“จุดเปลี่ยนทีวีไทย” ของ POSITIONING ฉบับเดือนเมษายน ยังคงประเด็นร้อนที่ต้องติดตาม เพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่มีผลกระทบในวงกว้าง และหลากมิติ
จุดเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นผลมาจากกฎหมายที่เปิดให้เคเบิลทีวีที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ สามารถมีโฆษณาได้ 6 นาที (ฟรีทีวีได้ 12 นาที )
กฎหมายนี้ส่งผลโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่เคยได้ชื่อว่า เป็นธุรกิจสีเทาจะผิดกฎหมายก็ไม่เชิง จะถูกกฎหมายก็ไม่ใช่ ให้มาอยู่ในที่สว่าง มีกฎหมายรองรับแน่ชัด
และยังเท่ากับเป็นการทลายทำนบที่เคยปิดกั้นธุรกิจนี้ มีการประเมินกันว่า เวลานี้มีผู้ชมเคเบิลทีวีดาวเทียมอยู่ถึง 2.5 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียว และเป็นการสะท้อนว่า มีผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นอยู่มากมาย กระจายตัวอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ ชั้นในเอง และต่างจังหวัด
เมื่อมีกฎหมายรองรับ บรรดาเคเบิลท้องถิ่นเริ่มมองเห็นโอกาส จับมือกันลงขัน ว่าจ้างเอซี นีลเส็น เจ้าเก่า ให้สำรวจเรตติ้งเคเบิลทีวีอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของสินค้า เพราะถ้าไม่มี “เรตติ้ง” มาเป็นตัวชี้วัด โอกาสที่สินค้าจะลงโฆษณาไม่ใช่เรื่องง่าย
การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลให้มีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมรายใหม่ๆ ทยอยเข้าสู่ตลาด เริ่มจากชาลอต โทณวณิก แห่งมีเดีย ออฟ มีเดียส์ จัดงานใหญ่ เปิดตัวทีวีดาวเทียม 3 ช่องไปแล้วอย่างเป็นทางการ ที่โรงแรมสุโขทัยเป็นรายแรกๆ
งานนี้ มีเดียฯ ยังเปิดตัวทีมงาน ซึ่งเป็นอดีตคนของไอทีวีที่ทาบทามมาได้พักใหญ่ ฝั่งของพิธีกรก็มี นารากร ติยานน และชิต จิตนิยม มาร่วมงาน รวมถึงทีมงานเบื้องหลังรายการถอดรหัส รวมแล้ว 40 คน มาร่วมผลิตรายการที่จะมีทั้งฟรีทีวี 2 รายการ และทีวีดาวเทียม 3 ช่อง
สามช่อง แบ่งเป็นช่องข่าว ช่องดูหนังดูละคร โดยนำละครช่อง 7 มา Rerun และช่องไลฟ์สไตล์ และวาไรตี้ ช่องนี้จะผลิตรายการตามความต้องการของสปอนเซอร์
แว่วมาว่ากำลังมีอีกหลายรายทยอยเปิดตัวตามมาติดๆ รวมถึงสหพัฒนพิบูล ซึ่งประกาศทำทีวีดาวเทียม เพราะมีสินค้าในมือมากมาย บางสินค้ามีงบแค่ไม่กี่แสน จะโฆษณาในฟรีทีวีย่อมเป็นไปไม่ได้ สู้มีทีวีเป็นของตัวเอง จะโฆษณาสินค้าแบบไหน ก็ทำได้ แถมถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
ส่วนใครจะอยู่รอดแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับสายป่าน เพราะถ้าพูดถึงเม็ดโฆษณา ที่มีการประเมินกันว่าจะมีเม็ดเงิน 100 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับโฆษณาในฟรีทีวี และยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี
ชาลอต เล่าว่า จุดเด่นของโฆษณาในทีวีดาวเทียม จะใช้เงินน้อยกว่าฟรีทีวีมาก แต่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นทางเลือกให้กับ SME ที่ไม่มีเงินลงโฆษณาในฟรีทีวี สามารถมาเลือกลงโฆษณาในทีวีดาวเทียมได้
การมาของทีวีดาวเทียมแม้ว่าจะเป็นเค้กโฆษณาก้อนใหม่ แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อฟรีทีวี ที่ต้องปรับตัว และที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ “รายการข่าว” ที่จะมีการแข่งขันกันดุเดือด ในการนำเทคโนโลยีมาสร้าง “หน้าจอ” แบบ 3 มิติ
มีเดียฯ เองก็ควักเงินลงทุน 100 ล้านบาท สร้าง Virtual Studio เทคโนโลยี 3 มิติมาใช้กับรายการข่าวที่จะผลิตให้ช่อง 7 และทีวีดาวเทียม
เทคโนโลยีนี้ ช่อง 11 ก็เคยซื้อมาใช้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่บังเอิญว่าช่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย คนดูเลยไม่มีโอกาสได้เห็น อีกช่องที่จะนำมาใช้ คือ ช่อง 3 ที่ควักเงินไปเกือบ 100 ล้านบาท นำมาใช้กับฉากใหม่ของรายการข่าวที่จะเป็นภาพ 3 มิติ
อีกไม่นานคนดูคงได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากรายการข่าวบนหน้าจอทีวี ส่วนใครจะดึงดูดได้มากกว่ากันไม่นานคงรู้ แต่ที่แน่ๆ สงครามนี้อีกยาวไกล และยิ่งใหญ่แน่ๆ