Facebook ลงดาบ 69,000 แอป เซ่นกระบวนการตรวจสอบความเป็นส่วนตัว

คดีอื้อฉาว เคมบริดจ์ อะแนไลติกา (Cambridge Analytica) เมื่อปีที่แล้ว ทำให้ “เฟซบุ๊ก” ต้องลงดาบ “แอปพลิเคชัน” หลายหมื่นรายการ หลังเริ่มกระบวนการตรวจสอบความเป็นส่วนตัวแบบเข้มข้น แอปส่วนใหญ่ถูกสร้างโดยนักพัฒนาประมาณ 400 รายและบางส่วนกำลังอยู่ในขั้นตอนทดสอบซึ่งไม่ได้เปิดให้บริการเต็มตัว ทำให้เหมารวมไม่ได้ว่าแอปทั้งหมดที่ถูกระงับเป็นภัยคุกคามต่อผู้ใช้

โดย Facebook ระบุว่าจำนวนแอปพลิเคชันที่ระงับในปีนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2018 เพราะการแบ่งปันข้อมูลระหว่างแอปนั้นแพร่หลายกว่าเดิม โดยปีที่ผ่านมา การตรวจสอบนำไปสู่การระงับ 400 แอปพลิเคชันเท่านั้น

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของแอปที่ถูกระงับ แต่ผู้บริหาร Facebook ยืนยันว่าแอปพลิเคชันทั้งหมดไม่ถือเป็นภัยคุกคามต่อผู้ใช้ เพราะหลายแอปพลิเคชันยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบเท่านั้นเมื่อ Facebook ระงับบริการ

อย่างไรก็ตาม Facebook แถลงในเอกสารที่ส่งถึงศาลรัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาว่าส่วนใหญ่ในแอปพลิเคชันจำนวน 69,000 แอปที่ถูกระงับนั้นมีสาเหตุเพราะนักพัฒนาไม่ได้ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ประเด็นนี้นิวยอร์กไทม์ส (The New York Times) รายงานว่าราว 10,000 แอปในจำนวนนี้เป็นแอปที่มีนโยบายใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสม

การระงับแอปของ Facebook เป็นสัญญาณแสดงว่าเครือข่ายโซเชียลยักษ์ใหญ่กำลังดำเนินการตามข้อตกลงเรื่องการปราบปรามนักพัฒนาที่ละเมิดนโยบายในการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นข้อกังวลจากหลายสำนักในช่วงปีที่ผ่านมา การระงับนี้ยังสะท้อนว่าข้อมูลส่วนบุคคลยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับ Facebook ซึ่งมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้มากกว่า 2.4 พันล้านคนทั่วโลก

ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ถูกประเมินว่ามีค่าสูงมาก ทั้งในสายตาของนักการตลาดและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่พยายามผลักดันให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดแอปและชมโฆษณาในแอป ซึ่งกลายเป็นแหล่งรายได้หลักที่เลี้ยงหลายธุรกิจจนยิ่งใหญ่ในทุกวันนี้

ที่ผ่านมา Facebook จึงพยายามบอกให้โลกรู้ถึงขั้นตอนหลายขั้นที่เริ่มดำเนินการในปีที่ผ่านมาเพื่อปราบปรามนักพัฒนาแอปที่ละเมิดนโยบายของ Facebook ที่เห็นชัดคือเมื่อปีที่แล้ว Facebook สั่งแบนแอปที่แชร์ข้อมูลกับนักวิจัย หรือการยื่นฟ้องศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อเอาผิดบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลของเกาหลีใต้ ที่ Facebook อ้างว่าไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน ล่าสุดคือเมื่อเดือนที่แล้ว Facebook ยื่นฟ้อง 2 บริษัทที่ใช้แอปพลิเคชั่นในการแพร่กระจายมัลแวร์เพื่อสร้างกำไรอย่างไม่เป็นธรรม.

Source