นับเป็นอีกก้าวสำคัญของ ไลน์ (LINE) ยักษ์ใหญ่บริการส่งข้อความสัญชาติญี่ปุ่นคว้าชัยได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างถูกกฎหมาย ถือเป็นการแตกสายธุรกิจสู่ตลาดที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต
หน่วยงานบริการด้านการเงินของญี่ปุ่น (Financial Services Agency) หรือ FSA ประกาศมอบใบอนุญาตให้แก่หน่วยธุรกิจบล็อกเชนของ LINE ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การอนุมัตินี้จะทำให้ LINE สามารถให้บริการซื้อขายเงินดิจิทัลหรือเงินคริปโตฯ (cryptocurrency) แก่ผู้ใช้กว่า 80 ล้านคนที่อาศัยในญี่ปุ่นได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ LINE เป็นข่าวเกี่ยวกับเงินคริปโตฯ เพราะหากย้อนกลับไปในเดือนมิ.ย. 2562 มีรายงานว่า LINE กำลังจะได้รับใบอนุญาตสำหรับแพลตฟอร์มเงินดิจิทัลของตัวเองที่ชื่อว่าบิตแม็กซ์ (BitMax) ในญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน LINE พัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาใหม่เป็นแพลตฟอร์มที่สอง ทำให้มีการเปิดตัวบริการชื่อบิตบ็อกซ์ (Bitbox) ที่สิงคโปร์ในเดือนก.ค. 2561
บริการที่ได้รับไลเซนส์จากหน่วยงานญี่ปุ่น คือบริการ BitMax ซึ่งได้รับการอนุมัติให้เสนอการซื้อขาย 5 สกุลเงินดิจิทัลทั้ง bitcoin (BTC), ether (ETH), bitcoin cash (BCH), litecoin (LTC) และ XRP ตามประกาศของ FSA
หน่วยธุรกิจบล็อกเชนของ LINE กลายเป็น 1 ใน 20 ของระบบแลกเปลี่ยนเงิน cryptocurrency ที่ได้รับอนุญาตในญี่ปุ่น ซึ่งในจำนวนนี้มีราคุเท็นวอลเล็ต (Rakuten Wallet) บริการในเครือยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซปลาดิบที่ได้รับการอนุมัติเมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงผู้เล่นที่มีประสบการณ์มากกว่า เช่น Coincheck และ SBI VC Trade เป็นต้น
สำหรับ cryptocurrency นั้นเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) เข้ามาดูแลโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ไม่ระบุชื่อทางอินเทอร์เน็ต เงิน cryptocurrency จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลใดหรือธนาคารกลางใดโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงไม่มีใครรับผิดชอบในการสนับสนุนมูลค่าของเงิน cryptocurrency
ในมุมของบริษัทรายใหญ่ บริษัทที่สนใจสามารถเปิดเหรียญของตัวเองเพื่อนำไปใช้บนแพลตฟอร์มของตัวเองได้ เหมือนที่เฟซบุ๊กเปิดตัวเงิน Libra จนเป็นข่าวดัง
อย่างไรก็ตาม ทุกคนรู้ดีว่า cryptocurrencies นั้นมีความผันผวนอย่างมาก ค่าของสกุลเงินดิจิทัลสามารถพุ่งทยานสูงกระฉูดใน 1 วันก่อนจะลดฮวบลงไปอย่างไม่คาดฝัน และการใช้งานยังกระจุกตัว มีการประเมินว่าผู้ใช้เงิน cryptocurrencies มีเพียงประมาณ 30 ล้านรายทั่วโลกเท่านั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2019.