โฆษณา ก.ค. “ติดลบ” ต่ำสุดในรอบปี “ทีวีช้อปปิ้ง” แข่งสาดงบยึดท็อปเท็นแบรนด์

เม็ดเงินโฆษณาเดือน .. 2562 เริ่มเห็นสัญญาณกระเตื้อง หากเปรียบเทียบในรอบปีนี้ แม้ยังติดลบแต่ถือว่าต่ำสุดในรอบปี ขณะที่สื่อดั้งเดิมส่วนใหญ่ยังคงลดลง และแบรนด์ทีวีช้อปปิ้งยังคงใช้จ่ายเงินในอันดับท็อปเท็น

บริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) รายงานการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อเดือน ก.ค. 2562 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่า 9,143 ล้านบาท ติดลบ 0.42% ถือเป็นอัตราการลดลงน้อยที่สุดในรอบปีนี้ เพราะหากดูตัวเลขเดือน ม.ค. มูลค่า 7,240 ล้านบาท ติดลบ 2.20% เดือน ก.พ. มูลค่า 7,603 ล้านบาท ติดลบ 1.17% เดือน มี.ค. มูลค่า 9,267 ล้านบาท ติดลบ 1.68% เดือน เม.ย. มูลค่า 8,543 ล้านบาท ติดลบ 1.58% เดือน พ.ค. มูลค่า 8,789 ล้านบาท ติดลบ 2.11% และเดือน มิ.ย. มูลค่า 9,044 ล้านบาท ติดลบ 5.38%

โฆษณา ก.ค. สื่อดั้งเดิมยังอ่วม

ตัวเลขงบโฆษณา ก.ค. 2562 สื่อส่วนใหญ่ยังอยู่ในสถานการณ์ “ติดลบ” โดยเฉพาะกลุ่มสื่อดั้งเดิม (traditional media) เริ่มจาก ทีวี มูลค่า 5,774 ล้านบาท ลดลง 3.33% เคเบิลและทีวีดาวเทียม มูลค่า 193 ล้านบาท ลดลง 3.50% วิทยุ มูลค่า 412 ล้านบาท ลดลง 1.44% หนังสือพิมพ์ มูลค่า 400 ล้านบาท ลดลง 27.67% นิตยสาร มูลค่า 76 ล้านบาท ลดลง 24.75% สื่อนอกบ้าน มูลค่า 588 ล้านบาท ลดลง 0.34%

ส่วนสื่อที่ “เติบโต” ในเดือน ก.ค. นี้ คือ สื่อโรงภาพยนตร์ มูลค่า 979 ล้านบาท เติบโต 55.89% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 504 ล้านบาท เติบโต 1.20% สื่อในห้างฯ มูลค่า 99 ล้านบาท เติบโต 8.79% และสื่อดิจิทัล 118 ล้านบาท ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บด้วยเทคโนโลยี Crawler ของนีลเส็น เริ่มเดือน พ.ค. 2562 จึงยังไม่มีตัวเลขเปรียบเทียบ

สำหรับเม็ดเงินโฆษณา 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค.) มีมูลค่า 59,861 ล้านบาท ติดลบ 1.74% โดยสื่อดั้งเดิมส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาวะ “ติดลบ” เริ่มจาก “ทีวี” มีมูลค่า 38,864 ล้านบาท ติดลบ 0.97% เคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 1,269 ล้านบาท ติดลบ 11.88% วิทยุ มูลค่า 2,587 ล้านบาท ติดลบ 3.36% หนังสือพิมพ์ มูลค่า 2,788 ล้านบาท ติดลบ 19.33% นิตยสาร มูลค่า 594 ล้านบาท ติดลบ 21.22%

ส่วนสื่อโฆษณาที่ “เติบโต” ประกอบด้วย สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 4,660 ล้านบาท เติบโต 4.39% สื่อนอกบ้าน มูลค่า 3,961 ล้านบาท เติบโต 0.99% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 3,651 ล้านบาท เติบโต 5.37% สื่อในร้านค้า มูลค่า 612 ล้านบาท เติบโต 1.16% และสื่อดิจิทัล มูลค่า 422 ล้านบาท


ท็อปเท็นแบรนด์สาดงบตัวเลข “บวก” ทุกราย

สำหรับกลุ่ม “ท็อปเท็น” แบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือน ก.ค. 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า “ทุกแบรนด์” ที่ติด 10 อันดับแรก ใช้งบเพิ่มทุกราย

นำโดย ทีวีไดเร็ค มูลค่า 155 ล้านบาท จาก 126 ล้านบาท ธนาคารออมสิน มูลค่า 110 ล้านบาท จาก 105 ล้านบาท การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลค่า 94 ล้านบาท จาก 44 ล้านบาท โค้ก มูลค่า 91 ล้านบาท จาก 85 ล้านบาท บาท สนุก ช้อปปิ้ง มูลค่า 79 ล้านบาท (ไม่มีมูลค่าเปรียบเทียบกับปีก่อน)

โอ ช้อปปิ้ง มูลค่า 77 ล้านบาท จาก 9 ล้านบาท เป๊ปซี่ มูลค่า 77 ล้านบาท จาก 19 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ซักผ้าดาวน์นี่ มูลค่า 67 ล้านบาท จาก 54 ล้านบาท ทิพยประกันชีวิต มูลค่า 65 ล้านบาทจาก 2.6 ล้านบาท ไดเร็คเซล มูลค่า 65 ล้านบาท จาก 8.6 ล้านบาท

หากดูตัวเลขการใช้งบโฆษณาของกลุ่ม 10 อันดับแบรนด์ ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากก่อนหน้านี้ ที่ธุรกิจ “ไดเร็คเซล” เป็นแบรนด์ที่ใช้เงินสูงสุด เนื่องจากมีการโฆษณาและจัดรายการผ่านช่องทีวีดิจิทัล รูปแบบ “ทีวีช้อปปิ้ง” ของผู้ประกอบการหลายแบรนด์ รวมทั้งผู้เล่นรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด


FMCG ยังครองแชมป์ฝั่งองค์กร

ฝั่งที่ “ท็อปเทน” องค์กรที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด เดือน ก.ค. 2562 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่มีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอหลายแบรนด์ จะครองตลาดนี้

เบอร์หนึ่งตลอดกาล คือ ยูนิลีเวอร์ (ไทย) เดือน ก.ค. 2562 ใช้งบมูลค่า 259 ล้านบาท ลดลงจาก 325 ล้านบาท ตามมาด้วย พีแอนด์จี มูลค่า 252 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 213 ล้านบาท ลอรีอัล มูลค่า 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 134 ล้านบาท โตโยต้า มอเตอร์ มูลค่า 166 ล้านบาท ลดลงจาก 194 ล้านบาท ทีวีไดเร็ค มูลค่า 155 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 126 ล้านบาท

ธุรกิจไดเร็คเซล รายใหม่ มูลค่า 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านบาท เป๊ปซี่ มูลค่า 142 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านบาท เนสท์เล่ (ไทย) มูลค่า 142 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 38 ล้านบาท ตรีเพชรอีซูซุ มูลค่า 128 ล้านบาท ลดลงจาก 118 ล้านบาท และ ไบเออร์สดอร์ฟ มูลค่า 112 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 121 ล้านบาท.


หมายเหตุจากนีลเส็น

นีลเส็น ชี้แจงว่าข้อมูลเม็ดเงินโฆษณา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลในสื่อ Internet จากการเก็บในรูปแบบ manual ทีใช้พนักงานเก็บข้อมูลจำนวน 50 website +10 mobile web มาเป็นการใช้เทคโนโลยี Crawler เพื่อจัดเก็บข้อมูลโฆษณาบนเว็บไซต์ จำนวนทั้งหมด 200 เว็บไซต์ ซึ่งจะใช้ชื่อสื่อใหมนี้ว่า ‘Digital’ ซึ่งเป็นสื่อในรูปแบบ Text, Flash, HTML5, Image, Skin, Video และ in banner video ทั้งโฆษณาจาก Direct, Indirect programmatic และนำมาคำนวณตาม Rate card กลาง จากวิธีการคำนวณของทีมนีลเส็น Global

สำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมด ให้อ้างอิงข้อมูลจาก DAAT

สื่อกลางแจ้ง (outdoor) และสื่อเคลื่อนที่ (transit) : มีการรวมข้อมูลจาก JCDecaux สำหรับข้อมูลจากสื่อในสนามบินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 และข้อมูลของสื่อ outdoor และ transit จาก JCDecaux ได้ถูกรวมเข้าไว้ในรายงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560

นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit) ป้ายบิลบอร์ด ป้ายโฆษณาบนทางเท้า สื่อในสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2559 เป็นต้นมา

สื่อในห้าง : นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูล สื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้าง Tesco Lotus และ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น

ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง สื่อเคลื่อนที่ และสื่อในห้างฯ