ตามคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล นอกจากเปิดทางให้คืนใบอนุญาตและรับเงินชดเชยแล้ว ยังมีประเด็นการสนับสนุนงบประมาณให้ “องค์กรกลาง” ที่มีทีวีดิจิทัลเป็นสมาชิก จัดทำระบบเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ จากเดิมที่จะสรุปเลือกองค์กรกลางได้รับงบในเดือน ต.ค. นี้ แต่จากประกาศฯ ใหม่ ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี
ขั้นตอนการเลือกองค์กรกลางที่จะได้รับงบจัดทำเรตติ้ง ที่ กสทช.เคาะงบประมาณมาให้ 431 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 กสทช.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการจัดทำระบบสำรวจเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่
สาระสำคัญของประกาศ คือ กำหนดคุณสมบัติให้ “องค์กรกลาง” ที่เป็นนิติบุคคล มาจากการรวมกลุ่มของทีวีดิจิทัลจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ได้รับใบอนุญาต และเป็นองค์กรกลางที่จดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงเข้าหลักเกณฑ์เสนอของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีใหม่
พบว่ามีเพียง สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่มี “สุภาพ คลี่ขจาย” เป็นนายกสมาคม เพียงรายเดียวที่มายื่นของบประมาณทำเรตติ้งทีวีใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2562 หลังจากนั้น วันที่ 20 ก.ย. 2562 ช่อง 7 ได้ไปยื่นฟ้อง กสทช. ที่ศาลปกครองกลาง เรื่องการออกประกาศหลักเกณฑ์ให้เงินสนับสนุนจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล ที่กำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติต้องเป็นองค์กรกลางที่จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งเข้าข่าย “กีดกั้น” รายอื่นๆ
ยกเลิกประกาศฯ เดิมเปิดทุกองค์กรของบ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากได้รับคำฟ้องจากศาลปกครองกลาง ได้ประชุมคณะทำงานที่จัดทำเรื่องงบประมาณสนับสนุนเรตติ้งทีวีดิจิทัล โดยสรุป วันนี้ (27 ก.ย.) ได้ “ยกเลิก” ประกาศฯ หลักเกณฑ์เดิมที่ประกาศฯ ไปเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 พร้อมออกประกาศฯหลักเกณฑ์ใหม่ในวันนี้
สาระสำคัญของประกาศใหม่ คือ “ยกเลิก” คุณสมบัติองค์กรกลางที่ต้องจดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และกำหนดคุณสมบัติใหม่ ให้ทุกองค์กรกลาง ที่รวมตัวสมาชิกทีวีดิจิทัล มายื่นเสนอของบจัดทำเรตติ้งได้ทุกองค์กร โดยไม่กำหนดอายุขององค์กรกลางที่จัดตั้งใหม่
โดยเปิดรับ “องค์กรกลาง” ที่จะมายื่นของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล เป็นระยะเวลา 1 ปี คือ ในช่วง 1 ปีนี้ องค์กรใดที่มีสมาชิกทีวีดิจิทัล จะมายื่นของบประมาณก็ได้ หลังจากครบเวลา 1 ปีที่เปิดให้ยื่นของบประมาณ เป็นขั้นตอนการพิจารณาให้งบประมาณองค์กรกลาง วงเงิน 431 ล้านบาท ไปจัดทำเรตติ้ง ซึ่งองค์กรกลางจะไปว่าจ้างบริษัทใดก็ได้ โดย กสทช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างดังกล่าว
“หากในช่วง 1 ปีนี้ ไม่มีองค์กรกลางรายใด มายื่นเสนอของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ กสทช. จะนำเงิน 431 ล้านบาท ส่งคืนรัฐ”
ช่อง 7 ร่วมวงชิงงบจัดทำเรตติ้ง
วันนี้ ที่สำนักงาน กสทช. มีกำหนด “คืนเงิน” ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 ให้กับทีวี ดิจิทัล 3 ช่อง คือ ช่อง 7 เวิร์คพอยท์ทีวี และสปริงนิวส์ 19 รวม 1,055 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 ช่อง จ่ายเงินมาแล้ว แต่ได้รับสิทธิไม่ต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาต จากมาตรการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล ตามมาตรา 44 คำสั่ง คสช.
ฐากร กล่าวว่าได้หารือทำความเข้าใจเรื่องการ “ยกเลิก” ประกาศฯ เดิม และออกประกาศฯ ใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ทุกองค์กรที่รวมตัวจากสมาชิกทีวีดิจิทัล มาเสนอของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ ร่วมกับ ดร.เยาวลักษณ์ พูลทอง กรรมการผู้จัดการ ช่อง 7 ในโอกาสมารับเช็คคืนเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะไปชี้แจ้งข้อมูลกับศาลปกครองกลางต่อไปถึงการออกประกาศฯ ใหม่
จากการหารือกับ ช่อง 7 เห็นว่าจะรวบรวมสมาชิกทีวีดิจิทัล จัดตั้งเป็นองค์กรกลาง เพื่อเสนอตัวเข้ามาของบประมาณสนับสนุนจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่กับ กสทช. ด้วยเช่นกัน
เปิดรายละเอียด ประกาศใหม่เรตติ้ง กสทช.
วันนี้ (27 ก.ย. 2562) กสทช. ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล (ฉบับที่ 2)
โดยที่เป็นการปรับปรุงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมตามคำสั่งหัวหน้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการ ประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมลงวันที่ 11 เมษายน 2562 อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 ข้อ 14 และข้อ 15 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอลลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2562
ข้อ 2 ในประกาศนี้ “การสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์” หมายความว่าการสำรวจและวิจัยระดับความนิยม (Rating) ของช่องรายการโทรทัศน์ หรือเนื้อหารายการโทรทัศน์ และรวมถึงการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำฐานข้อมูล การให้บริการ ฐานข้อมูลการตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล
“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
“สำนักงาน กสทช.” หมายความว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ข้อ 3 ผู้ที่มีสิทธิขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล จะต้องเป็นองค์กรกลางในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่เกิดจากการวมตัวของผู้รับใบอนุญาตทุกราย หรือ
(2) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่เกิดจากการวมตัวของผู้รับใบอนุญาตและได้มีการเชิญชวนผู้รับใบอนุญาตในส่วนที่เหลือแล้วเพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ หรือ
(3) ผู้รับใบอนุญาตมีการรวมตัวกันโดยต้องมีการเชิญชวนผู้รับใบอนุญาตทุกรายมาประชุมร่วมกัน เพื่อดำเนินการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
ข้อ 4 องค์กรกลางที่จะขอรับเงินสนับสนุนตามประกาศนี้ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ยื่นต่อสำนักงาน กสทช. ภายในหนึ่งปีนับแต่วันบระกาศนี้มีผลใช้บังคับและจะต้องมีเอกสารประกอบการพิจารณา ดังต่อไปนี้
(1) หนังสือจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมาย
(2) หลักฐานการเชิญชวนผู้รับใบอนุญาตทุกรายเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรตาม 3 (2) หรือ(3) ทั้งนี้ กรณีมีผู้รับใบอนุญาตเข้าร่วมไม่ครบทุกรายจะต้องแสดงเหตุผลพร้อมเอกสารหลักฐาน
(3) รายละเอียดข้อเสนอในการดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอลโดยอย่างน้อยจะต้องแสดงแผนการดำเนินการและแผนการใช้จ่ายเงินตลอดระยะเวลาในการดำเนินการ
(4) เอกสารอื่นใดตามที่สำนักงาน กสทช. เห็นสมควรเพื่อประกอบการพิจารณา
ข้อ 5 การจ่ายเงินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ให้สำนักงาน กสทช.จ่ายเป็นรายงวดตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงแผนการดำเนินงาน และจะต้องมีการทำข้อตกลงยินยอมการปฏิบัติ ตามเงื่อนไขการสนับสนุนตามที่สำนักงาน กสทช.กำหนดข้อตกลงยินยอมการปฏิบัติตามเงื่อนไขการสนับสนุนตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) องค์กรกลางจะต้องยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช.กำหนด
(2) สำนักงาน กสทช.จะต้องได้รับหรือมีสิทธิในการเข้าใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความนิยมซ่องรายการโทรทัศน์เพื่อประโยชในการกำกับดูแลการแข่งขันโดยไม่มีคำใช้จ่าย
(3) องค์กรกลางจะต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลกระบวนการสำรวจเท่าที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์เมื่อได้รับการร้องขอ
(4) องค์กรกลางจะต้องสามารถสนับสนุนข้อมูลต่อหน่วยงนราชการหน่วยงานของรัฐสถาบันการศึกษาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการอื่นใดที่มีความเกี่ยวข้องไนอุตสาหกรรมโทรทัศน์
(5) ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประภทสาธารณะจะองมีสิทธิการข้ร่วมระบบกาสำรวจข้อมูลความนิยมการรับชมรายการโทรทัศน์
ข้อ 6 ในกรณีที่ไม่มีองค์กรกลางขอรับการสนับสนุนตามประกาศนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามข้อ 4 หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้สำนักงาน กสทช.ไม่อาจสนับสนุนเงินตามประกาศนี้ได้ สำนักงาน กสทช.จะนำส่งเงินดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
ศึกจัดทำเรตติ้งทีวีแข่งเดือด
ความเคลื่อนไหวเรื่องการจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ หลังคำสั่ง คสช. มาตรา 44 สนับสนุนงบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 สำนักงาน กสทช. ได้เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการ 3 ราย คือ ประกอบด้วย บริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ PSI ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียม, เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดทำเรตติ้งทีวีปัจจุบันและอยู่ในตลาดมากว่า 30 ปี และสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA
ขณะที่ สมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย ที่มี “สุภาพ คลี่ขจาย” เป็นนายกสมาคมฯ และเป็นองค์กรกลาง แห่งเดียวที่ยื่นเสนอของบสนับสนุนจัดทำเรตติ้งจาก กสทช. มีความชัดเจนว่า จะสนับสนุน MRDA ในการจัดทำเรตติ้งใหม่
ในฝั่งของ ช่อง 7 มีความชัดเจนเช่นกันว่า ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก MRDA และประกาศไม่ใช้ระบบการจัดทำเรตติ้งทีวีใหม่ ที่อุตสาหกรรมสื่อทีวีและมีเดีย เอเยนซี จะใช้เป็นตัวเลขอ้างอิงในการวางแผนโฆษณา
ถือเป็นศึกจัดทำเรตติ้งทีวี ที่ต้องฟาดฟันกันจนนาทีสุดท้าย และต้องรอดูว่างบประมาณ 431 ล้านบาท จะอยู่ในมือใคร แต่ทุกรายมีเวลาอีก 1 ปี ก่อนเส้นตาย กสทช. ส่งเงินคืนรัฐ หากไม่มีองค์กรกลางรายใดเสนอตัวเข้ามารับงบประมาณหรือมีเหตุที่ไม่สามารถเลือกองค์กรกลางได้.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง