากอย่างเราๆ ไม่เคยได้ยินและไม่รู้จักแอปเหล่านี้ของ Google หากจะยกเว้นก็แต่ Google+ ที่อาจจะเคยได้ยินกันบ้าง ส่วนโชเชียลมีเดียอื่นๆ ด้านล่างนี้ เชื่อว่าคงมีน้อยคนมากที่รู้จัก
จริงๆ แล้วไม่เพียงโซเชียลมีเดียที่ Google พยายามจะพัฒนาขึ้นมานะครับ ทางบริษัทเองยังได้พยายามพัฒนาแอปส่งข้อความ และโทรศัพท์ ซึ่งก็ไม่มีแอปไหนของกูเกิลที่จะได้รับความนิยมเหมือนแอปพวก Whatsapp หรือ Skype อีกเช่นกัน และไม่ใช่ว่า Google ไม่พยายามจะพัฒนาและเข้ามาเล่นในตลาดนี้ จากจำนวนแอปในภาพด้านบนก็พอจะเห็นได้ว่า Google ได้พยายามแล้วในหลายๆ ครั้ง แล้วทำไมครับ? ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นกูเกิลที่ดูเหมือนจะมีความพร้อมในทุกๆ ด้านกลับไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้?
หากดู Timeline จากภาพด้านบนทั้งสองภาพจะพบว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Google ไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจโซเชียลมีเดียคือความเป็นจริงที่ว่า Google ได้ตัดสินใจเข้ามาเล่นในตลาดนี้ช้าไปเสมอ หรือพูดง่ายๆ คือ Google จับเทรนโซเชียลไม่ทันคู่แข่งรายอื่นๆ เลย
ในปี 2011 Google ได้ตัดสินใจส่ง Google+ เข้ามาสู้กับ Facebook และ Twitter อย่างไรก็ตาม ในปีนั้น Facebook ได้อยู่ในตลาดมาแล้ว 7 ปี และ Twitter เองก็มีอายุราว 5 ปีแล้วเช่นกัน แปลว่า Google ได้เข้ามาในตลาดนี้ช้ากว่าคู่แข่งมากๆ ทำให้ทั้ง Facebook และ Twitter สามารถสร้างฐานผู้ใช้งานได้ในจำนวนมาก และมันก็เป็นการยากมากที่จะทำให้ผู้ใช้งานยอมย้ายไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้แปลว่าผู้เล่นรายใหม่จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะ Snapchat ก็ได้เริ่มบุกตลาดในปีเดียวกับ Google+ แต่ Snapchat กลับสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วจนเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่วัยรุ่นในยุคนั้น ในขณะที่ Google+ ไม่เคยได้รับความนิยมในระดับเดียวกันเลย
ในขณะที่ Google+ บุกตลาดด้วยฟีเจอร์ที่ไม่ได้มีความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ มากนะ Snapchat กลับบุกตลาดด้วยความสดใหม่และเข้าใจผู้บริโภคที่เหนือกว่าโดยมีการแนะนำฟีเจอร์ใหม่ๆ แก่ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบของตัวเองให้เข้ากับ smartphone มากที่สุด รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น AR สติกเตอร์ ฟิวเตอร์ และ อีโมจิ กระทั่งฟีเจอร์อย่างสตอรี่ ทำให้ Snapchat ถูกใจเหล่าวัยรุ่นเป็นอย่างมาก และทำให้หลายๆ แอปคู่แข่งต้องลอกเลียนฟีเจอร์เหล่านี้ไป
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น ไม่เพียงแค่ตลาดโซเชียลมีเดียที่ Google ได้เข้ามาช้าไป กูเกิลยังได้เข้าสู่ตลาดแอปส่งข้อความช้าไปเช่นกัน แอปส่งข้อความแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ใช้งาน Smartphone จาก Google คือ Hangouts โดยบริษัทได้ส่งผลิตภัณฑ์นี้เข้าสู่ตลาดในปี 2013 ลองทายกันดูมั้ยครับว่าคู่แข่งรายอื่นๆ เข้ามายังตลาดนี้ในปีไหนกัน? คำตอบง่ายๆ คือเกือบทุกเจ้าที่เรานึกออกต่างก็เข้ามาก่อน Google ทั้งสิ้น
เหตุการณ์คล้ายคลึงกับโซเชียลแอปก่อนหน้านี้ คือถึงแม้ว่าจะ Google จะเข้าสู่ตลาดส่งข้อความหลังคู่แข่งอยู่หลายปี แต่ตัวผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ต่างๆ ไม่ได้มีความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดมากนัก ทำให้ Hangouts ถูกใช้อยู่ในวงจำกัดส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนแอปคู่แข่งอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดมานานจนมีฐานลูกค้าจำนวนมาก
ความชำนาญของ Google อยู่ที่การสร้างเครื่องมือและสาธารณูปโภค อาทิเช่น Google Search, Gmail, Google Map, Google Doc, Google Drive, Chrome, Andriod และ Google Assistant ซึ่ง Google ทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีมากๆ แต่ความสำเร็จตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Google ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Social Media เพราะนอกเหนือจากความเป็นไปได้ที่ Social Media อาจไม่ใช่ Priority แรกสำหรับบริษัทแล้ว รูปแบบการพัฒนา Utility app ของทางบริษัทซึ่งก็คือการให้ คิดไอเดีย > พัฒนา > ผลักออกสู่ตลาด > ยกเลิกหากไม่ประสบความสำเร็จ > เริ่มทำใหม่จนกว่าจะสำเร็จ นั้นไม่ใช่ model ที่สามารถใช้ได้กับโลกโซเชียลเดีย เพราะในตลาดนี้สิ่งที่มีค่าที่สุดของโซเชียลแอปนั้นๆ คือตัว Network หรือฐานผู้ใช้ แปลว่าทุกๆ ครั้งที่บริษัทยกเลิกแอปๆ หนึ่งเพื่อจะพัฒนาแอปใหม่ขึ้นมาแทนที่ ในระหว่างทางบริษัทจะสูญเสีย network ทั้งหมดของตัวเองไป ซึ่งการเริ่มใหม่ทุกๆ ครั้งจะยากเป็นทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ
แต่หากให้มองว่าจะมีบริษัทใดที่จะสามารถเข้ามาต่อกรกับยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่าง Facebook ได้ Google ก็คงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งหากบริษัทต้องการที่จะประสบความสำเร็จในตลาดนี้ Google จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับตลาดโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นบริษัทยังจำเป็นที่จะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลที่สามารถคาดการณ์เทรนโซเชียลในอนาคตได้ดีจนสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการและรวดเร็วกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ ใครจะทราบครับว่าวันหนึ่งโซเชียลมีเดียที่เราใช้กันบ่อยๆ อาจจะมาจากบริษัทอย่าง Google ก็เป็นได้นะครับ.