แบงก์เล็กลง แต่เซเว่นฯ ใหญ่ขึ้น

เข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น หรือใช้บริการในสาขาของธนาคารเวลานี้ จะเห็นความแตกต่างของธุรกิจทั้งสองอย่างได้ชัดเจน

ความแตกต่างที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องของบริการ แต่เป็นเรื่องของ “ขนาด” ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กับ “สาขา” ของธนาคาร ที่กำลังเดินสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ขนาดอันใหญ่โตของสาขาแบงก์ในอดีต ทุกวันนี้มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เหลือแค่ “ตึกแถว”เพียงห้องเดียว ยิ่งไปเปิดในห้างสรรพสินค้าด้วยแล้ว เหลือพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร มีพนักงานไม่กี่คน ก็ให้บริการได้แล้ว

ผิดกับร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่กำลังเปลี่ยนจากร้านเล็กๆ อยู่ในอาคารพาณิชย์คูหาเดียว กลายเป็นร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ขายทั้งข้าวของเครื่องใช้ อาหารเครื่องดื่ม ขนมจีบ ซาลาเปา ชา กาแฟ ทั้งสำเร็จรูปและกาแฟสด มีพื้นที่ขายหนังสือ นิตยสาร แถมยังมีนิตยสาร all มาแข่งกับนิตยสารกอซซิปดารา รองรับลูกค้าระดับ Mass

จุดแข็งในเรื่องการขายหนังสือของเซเว่น อีเลฟเว่นอยู่ที่ระบบชำระเงิน ณ จุดขาย หรือ Point of sale เป็นระบบออนไลน์ ทำให้รู้ยอดซื้อขายสินค้าแบบเรียลไทม์ ใช้บริหารเรื่องคลังสินค้า ไม่ต้องมีสต็อก สินค้าไหนหมดก็สั่งมาเติมได้ทันที ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ระบบแผงขายหนังสือ เพราะเจ้าของหนังสือรู้ยอดขายแต่ละวันได้ทันที ไม่ต้องรอเช็กสต็อก ถ้าเป็นร้านขายหนังสือทั่วไป กว่าจะรู้ยอดก็ต้องรอเช็กสต็อก 2-3 เดือน

บางสาขาของร้านเซเว่นฯ เริ่มมีพื้นที่ใหม่ๆ “เบเกอรี่” ทั้งผลิตสดๆ และขายในร้าน กลิ่นอบอวลไปทั่ว หรือบางสาขาเริ่มมีที่ให้นั่งทานอาหาร ไม่ต้องซื้อกลับไปกิน เป็นการเพิ่มยอดขายอาหารกึ่งสำเร็จรูปไปในตัว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีกำไรดีที่สุดอีกชนิดหนึ่งของเซเว่นฯ

ไม่น่าแปลก ถ้าในอนาคต เซเว่นฯ จะเพิ่มพื้นที่ให้ลูกค้านั่งจิบกาแฟ ท่องอินเทอร์เน็ต เพราะบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น มีโนว์ฮาวเรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งระบบสื่อสารไอที และยังมีร้านทรู คอฟฟี่ ที่กำลังท้าทายร้านกาแฟข้ามชาติ ด้วยการสร้างคน ขยายสาขาไปทั่ว

เมื่อยกทรู คอฟฟี่มาให้บริการในร้านเซเว่นฯ เท่ากับว่าให้บริการได้ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด

ในแง่ของทรู คอร์ปอเรชั่น กลยุทธ์การ Convergence จึงไม่ได้หมายถึงการผนึกกำลังระหว่างธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เคเบิลทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ต ในเครือข่ายของทรูเองเท่านั้น แต่ถ้ากลยุทธ์นี้จะครอบคลุมไปถึงร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

เป็นเมกะโปรเจกต์ที่สร้างพลังของร้านค้าปลีก 24 ชั่วโมงอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ใครก็คาดไม่ถึง

บริการด้านการเงินของเซเว่นฯ ก็ไม่ธรรมดา มีทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิส รับชำระค่าน้ำค่าไฟ ตั๋วเครื่องบิน โทรศัพท์มือถือ ทำรายได้เป็นล่ำเป็นสัน และยังมีบริการโอนเงินระหว่างสาขาของเซเว่นฯ (บริการนี้คล้ายกับบริการโอนเงินแก่ลูกค้าโดยไม่ต้องมีสมุดบัญชีของธนาคาร) และสมาร์ทการ์ด บัตรใช้แทนเงินสด ที่บริษัทไทยสมาร์ทการ์ด บริษัทลูกของเซเว่นฯทำขึ้น ใช้เป็นเดบิตการ์ดรูปแบบหนึ่ง และอนาคตจะนำไปใช้รูดขึ้นรถไฟฟ้า ชำระค่าอาหาร

เซเว่นฯ วันนี้ เรียกว่าได้ว่าเป็น “แบงก์ย่อยๆ” ได้เลย

ตรงกันข้ามกับสาขาของ “ธนาคาร” ที่มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ เพราะลูกค้าเป้าหมายของธนาคารเป็นบุคคล และธุรกิจขนาดย่อม ธนาคารเองก็พยายามลดต้นทุนในเรื่องของสาขา หันมาให้บริการออนไลน์จากตู้เอทีเอ็ม ผ่านโทรศัพท์ และบริการธนาคารออนไลน์ ชำระค่าสินค้าหรือบริการ โอนเงิน ขอ Statement ดูรายการเดินบัญชี ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

อีกไม่นาน อาจได้ใช้บริการจาก “ธนาคารเสมือนจริง” หรือ Visual Banking แบบครบเครื่อง ยิ่งเป็นธนาคารต่างชาติยิ่งไม่ต้องลงทุนเปิดสำนักงาน หรือสร้างสาขาในไทยให้สิ้นเปลือง เปิดธนาคารออนไลน์ในโลกไซเบอร์ ก็ให้บริการแก่ลูกค้าในไทยได้แล้ว

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมแบงก์ถึงมีขนาดเล็กลง และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จึงต้องใหญ่ขึ้น