Huawei ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสัญชาติจีน ประกาศจะลงทุนจำนวน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,650 ล้านบาท) ในโรงงานแห่งใหม่ที่เมืองเซาเปาลู (Sao Paolo) ประเทศบราซิล ขณะที่บริษัทเพิ่มความพยายามอย่างหนักในละตินอเมริกา เพื่อเป็นการชดเชยที่ถูกกีดกันออกจากตลาดสหรัฐฯ
Business Insider ออกรายงานว่า เทพเทคโนโลยีการสื่อสารของจีนรายนี้ หยั่งรากลงลึกพอสมควรอยู่แล้วในบราซิล โดยที่ได้ดำเนินกิจการในประเทศนี้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี และว่าจ้างพนักงานราว 2,000 คนในโรงงานผลิตอุปกรณ์เครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเซาเปาลู
ขณะเดียวกัน ข่าวการลงทุนใหม่ๆ ก้อนโตนี้ก็ปรากฏออกมาท่ามกลางการรณรงค์ต่อต้านคุกคามไม่หยุดหย่อนของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทั้งสกัดกั้นไม่ให้พวกบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับ Huawei และกดดันให้ประเทศต่างๆ แบน Huawei
บุกแดนแซมบ้า สร้างอาณาจักร 5G
ตามรายงานของ O Globo สำนักข่าวชื่อดังของบราซิล ระบุว่า เพื่อที่จะเร่งรัดการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5 จี ขึ้นในแดนแซมบ้า Huawei จึงกำลังวางแผนให้สอดรับกับการประมูลคลื่นความถี่ 5 จีของบราซิลซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมีนาคมหน้า โดยบริษัทยังวางแผนจะผลิตสมาร์ทโฟน 5G ในโรงงานใหม่แห่งนี้
“บราซิล” ในปัจจุบันมีฐานะเป็นตลาดสมาร์ทโฟนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ประเทศใหญ่ในละตินอเมริการายนี้ยังจัดเก็บภาษีนำเข้าอย่างหนักจากสมาร์ทโฟน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจำนวนมาก เป็นต้นว่า Samsung, LG และ Nokia ต่างเข้าไปสร้างโรงงานในบราซิล
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ก็รบเร้ารัฐบาลทั้งหลายทั่วโลกให้ปิดประตูไม่ต้อนรับ Huawei โดยอ้างเหตุผลที่ว่าอุปกรณ์ของบริษัทจีนรายนี้ อาจมีจุดอ่อนทำให้รัฐบาลจีนแอบสอดแนมทำจารกรรม
ทว่าแม้มีแรงบีบคั้นกดดันจากสหรัฐฯ รองประธานาธิบดีอามิลตง โมเรา (Hamilton Mourao) ของบราซิล ก็เพิ่งแถลงเมื่อไม่นานมานี้ว่า ประเทศของเขาไม่มีแผนการใดๆ ที่จะจำกัดธุรกิจของ Huawei ในบราซิล รวมทั้งไม่สั่งห้ามบริษัทจีนรายนี้เข้าสู่ธุรกิจการสร้างเครือข่าย 5G
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ของประเทศนี้ซึ่งขึ้นชื่อลือชาเรื่องมีพฤติการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ทำนายล่วงหน้าได้ ยังอาจที่จะแสดงตัวต่อต้านคัดค้านอารมณ์ความรู้สึกต่อแดนมังกรในแง่บวกเช่นนี้ และหันมาเดินตามการนำของสหรัฐฯ ทั้งนี้โบลโซนารูประกาศตัวเองว่าเป็น “ประธานาธิบดีผู้ฝักใฝ่นิยมอเมริกา” และบอกเรื่อยมาว่าเขาต้องการมีความสัมพันธ์อันผูกพันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ
ไม่ได้มีแค่ละตินอเมริกา “ยุโรป” ก็ไป
สำหรับ Huawei นั้น เวลานี้ได้ไปทำความตกลงให้สัญญาลงทุนเป็นจำนวนเงินรวมหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานใหม่ๆ และสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ตลอดจนสร้างงานเป็นพันเป็นหมื่นตำแหน่ง ในประเทศทั้งหลายซึ่งให้ความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจแก่แบรนด์ Huawei
ตัวอย่างเช่น ในอิตาลี Huawei ประกาศแผนการที่จะลงทุน 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลา 3 ปีจากนี้ไป และจะสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมา 1,000 ตำแหน่ง แต่เรียกร้องให้ประเทศยุโรปรายนี้มีความเป็นธรรมในการดำเนินการเพื่อสร้างเครือข่าย 5G ของอิตาลีขึ้นมา อันเป็นการเสนอแนะแบบแทบไม่ปิดบังอำพรางว่า อิตาลีควรจะต้องอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของ Huawei ในเครือข่ายสื่อสารเจเนอเรชั่นหน้าซึ่งจะสร้างขึ้นมานี้ด้วย
ส่วนที่โปแลนด์ บริษัทแถลงว่าจะใช้จ่ายเงินร่วมๆ 3,000 ล้าน ซวอตือ (sloty) (ประมาณ 789 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยระบุด้วยว่าการลงทุนนี้จะขึ้นอยู่กับบทบาทของ Huawei ในการสร้างเครือข่าย 5G ในประเทศยุโรปตะวันออกแห่งนี้
ในอเมริกาใต้นั้น Huawei เป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ตามหลัง Samsung, Motorola และ Apple โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 8% ทั้งนี้ตามข้อมูลของ Statcounter
ตลาดอุปกรณ์สื่อสารไร้สายของบราซิล ถูกจับตามองว่ามีโอกาสในการทำรายรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ตัวเลขยอดจำหน่ายเมื่อนับเป็นเครื่องได้ตกต่ำลงมา สืบเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจมหภาคก็ตามที โดยตามข้อมูลตัวเลขของ IDC รายรับจากยอดขายโทรศัพท์มือถือในบราซิลในไตรมาสแรกปี 2019 โตขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การมีโรงงานในท้องถิ่นสามารถช่วยให้ผู้ผลิตมือถือรายนี้ลดราคาผลิตภัณฑ์ของตนลงได้ เนื่องจากไม่ต้องขนส่งอุปกรณ์จากพวกโรงงานของตนในประเทศจีน เรื่องนี้น่าจะเพิ่มเสน่ห์ให้แก่สมาร์ทโฟนของบริษัทขึ้นอีกมาก ในตลาดบราซิลที่มีความอ่อนไหวต่อเรื่องราคา
HarmonyOS แผน 2 ของ Huawei
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ทีมผู้บริหารของ Huawei ได้เปิดเผยแผนสำรอง “แพลน บี” สำหรับอนาคตของยักษ์เทเลคอมจีนรายนี้
ริชาร์ด หยู (Richard Yu) ซีอีโอ Huawei’s Business Group เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รีบเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ของ Huawei ซึ่งใช้ชื่อว่า HarmonyOS ไปเมื่อไม่นานมานี้
HarmonyOS ไม่ใช่เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์มือถือที่จะเข้าแทนที่ Android ทว่ามันถูกออกแบบมาสำหรับทำงานบนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อย่างกว้างขวางหลายหลาก ตั้งแต่แทบเลตไปจนถึงโทรศัพท์ทั้งหลาย สมาร์ทวอตช์ ไปจนถึงรถยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของมันก็คือ มันเป็นระบบปฏิบัติการแบบโอเพน–ซอร์ซ (open-source)
นี่หมายความว่า พวกโรงงานผู้ผลิตฝ่ายที่ 3 ทั้งหลาย ซึ่งต้องการให้มั่นใจว่า บรรดาอุปกรณ์ “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Things) ของพวกเขาจะพูดจาติดต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ สามารถที่จะนำเอา ฮาร์โมนี ไปปรับใช้ได้โดยสะดวก
ขณะที่มีการยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า พวกอุปกรณ์ของ Huawei ที่วางตลาดอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้นว่า สมาร์ทโฟน Huawei P30 Pro ยังคงสามารถที่จะได้รับอัปเดตระบบปฏิบัติการมือถือเวอร์ชั่นหน้าของ Google นั่นคือ Android Q แต่มันไม่มีความกระจ่างเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุปกรณ์รุ่นอนาคตต่อๆ ไปของ Huawei
ทางหัวเว่ยเองนั้นพูดชัดๆ มากๆ ว่า บริษัทไม่ได้ต้องการละทิ้ง Android โดยย้ำหลายครั้งว่าต้องการที่จะทำงานกับพวกพาร์ตเนอร์อเมริกันของตนต่อไป การเปลี่ยนไปใช้ฮาร์โมนีจะบังเกิดขึ้นมา ก็ต่อเมื่อหัวเว่ยถูกห้ามไม่ให้ใช้ Android.