แม้จะมีองค์กรหลายแห่งเดินหน้า Digital Transformation ไปแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังอยู่ในระหว่างการหาแนวทางการปรับเปลี่ยนที่เหมาะสม
คำถามที่ผู้นำองค์กรต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ จึงหนีไม่พ้นการหาประเภทของเทคโนโลยีที่จะนำเข้ามาใช้ รวมถึงการหาโมเดลของกระบวนการทำงานองค์กรแบบใหม่ ที่จะช่วยให้การปรับตัวประสบความสำเร็จ
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน TMA Thailand Management Day 2019 ภายใต้แนวคิด GROWTH: Building for the Future เพื่อให้ทุกองค์กรเพิ่มขีดความสามารถพัฒนาการตลาดและเติบโตยั่งยืน
ปั้นทักษะสื่อสารสร้าง “สาวก” แบรนด์
รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด กล่าวว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกการทำธุรกิจอนาคต โดยเฉพาะการเข้ามาของ AI ย่อมสร้างความท้าทายให้กับตลาดแรงงาน (Workforce) เพราะปี 2025 จะเป็นจุดตัดครั้งแรกของโลกที่หุ่นยนต์มีอัตราส่วนการทำงานมากกว่ามนุษย์ในสัดส่วน 58:42 และอาจทำให้วันทำงานของมนุษย์ลดลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์
วิธีรับมือในยุคที่ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดแรงงาน คือ การพัฒนาทักษะในส่วนที่ AI ทำไม่ได้ นั่นคือ “การสื่อสาร” ซึ่งประกอบไปด้วยจินตนาการ และการเล่าเรื่อง ที่สามารถดึงดูดให้คนสนใจแบรนด์ รักแบรนด์แล้วยังพร้อมที่จะเป็น “สาวก” ของแบรนด์นั้นๆ เคล็ดลับอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องจำเป็นต้องมีเนื้อหา (Content) ที่เข้าใจง่ายผ่านการจัดกระบวนความคิด และมีความเข้าใจในบริบท (Context) ของเรื่องที่จะสื่อสาร
ฝึก 3 Skill รับมือ AI
นอกจากนี้องค์กรต้องมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะโมเดลการสร้างคนและบริหารคน ในฐานะเป็นรากฐานที่จะสร้างการเติบโต ผ่านการพัฒนาทักษะ 3 ด้าน เพื่อรับมือกับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
1. Hard Skill เป็นทักษะด้านความรู้และเทคนิค เพื่อเพิ่มความสามารถด้านอาชีพ หรือความชำนาญ ซึ่งอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ตามความต้องการของตลาด ดังนั้นองค์กรจะต้องกระตุ้นให้พนักงานเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
2. Soft Skill เป็นการพัฒนาทักษะความสามารถด้านสังคม เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารโน้มน้าวใจคน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การทำงานเป็นทีม การรู้จักแก้ปัญหา รวมถึงวิธีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ (Critical Thinking) เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กร และเป็นทักษะที่ AI ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
3. Meta Skill สร้างกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) หรือสร้างทัศนคติให้พนักงานเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ สนุกกับการแก้ปัญหา และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทาย รวมถึงพัฒนาเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ทั้ง 3 ทักษะเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนา แต่ Meta Skill มีความสำคัญกว่า Hard Skill และ Soft Skill เพราะ Hard Skill มีอายุในการใช้งานได้ 3 – 5 ปี ขณะที่ Soft Skill วันนี้พบแล้วว่า AI สามารถเข้ามาทดแทนงานความคิดสร้างสรรค์บางประเภทได้”
องค์กรชูบทบาท “โค้ชชิ่ง”
ดังนั้น Meta Skill จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกมีสปีดการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก คนในองค์กรก็จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งกระบวนการเรียนรู้จะต้องถูกร้อยเรียงเข้าไปในทุกองค์กร
“Workforce กำลังเปลี่ยนไป ผู้นำจำเป็นต้องปรับองค์กรให้เป็นผู้ส่งเสริม หรืออำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน หรืออีกนัยหนึ่งทำตัวเป็นโค้ชชิ่งให้กับพนักงาน และสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการคิดนอกกรอบ
“อย่างที่ศรีจันทร์ เราออกกฎเป็นข้อบังคับให้พนักงานออกไปทำงานข้างนอก 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จได้นั้น ผู้นำองค์กรจะต้องสื่อสารถึงเป้าหมายให้พนักงานเข้าใจ และมองเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะพาองค์กรไปในทิศทางไหน เหมือนกับการกำหนดทิศบนแผนที่จะต้องชัด แล้วค่อยไปหาวิธีการเดินทางว่าจะไปทางเรือ ทางรถ หรือเครื่องบินเพื่อไปถึงจุดหมายนั้น”
แน่นอนว่าการผลิตคนที่ใช่ให้กับองค์กร ย่อมส่งผลถึงวิธีคิดในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และนี่คือกรณีศึกษาด้าน Digital Transformation ที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีก และการเงินชั้นนำของไทย.