กสทช. ยัน 5G ไทยไม่ช้า! เตรียมคลื่นไว้แล้ว ถามใจ “โอเปอเรเตอร์” พร้อมประมูลหรือไม่

วันนี้ (25 ..) เว็บไซต์ manager.com หรือ MGROnline ในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 จัดเสวนาในหัวข้อกระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันถกปัญหาสำคัญของ “5G” ในประเทศไทยว่าเหตุใดจึงไปไม่ถึงฝัน

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าการให้บริการ 5G เป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมทั่วโลกที่นำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ ประเทศไทยเองต้องการให้ 5G เกิดในปี 2563 ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลชุดก่อนที่ต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้

ดังนั้นหน้าที่ของ กสทช. คือจัดสรรคลื่นความถี่รองรับ 5G ปัจจุบัน ITU ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับนานาชาติขององค์การสหประชาชาติ ยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการว่าจะให้ใช้คลื่นไหนเป็นคลื่น 5G โดยการประชุมจะเกิดขึ้นปลายเดือนต.ค. นี้ ในงาน WRC 2019

ขณะนี้หลายประเทศได้เดินหน้า 5G กันไปแล้ว โดยจัดให้มีอุปกรณ์ค้นคว้าทดลองใช้คลื่น 5G ซึ่งมีความเร็วกว่า 4G สิบเท่า กสทช. เองก็จัดตั้งคณะทำงาน หาแนวทางการนำคลื่นมาให้บริการ 5G

“เมื่อ กสทช. จัดคลื่นแล้วก็ต้องมีโอเปอเรเตอร์มาประมูลคลื่น ถ้าไม่มีโอเปอเรเตอร์มาประมูล 5G ก็ไม่เกิด เงื่อนไขที่จะทำให้ 5G เกิด ก็คือต้องให้โอเปอเรเตอร์มาประมูลคลื่นไปดำเนินการ”

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร

พล.อ.สุกิจกล่าวย้ำว่า ประเทศไทยยังไม่ช้าเรื่อง 5G เพราะในบรรดาประเทศอื่นๆ ที่เดินหน้า 5G ไปแล้ว ปัจจุบันมีมือถือเพียงไม่กี่ยี่ห้อ ไม่กี่โมเดล ที่สามารถรองรับ 5G ได้ และอยู่ในขั้นของการพัฒนาไปเรื่อยๆ อะไรก็แล้วแต่ที่ยังอยู่ในขั้นของการพัฒนาไปเรื่อยๆ มันก็ยังไม่หยุด

กสทช. ชี้ 5G ไม่เกิดเสียโอกาส

ในวงเสวนา “กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน” ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าขณะนี้การจัดสรรคลื่นความถี่ยังเป็นไปตามแผนทั้งหมด ทั้งคลื่น 2600 และ คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้ง 26 – 28 กิกะเฮิรตซ์ ที่เริ่มกระบวนการประมูลในปี 2563 หากเป็นไปตามนี้ การเปิดบริการ 5G ในปลายปี 2563 จะเดินได้ตามโรดแมป โดยจะให้บริการบางพื้นที่เชิงพาณิชย์ก่อน เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โลจิสติกส์

หากประเทศไทยเดินหน้า 5G ได้เร็วกว่าหรือใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ นักลงทุนไม่ย้ายฐาน แต่หาก 5G ไม่เกิดจะได้รับผลแน่นอน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และดึงนักลงทุนไม่ให้ย้ายฐานการผลิต

“5G หากไม่เกิดประเมินมูลค่าสูญเสียโอกาสจากภาคการผลิต 600,000 ล้านบาท โลจิสติกส์ 100,000 ล้านบาท  ภาคเกษตร 90,000 ล้านบาท รวมสูญเสีย 2 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งคงยอมไม่ได้ จึงต้องเดินหน้าขับเคลื่อน 5G ต่อไป”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

มั่นใจ 5G เกิดได้ปี 63

เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าการหารือร่วมกับ “โอเปอเรเตอร์” ก่อนหน้านี้ ทุกรายนิ่งหมด โดยบอกว่าการลงทุน 4G ยังไม่คุ้มทุน ขณะที่การลงทุน 5G ต้องใช้เงินลงทุนสูง เพราะเป็นคนละเทคโนโลยีกับ 4G แต่ละรายต้องใช้เงินลงทุนหลัก “แสนล้านบาท” จึงลำบากที่จะลงทุนในช่วงนี้ และต้องการให้รัฐบาลช่วยกำหนดเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นให้ฟรีก่อน เพราะหากดูการจัดสรรคลื่น 5G ในประเทศจีน เวียดนาม ก็ได้กำหนดเงื่อนไขให้โอเปอเรเตอร์ได้ใช้ฟรีก่อน แล้วนำมาชำระเงินภายหลัง

ปัจจุบัน กสทช. ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและวางแนวทางทำงานร่วมกัน เพราะ 5G ไม่ใช่บริการสำหรับโมบายอย่างเดียว แต่ใช้ในทุกอุปกรณ์ของภาคอุตสาหกรรมและบริการ จึงต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น

จากการรับฟังความเห็นของคณะทำงาน พบว่ามี 3 เรื่องหลัก 1. การกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ 2. การลงทุนของโอเปอเรเตอร์ 3. การต่อยอดการทำงาน การนำไปใช้งาน

“เมื่อโอเปอเรเตอร์มีความมั่นใจในการลงทุน เชื่อว่าจะช่วยสานฝัน 5G ให้เกิดขึ้นได้ในปี 2563 เพราะ 5G เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศและของโลก”

อเล็กซานดรา ไรซ์

รอดูเงื่อนไขประมูล-ราคาคลื่น

อเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  กล่าวว่า 5G ในประเทศไทยจะเกิดได้ต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย เพราะ 5G เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับ B2B ส่วน B2C ก็ได้ประโยชน์ ในเกาหลีการทดสอบ 5G ยังไม่ได้ผลที่ชัดเจนเพราะมีผู้ใช้งานแค่ 10% เครือข่ายก็ยังไม่ดีมาก การขับเคลื่อน 5G ทั่วโลกเหมือนยังเป็นการหวังผลทางการตลาดมากกว่า

บริการ 5G เป็นการใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนของอุตสาหกรรมต่างๆ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่คิดว่าพร้อมจะจ่ายค่าใช้บริการในอัตราสูงขึ้นเพื่อความเร็วที่ดีกว่าเดิม ดีแทคต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนา ผ่านการขับเคลื่อน 5G เพราะเห็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

“การทำให้เกิด 5G ถ้าเร่งมากไปจะได้ผลที่ไม่ชัดเจน จึงควรมีโรดแมป มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการลงทุนที่เหมาะสม มองว่าปี 2563 อาจจะเร็วเกินไป ปี 2564 น่าจะเหมาะสมมากกว่าเพราะจะมีความพร้อมทั้งการลงทุน ภาครัฐต้องคิดถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากเทคโนโลยีในระยะยาว”

ดีแทคมุ่งมั่นและต้องการลงทุน 5G แต่ด้วยราคาคลื่นความถี่คงต้องขอเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน การลงทุน 5G จะเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทุกราย พร้อมที่จะขยายเครือข่ายให้บริการ 5G แต่ต้องขอดูรายละเอียดเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ที่เหมาะสมด้วย

“สุดท้ายแล้ว 5G จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะต้องมีการลงทุนทางธุรกิจที่สมเหตุสมผล”

จรีพร จารุกรสกุล

หนุนดึงต่างชาติลงทุน

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในฐานะภาคอุตสาหกรรมที่ลงทุนนิคมอุตสาหกรรม ยังไม่ได้รับความชัดเจนโรดแมป 5G ของประเทศ เพราะผู้ลงทุนทุกคนอยากรู้ว่าการลงทุนจะได้ผลการลงทุนคุ้มค่าหรือไม่

การประเมินว่า 5G จะทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ 1.307 พันล้านล้านเหรียญสหรัฐ มาจากภาคพลังงาน 19% การผลิต 18% สาธารณสุข 12% กลุ่มเหล่านี้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งนั้น แต่ทั้งหมดยังไม่มีข้อมูลและการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรม

ต้องบอกว่า “เทรดวอร์” ที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสที่ดีของไทยในการเคลื่อนย้ายทุนการผลิตจากจีนมาที่ประเทศไทย 5G เป็นส่วนที่สำคัญ ที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่จะมา ช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม เพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาส

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

แนะปรับวิธีประมูล

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการเกิด 5G นั้น มองด้านเศรษฐกิจ 5G ทำให้การเชื่อมโยงในการติดต่อกันรวดเร็วขึ้น เกิดความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เกิดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เกิดการดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ เกิดนวัตกรรมใหม่

ในอนาคต 5G จะเป็นบริการที่อยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ของภาคการผลิต เช่นเดียวกับภาคบริการที่สามารถติดตั้งเซ็นเซอร์กับสินค้า เพื่อตรวจสอบการให้บริการต่างๆ การเก็บ “ดาต้า” ต่างๆ จากผู้ใช้งาน

ดังนั้นไมว่าจะเร็วหรือช้า ก็จะมีการเดินหน้าเรื่อง 5G

ด้านรูปแบบการลงทุน 5G มองว่าหากจะใช้วิธีประมูลเหมือนเดิม “ไม่เห็นด้วย” เพราะควรหาแนวทางในการประมูลที่เหมาะสม เช่น รายใดเสนอค่าบริการต่ำสุดชนะ แม้รัฐบาลได้เงินน้อยแต่ยังมีการลงทุนยังมีเหมือนเดิมที่จะช่วยด้านเศรษฐกิจ และประชาชนได้ใช้บริการในราคาถูก