ประวัติศาสตร์ 72 ปี ต้องจารึก ถึงเวลา “เครือเซ็นทรัล” พลิกโฉม “ธุรกิจค้าปลีก” จาก Family Business สู่ “บริษัทมหาชน”

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมาบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)” แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ได้อนุมัติการเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ “บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด” (Central Retail) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 53.83% โดยมีเป้าหมายเพื่อนำ Central Retail เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน

นี่ถือเป็นการแปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนนำมาสู่การแถลงข่าวในวันนี้ (31 กรกฎาคม) ทศ จิราธิวัฒน์ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า เครือเซ็นทรัลอยู่ในธุรกิจค้าปลีกมา 72 ปีแล้ว จากจุดเริ่มต้นห้องแถวที่ถนนเจริญกรุง

ก่อนจะขยับขยายและแตกแขนง จนวันนี้มีห้างสรรพสินค้าและร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีก รวม 1,979 แห่ง ครอบคลุม 51 จังหวัดทั่วประเทศไทย และขยายทั้งในประเทศอิตาลีและเวียดนาม รวม 134 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2019)

ที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกบริหารแบบธุรกิจภายในครอบครัว นี่จึงถือเป็นก้าวสำคัญของการนำธุรกิจหลักไปเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งมีการเตรียมพร้อมและปรับโครงสร้างมา 3 ปีแล้ว

เครือเซ็นทรัลเชื่อว่าการนำ Central Retail เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถพุ่งทะยานเหมือนหุ้นรุ่นพี่ที่เข้าไปก่อนหน้านี้ถึง 2 ตัว ทั้งบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)” เข้าตลาดเมื่อ 29 ปีก่อน Market Cap หรือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ได้เพิ่ม 29.1 เท่า จาก 1,600 ล้านบาท เป็น 26,575 ล้านบาท

และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)” ที่เข้าต่อจากธุรกิจโรงแรม 5 ปี โดย Market Cap เพิ่มขึ้น 37.3 เท่า จาก 8,900 ล้านบาท เป็น 332,112 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขที่เกิดขึ้นเป็นการยืนยันถึงประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ความมั่นใจของเครือเซ็นทรัลมาจากตัวเลขต่างๆ ที่มีผลต่อธุรกิจค้าปลีกเป็นอย่างมาก ทั้งอัตรารายได้ของประชากรต่อคนที่คาดว่าจะเพิ่มจาก 505 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 15,500 บาท เป็น 685 ดอลลาร์สหรัฐ ราว 21,000 บาทภายในปี 2023

การขยายตัวของเมืองจากสัดส่วน 49.9% ในปี 2018 เป็น 53.6% ภายในปี 2023 ประชากรกว่า 40% อยู่ในวัยที่มีกำลังซื้อ ที่สำคัญจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่ใช้จ่ายสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 37 ล้านคนเป็น 52 ล้านคนในปี 2023 นอกจากนั้น กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา ติดอันดับ 20 เมืองท่องเที่ยวของโลกด้วย

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัลรีเทล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของเครือเซ็นทรัลเป็นความต้องการของบริษัทเองไม่ได้ถูกบังคับให้เปลี่ยนแรงกดดันจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ซึ่งแท้จริง “พฤติกรรมของผู้บริโภค” ต่างหากที่เข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจค้าปลีกตัวจริง

ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาเครือเซ็นทรัลมีการเตรียมตัวนำธุรกิจค้าปลีกเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาโดยตลอด ทั้งการเพิ่มผู้บริหารระดับสูงที่เป็นชาวต่างชาติ หรือแยกธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มแฟชั่น ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, Central Marketing Group (CMG) และ รีนาเชนเต (Rinascente)
  • กลุ่มฮาร์ดไลน์ ได้แก่ ไทวัสดุ, เพาเวอร์บายเหงียนคิมร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม
  • กลุ่มฟู้ด ได้แก่ ท็อปส์ แบ่งเป็น ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่, ท็อปส์ พลาซ่า, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, แฟมิลี่มาร์ท บิ๊กซี และลานชี มาร์ทในเวียดนาม

ขณะเดียวกันก็ได้รุกเข้าหาพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเปลี่ยนจากหน้าร้านที่เป็นออฟไลน์เข้าสู่โลกออนไลน์ เพื่อเติมเต็มการเป็น Omnichannel โดยใช้ศักยภาพในการนำเสนอสินค้าและบริการสำหรับเฉพาะบุคคลแบบ Personalization

โดยได้จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าที่มีกว่า 27 ล้านรายทั่วโลก ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี Machine Learning การพัฒนาบริการใหม่ๆ รวมทั้งระบบการจ่ายเงินออนไลน์ในทุกรูปแบบ

การเข้า IPO มาจาก 3 เป้าเหตุผลหลัก 1. การเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างความน่าเชื่อถือกับบริษัทต่างชาติ เพราะสามารถตรวจสอบได้ 2. ดึงดูดผู้มีความสามารถจากประเทศต่างๆ และ 3. การหาเงินทุนสำหรับขยายธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดนอกเหนือจากนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะขณะนี้อยู่ในระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้น (แบบ Filing) ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะดำเนินให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ทั้งนี้การยื่น Filing ไม่มีผลต่อการทำธุรกิจปัจจุบันซึ่งแต่ละปีมีการลงทุนปีละ 4 – 5 หมื่นล้านอยู่แล้ว ซึ่งตลอด 3 ปีมานี้รายได้เติบโต 8%

สำหรับในปี 2018 มีรายได้ 240,297 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอาหาร 43% กลุ่มแฟชั่น 35% ที่เหลือ 22% กลุ่มฮาร์ดไลน์ เมื่อแยกแต่ละประเทศรายได้จากเวียดนามมีสัดส่วน 14% ส่วนอิตาลี 8.5%