นันยาง จับมือ ทะเลจร ผุดโปรเจกต์ “รองเท้า KHYA (ขยะ)” คอลเลคชั่นพิเศษจาก “รองเท้าแตะช้างดาว” ทำจากขยะทะเล Upcycling

การที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นความท้าทายที่แบรนด์ต่างๆ ต้องก้าวให้ตามให้ทัน ยิ่งเป็นแบรนด์ที่อยู่มานานยิ่งต้องออกแรงมากกว่าคนอื่น

แต่สิ่งที่นันยาง แบรนด์รองเท้าอายุ 60 กว่าปียังทำมาตลอดคือรักษาความเก๋าเหมือนกับสโลแกนที่ว่าเก๋ามาตั้งแต่รุ่นพ่อเมื่อความท้าทายเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและมีเดีย สิ่งที่ต้องตอบโจทย์ คือ การเข้าไปอยู่กับผู้บริโภคในสื่อที่พวกเขาเสพ ทั้งโซเชียล มีเดีย และสื่ออื่นๆ นั่นคือสิ่งที่ เราต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามให้ทันและเข้าใจลูกค้าในทุกยุค  

อย่างก่อนหน้านี้วิธีที่นันยางเลือกใช้คือ “Real Time Marketing” โดยเลือกออกนันยางสีแดงโดยสัญญาว่า จะทำจริงๆ หากลิเวอร์พูลได้แชมป์ยุโรปซึ่งคิดไอเดียนี้ภายใน 3 วัน แม้ตอนแรกจะไม่ได้ทันทีแต่อีก 2 สัปดาห์ปรากฏว่าได้จริงๆ จึงต้องโปรเจกต์นี้จึงเกิดขึ้นจนได้

ผลตอบรับดีเกิดคาดเพราะตอนแรกคาดว่า จะมียอดจองเพียง 1,000 คู่เท่านั้น แต่ปรากฏว่ามียอดจองเข้ามาทั้งหมด 12,598 คู่

จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลังจากที่ยอดจองเกินความคาดหมาย ซึ่งเป็นการรับตอบจากแฟนนันยางทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ลูกใจเด็กๆ ซึ่งจะเข้ามาเป็นฐานลูกค้าในอนาคต

จริงๆ แล้วนันยางสีแดงเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นมากะทันหัน และเข้ามาแทรกโปรเจกต์ที่วางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนคือรองเท้า KHYA (ขยะ)” ซึ่งเป็นรองเท้าแตะช้างดาวคอเลคชั่นพิเศษที่ส่วนหนึ่งทำจากขยะในท้องทะเล

ทำไมต้องเป็นรองเท้าจากขยะทะเล? จักรพล อธิบายว่า เนื่องจากเห็นว่า 80% ของขยะในทะเลเป็นพลาสติก ในจำนวนนี้ 10% กว่าๆ เป็นรองเท้าที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ซึ่งหากไม่กำจัดอย่างถูกวิธีจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะขยะใช้เวลานับ 100 ปีกว่าที่จะย่อยสลาย อีกทั้งยังมีข้อมูลที่ว่า อีก 30 ปีต่อจากนี้ขยะในทะเลจะมากกว่าจำนวนปลา

นันยางจึงสนใจเรื่องนี้และพบว่าตัวเองนั้นสามารถนำขยะจากท้องทะเลมาทำให้เกิดประโยชน์ได้จึงได้พูดคุยกับทะเลจรแบรนด์ Upcycling วัสดุจากทะเลซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรมากว่า 1 ปี ก่อนที่จะตกผลึกเป็นรองเท้า KHYA (ขยะ)”

ตัวรองเท้าด้านบนจะทำจากขยะทะเลซึ่งใช้รองเท้าเป็นหลัก โดยได้รับขยะรองเท้าแตะมาจากกลุ่มอาสาสมัคร Trash Hero ที่รวมตัวกันเก็บขยะทะเลและคัดแยกประเภทขยะ และส่งต่อขยะรองเท้าจำนวนมากไปยัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ทำการชั่วคราวของกลุ่มทะเลจรเพื่อเตรียมวัตถุดิบขั้นแรก

ส่งต่อมาที่นันยางเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production) โดยส่วนพื้นล่างของรองเท้า เป็นส่วนพื้นจริงรองเท้าแตะช้างดาวโดยรองเท้า 1 คู่ทำจากขยะทะเลประมาณ 5 กิโลกรัม ที่สำคัญลวดลายจะไม่มีซ้ำกัน เพราะขยะที่ได้มาไม่เหมือนกันเลย

วางจำหน่ายในราคา 399 บาท (รวมค่าจัดส่งในประเทศไทย) วางจำหน่ายแบบสั่งจองล่วงหน้า (Pre order) เท่านั้น ระหว่างวันที่ 15 – 23 สิงหาคม 2562 ผ่านช่องทางการสั่งจอง 1. เว็บไซต์ www.KHYA.net  2. LAZADA หรือ SHOPEE  (ในประเทศไทย) Thailand Post Mart (ส่งทั่วโลก)  3. ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 1,400 

อย่างไรก็ตาม จะผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น จะไม่ผลิตเกินและไม่ผลิตซ้ำ คาดสินค้าจะจัดส่งให้แก่ผู้สั่งจองได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2562 และเบื้องต้นตั้งความหวังไว้ 2,000 คู่

หากมองจากราคาปรกติของรองเท้าช้างดาวที่ขายคู่ละ 99 บาท อาจจะเห็นว่าแพงกว่าพอสมควร แต่ จักรพล อธิบายว่า รองเท้า KHYA ต้องใช้เวลามากกว่าปรกติ 3 เท่า ซึ่งการผลิตรองเท้าพิเศษนี้เข้าไปกระทบกับการผลิตปรกติอยู่บ้าง ซึ่งปรกติรองเท้าช้างดาวมีการผลิตปีละ 5 ล้านคู่

ทั้งนี้รายได้จากการจำหน่ายรองเท้า จะถูกนำกลับไปมอบให้แก่หน่วยงาน และโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

สำหรับผลประกอบการของนันยางในครึ่งปีแรกเติบโต 3% คาดว่าทั้งปีจะเติบโต 5% โดยสัดส่วนรายได้มาจากข้างดาวและนันยาง 50:50