5 เรื่องที่ Facebook ไม่ได้บอกเกี่ยวกับ Libra

ในขณะที่โลกกำลังตื่นเต้นกับการโดดลงมาในวงการ Cryptocurrency ของ Facebook นั้น ปรมินทร์ อินโสม ซีอีโอ สตางค์คอร์ปอเรชั่น และผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูง มีมุมมองต่อประเด็นเรื่องการเข้าถึงและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) เมื่อคนหันมาใช้ Libra ว่า “เป็นอีกเรื่องที่เราต้องจับตามอง! Facebook เคยตกอยู่ในกรณีอื้อฉาวเรื่องการทำข้อมูลรั่วไหลมาแล้ว เมื่อบริษัท Cambridge Analytica ได้ใช้ข้อมูล User จาก Facebook ทำแคมเปญหาเสียงให้ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ซึ่งมีความเป็นไปได้หากจะเกิดขึ้นอีกกับผู้ใช้ Libra”

Facebook จะรู้ตัวตนที่แท้จริงของคุณ

การที่ Calibra จะสามารถให้บริการในประเทศต่าง ๆ ได้นั้นบริษัทฯจะต้องดำเนินนโยบาย AML (Anti-Money Laundering) และ KYC (Know-Your-Customer) ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องให้ ชื่อ ที่อยู่ วันเกิด เลขประจำตัวประชาชน และข้อมูลอื่น ๆ ที่กฏหมายต้องการ แปลว่าผู้ใช้งานกำลังถูกขอให้ส่งชุดข้อมูลสุดท้ายที่ Facebook ขาดไป ถึงแม้ Facebook จะแจ้งว่าข้อมูลของ Calibra และ Facebook จะเชื่อมเข้าหากันก็ต่อเมื่อผู้ใช้อนุญาต แต่ผู้ใช้งานก็จำเป็นจะต้องอนุญาตการเข้าถึงเพื่อที่จะใช้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง Facebook ได้เก็บข้อมูลพฤติกกรรม ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้ผ่านสื่อโซเชี่ยลมากว่า 10 ปี และเมื่อนำมารวมกับข้อมูลทางการเงิน ก็จะเป็นจิกซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ Facebook จะเข้าถึงประวัติการชำระเงินของเรารวมไปถึงเอกสารที่ใช้ยืนยันตัวตนต่าง ๆ

ข้อมูลทางการเงินของคุณจะถูกเชื่อมข้อมูลอื่นๆ

แม้ข้อมูลที่ Facebook และ Calibra ได้รับอาจจะเป็นข้อมูลเพียงส่วนเดียวที่อาจไม่สามารถบอกอะไรได้ทั้งหมดแต่ถ้ามันถูกรวมเข้ากับข้อมูลพฤติกรรมทั้งหลายที่สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งหลาย ๆ บริษัทเช่น Mastercard Uber และอื่น ๆ จะทำให้การระบุตัวตนผู้ใช้งานนั้นเป็นไปได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้นอีก ซึ่งอาจจะมีผู้คนที่คิดในแง่ดีว่า Facebook จะเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน แต่สำหรับบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่อย่าง Facebook แล้วข้อมูลเหล่านี้อาจสร้างรายได้เป็นพัน ๆ ล้านดอลลาร์ ในการระบุได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มใดที่ผู้โฆษณาจะสามารถทำกำไรได้ ก็จะทำให้แพลตฟอร์มของพวกเขามีมูลค่ามากขึ้นแก่ผู้ลงโฆษณา

การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลจะเพิ่มมากขึ้น

เหตุการณ์ Cambridge Analytica เป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหล ที่ทุกวันนี้การโจรกรรมทางไซเบอร์กลายเป็นเรื่องปกติ มหาวิทยาลัย Maryland ค้นพบว่าทุก ๆ 39 วินาทีจะมีการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้น ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า โดยปกติระบบที่มีตัวกลางตัวเดียวนั้นไม่มีระบบใดที่จะมีความปลอดภัย 100% ซึ่ง Libra เป็น Permissioned Blockchain เก็บข้อมูลไว้ในตัวกลางที่จำกัดเฉพาะหน่วยงานที่เข้าถึง ซึ่งแตกต่างจาก Blockchain เช่น Zcoin ที่เป็นแบบ Decentralized อย่างแท้จริง จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการจารกรรมทางข้อมูลได้มากกว่า ข้อมูลที่ถูกขโมยอาจถูกใช้ทางที่ผิดหรือสร้างความเสียหาย เช่นในปี 2561 มีการรายงานว่าเกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่มูลค่าประมาณ 14.8 พันล้านดอลลาร์ จากเหตุการณ์หลอกลวงและการจารกรรมทางไซเบอร์

จะมีภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ

เมื่อข้อมูลที่ Libra มีนั้นสามารถระบุผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ นั่นแปลว่ามันกำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ เพราะเมื่อข้อมูลนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันมันอาจจะถูกใช้ แม้ผู้ใช้งานจะไม่ได้ยินยอมก็ตาม รัฐบาลทั่วโลกอาจจะต้องการข้อมูลเหล่านี้ เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้พวกเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง  ซึ่งจะทำให้เขามีอำนาจอย่างที่ไม่เคยมาก่อนในเกมการเมือง

ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 นั้น Facebook ได้รับคำร้องกว่า 110,634 คำร้องในการขอเข้าถึงข้อมูลจากรัฐบาล ซึ่งข้อมูลที่ Facebook มีขณะนี้ไม่เพียงพอที่จะสามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้แต่ข้อมูลส่วนบุคคลจะสมบูรณ์เที่ยงตรงมากขึ้น เมื่อเชื่อมโยงกับ Libra ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเช่น Paypal หรือ Visa ที่ Facebook จงใจเลือกเข้ามาร่วมในกลุ่ม Libra Association และแน่นอนว่า การมีข้อมูลพฤติกรรมของประชากร facebook กว่า 2 พันล้านผู้ใช้งาน จะทำให้ Facebook มีอำนาจทางข้อมูลอย่างไม่เคยมีรัฐบาลที่ไหนในโลกเคยมีมาก่อน Facebook จะสามารถวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และเทรนด์ในการใช้ชีวิต ที่แน่นอนเสี่ยงต่อการชี้นำทางความคิดและนำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อเป้าหมายทางการเมือง

ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจเสรีและประชาธิปไตย

ปัจจุบัน Facebook ตั้งข้อกำหนดในการโฆษณา ตั้งค่าการเห็นคอนเทนท์บน News Feed และมีบริษัทจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกบล็อคโฆษณาโดยปราศจากเหตุผล ทำให้องค์กร พรรคการเมือง บุคคลสารธารณะที่ใช้เงินจำนวนมากในการโฆษณาผ่าน Facebook นั้นได้เปรียบกว่าธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยข้อมูลจาก Libra  จะทำให้แพลตฟอร์มาการโฆษณาของ Facebook นั้นสามารถชี้เป้าที่เจาะจงได้ Libra จะเติมเต็มข้อมูลให้กับ Facebook นำไปสู่อำนาจที่จะชี้นำความเข้าใจของคนทั้งโลกก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย

แล้วเราจะรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไร?

ในขณะที่โลกเรามีกระแสต่อต้าน Cryptocurrency เป็นเวลาหลายปีจากผู้ใช้งานที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี Facebook จะสามารถทำให้ผู้คนทั่วโลกยอมรับ Libra ได้เพียงแม้ว่าผู้ใช้งานยอมให้ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงในการเปิดเผยตัวตนทางไซเบอร์ และควรจะต้องได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรฐานในการปกป้องตัวเองในโลกออนไลน์ และถามตัวเองถึงประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับจาก Libra เมื่อเทียบกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในการแบ่งปันข้อมูลกับ Facebook

เกี่ยวกับ ปรมินทร์ อินโสม

ผู้ก่อตั้ง และนักพัฒนา เงินดิจิทัลสกุล Z Coin ที่ติดอันดับ 64 ของโลก หลังจากสำเร็จปริญญาโทในสาขา Information Security จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ปรมินทร์ได้เข้ารับราชการ รับผิดชอบด้านระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล ก่อนจะลาออกมา ก่อตั้งบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด สถาบันสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ที่เป็นผู้นำในการให้บริการครบวงจรด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ปรมินทร์เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ปรึกษาพรรคการเมือง และได้นำระบบเลือกตั้งบน Zcoin Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้งทางการเมืองในวงกว้างครั้งแรกของโลก ปรมินทร์ ยังเป็นที่ปรึกษาเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน และความปลอดภัยทางไซเบอร์ แก่องค์กรชั้นนำระดับประเทศ