“ช่อง 3” แจง 5 ข้อ ปม “เลิกจ้าง” ไม่เป็นธรรม 154 คน ปิด 2 ช่องทีวีดิจิทัลสิ้นเดือน ก.ย. นี้  

การคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่องของกลุ่มบีอีซี หรือช่อง 3 ซึ่งจะยุติออกอากาศช่อง 3 SD และช่อง 13 Family เวลาเที่ยงคืนวันที่ 30 .นี้ ทำให้ต้องปรับโครงสร้างพนักงานของกลุ่มบีอีซีทั้งหมด โดยมีการเลิกจ้างพนักงานทั้ง 2 ช่องที่คืนใบอนุญาต รวมทั้งพนักงานในฝั่งช่อง 33 ที่ยังออกอากาศปกติ จึงเกิดข้อร้องเรียนของพนักงาน ที่เห็นว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 พนักงานช่อง 3 ได้ร้องศาลแรงงานกลาง กรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จากการคืนใบอนุญาต 2 ช่องทีวีดิจิทัล โดยระบุว่าไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายเงินชดเชยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย

จากนั้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2562 สำนักงาน กสทช. ได้เปิดเวทีให้พนักงานช่อง 3 ที่ถูกเลิกจ้างและตัวแทนผู้บริหาร ร่วมหารือแก้ปัญหากรณีการเลิกจ้าง ต่อคณะกรรมการการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

ตัวแทนอดีตพนักงาน ช่อง 3
ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายกิจกรรมองค์กร ช่อง 3

กรณีดังกล่าว วันนี้ (9 ส.ค.) บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ได้ส่งคำชี้แจงการเลิกจ้างพนักงาน โดยรุบุว่า ตามที่กลุ่มอดีตพนักงานของช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมต่อการเลิกจ้างที่ผ่านมา โดยมีข้อความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงบางเรื่อง และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด จึงขออธิบายและให้รายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของบริษัทเกี่ยวกับแถลงการณ์ดังกล่าว เพื่อความเข้าใจของสังคม

เนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตของช่อง 13 และ 28 และผลประกอบการขาดทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดที่เหมาะสมกับการดำเนินงานต่อไป การเลิกจ้างพนักงานเป็นสิ่งที่บริษัทไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะความจำเป็นที่ต้องทำเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป ขอชี้แจงเกี่ยวกับการเลิกจ้างดังนี้

1. การยื่นคืนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ช่อง 13 และช่อง 28 ทำให้ต้องปรับโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบกิจการช่อง 33 เพียงช่องเดียว เป็นเหตุให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนหนึ่ง โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาเพื่อการเลิกจ้าง คือการลดอัตราตำแหน่งงานและหน่วยงานที่ทับซ้อนกันลง เพื่อให้มีจำนวนบุคลากรที่เหมาะสมกับกลยุทธ์ใหม่ของฝ่ายข่าวหลังการปรับโครงสร้าง และการพิจารณาผลการปฏิบัติงานรวมถึงการให้ความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ของพนักงานในช่วงที่ผ่านมา

2. ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ได้มีการจัดประชุมกับพนักงานที่มีส่วนได้รับผลกระทบทุกคน เพื่อชี้แจงที่มาที่ไปและหลักเกณฑ์ในการเลิกจ้าง รวมถึงวิสัยทัศน์ต่อการปรับโครงสร้างฝ่ายข่าว โดยเปิดโอกาสให้มีการซักถามข้อสงสัยในระหว่างชี้แจงด้วย ช่วงวันที่ 9 – 12 ก.ค. 2562 โดยให้มีระยะเวลาในการทำงานถึงวันที่ 31 ก.ค. 2562 ซึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าพร้อมจ่ายค่าชดเชยค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน และแม้สถานีโทรทัศน์ช่อง 13 และ 28 ยังคงออกอากาศจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2562 แต่ช่วง 2 เดือนหลังจากนี้การผลิตรายการทั้ง 2 ช่อง มีจำนวนที่น้อยลง และไม่ได้ใช้พนักงานมากเท่าเดิม

3. บริษัทจะหยุดการออกอากาศทีวีดิจิทัล ช่อง 13 และ 28 แต่การทำงานข่าวเป็นการสนับสนุนกันทั้งองค์กร จึงอาจมีรายการ ตำแหน่งงาน และหน่วยงานที่ทับซ้อนกัน ในบางกรณีจึงทำให้มีการเลิกจ้างการทำงานของช่อง 33 ไปบ้าง

4. พนักงานที่มีการเลิกจ้างในครั้งนี้มีจำนวน 154 คน ไม่ใช่ 200 คนตามที่แถลงการณ์ดังกล่าวได้อ้างถึง

5. บริษัทได้พิจารณาค่าชดเชยการเลิกจ้างโดยปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีการให้ค่าชดเชยพิเศษแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพิ่มเติมจำนวนเงินที่มากกว่ากฎหมายกำหนดไว้ เพื่อบรรเทาปัญหาสำหรับพนักงาน นอกจากนี้บริษัทยังมีการจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของบริษัทเป็นจำนวนเต็มให้กับพนักงานทุกคนในทุกอายุงาน