เปิดเหตุผล! ทำไมญี่ปุ่นต้องขึ้นภาษีบริโภคจาก 8% เป็น 10%

โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

จากนี้ไปสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดในญี่ปุ่นจะแพงขึ้น ค่ารถไฟ ค่าน้ำและค่าไฟก็จะแพงขึ้น สาเหตุมาจากการขึ้น ภาษี (ผู้) บริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2019 เป็นต้นไป เรื่องนี้เกิดกระแสต่อต้านเพราะไม่มีใครอยากจ่ายแพง แต่รัฐบาลก็บอกว่าเราจำเป็นต้องทำและนี่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานะทางการคลังของญี่ปุ่น รายละเอียดเป็นอย่างไร พื้นที่ตรงนี้จะขยายความให้กระจ่างขึ้น

ต้องไว้ค้ำจุนสังคม

เมื่อกล่าวถึงความจำเป็น พบว่าจำเป็นจริงๆ นั่นแหละ เพราะประเทศต้องหาเงินไปโอบอุ้มค้ำจุนสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่มีคนชราผู้ต้องการการดูแลอยู่มากมาย ในขณะที่คนหนุ่มสาววัยทำงานมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด อย่างในปีงบประมาณ 2019 เงินที่แบ่งไว้ใช้จ่ายคือประมาณ 78 ล้านล้านเยน ในจำนวนนี้เป็นงบสวัสดิการสังคมสูงถึง 34.5 ล้านล้านเยน เช่น การศึกษาของเด็ก การพยาบาลดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนั้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือเงินใช้หนี้ประมาณ 23.5 ล้านล้านเยน รวมแล้วคือ 101.5 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นงบทำสถิติใหม่สูงสุด และสูงขึ้นติดต่อกันมา 7 ปีแล้ว

ส่วนรายรับนั้นได้จากภาษี (ทุกประเภท) เป็นหลักคือ 62% รองลงมาคือการออกพันธบัตรซึ่งก็คือการก่อหนี้ โดยมีสัดส่วน 32% และรายรับทางอื่นอีกเล็กน้อยขณะนี้การก่อหนี้เพื่อหาเงินดูเหมือนไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับญี่ปุ่นอีกต่อไปและเมื่อสถานการณ์บีบคั้นให้หาเงินโดยหลีกเลี่ยงหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้รัฐบาลก็ต้องมาคิดแล้วว่าจะหาจากแหล่งไหน

ในที่สุดก็ลงเอยที่การขึ้นภาษีบริโภค (รายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางการเก็บภาษีบริโภคของญี่ปุ่น ติดตามได้ที่ https://mgronline.com/japan/detail/9620000048150) รัฐบาลพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือหนทางที่เหมาะสมแล้ว อีกทั้งก็มีบางกระแสพยายามชี้ให้เห็นว่าภาษีบริโภคของญี่ปุ่นนั้นจัดว่าถูกเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก 25%, อังกฤษ 20%, จีน 16%, เกาหลีใต้ 10% ดังนั้น ขึ้นอีกนิดเดียวคงไม่หนักหนา

สร้างแหล่งรายรับให้พอกับรายจ่าย

แม้ประชาชนพอจะทราบถึงความจำเป็นอยู่บ้าง แต่ก็ยังข้องใจไม่หายเพราะธรรมชาติของคนย่อมไม่มีใครอยากจ่ายแพง จึงเรียกร้องขอฟังเหตุผลให้ชัดๆ หน่อยว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไร” –เท่าที่เก็บตอนนี้ไม่พอหรอกหรือ และเก็บภาษีอื่นไม่ได้หรือ” ทำไมต้องภาษีบริโภค ภาษีทางอ้อมชนิดนี้จะส่งผลกระทบกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะมีรายได้มากหรือน้อย

คำตอบจากรัฐบาลคือ ไม่พอและไม่ควรเก็บจากภาษีประเภทอื่นข้อความที่รัฐให้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยประกาศที่หน้าโฮมเพจกระทรวงการคลังมีใจความว่า ท่ามกลางภาวะสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดที่น้อยลง คนวัยทำงานรุ่นปัจจุบันมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วและมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ตอนนี้คนทำงานรุ่นปัจจุบันรับภาระหนักขึ้นทุกปีในด้านการจ่ายเงินประกันสังคมซึ่งต้องเอาไปใช้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ ถ้าขึ้นภาษีเงินได้หรือภาษีนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นแหล่งงบประมาณ จะทำให้ภาระกระจุกตัวอยู่กับคนรุ่นนี้มากกว่าเดิม

ภาษีบริโภคซึ่งมีลักษณะเป็นการกระจายภาระอย่างกว้างขวางแก่ทุกคนในประเทศรวมถึงผู้สูงอายุด้วย โดยช่วยกันจ่ายแบบไม่เจาะจงภาระให้ตกเป็นของคนเฉพาะกลุ่ม จึงมองได้ว่าเป็นแหล่งรายรับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าภาษีเงินได้และภาษีนิติบุคคลมีแนวโน้มลดลงเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี แต่ภาษีบริโภคไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจเท่าใดนัก

ใช้หนุนผู้สูงวัย

หลักการและเหตุผลตามภาษาทางการเมื่ออ่านแล้วอาจเห็นภาพไม่ชัด นำมาสกัดเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายหน่อยก็คือ รัฐบาลต้องหาเงินไป ใช้หนุน ระบบสวัสดิการสังคมซึ่งนับวันค่าใช้จ่ายมีแต่จะสูงขึ้นเพราะมีคนแก่มากมายและคนวัยทำงาน (อายุ 20 – 64 ปี) ลดลง ตอนนี้เมื่อคำนวณออกมาแล้วปรากฏว่า ณ ปี 2019 คนทำงาน 1.9 คนคือผู้ค้ำจุนผู้สูงอายุหนึ่งคน, แต่ในปี 2040 คนค้ำจุนจะเหลือ 1.4 คน และในปี 2065 จะเหลือเพียง 1.2 คน

ขณะที่เก็บ 8% รัฐมีรายรับส่วนนี้ปีละ 23 ล้านล้านเยน เมื่อเก็บ 10% จะมีรายรับ 29 ล้านล้านเยน ส่วนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านล้านเยน ครึ่งหนึ่งจะนำไปสนับสนุนระบบสวัสดิการสังคม อีกครึ่งหนึ่งจะนำไป ใช้หนี้ ที่มีสัดส่วนสูงมากถึงประมาณ 235% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และสูงกว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา (108%), อังกฤษ (86%) และเยอรมนี (60%)

สาเหตุที่ตัดสินใจใช้ภาษีบริโภคเป็นแหล่งรายรับก็เพราะ มีเสถียรภาพ ไม่ค่อยผันผวนตามสภาพเศรษฐกิจเท่าไร ญี่ปุ่นเอาสถิติด้านรายรับจากภาษีมาดูแล้วเปรียบเทียบกัน ในบรรดาแหล่งรายรับสำคัญๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (เส้นสีชมพู/แกนขวา), ภาษีนิติบุคคล (เส้นประ/แกนขวา), ภาษีบริโภค (เส้นสีดำ/แกนขวา) ปรากฏว่ารายรับจากภาษีบริโภคมีแนวโน้มผันผวนน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ภาษีบริโภคเก็บอย่างเท่าเทียมกันในด้านการกระจายภาระ ไม่ใช่การเจาะจงกลุ่มคนว่ามีรายได้สูงแล้วจะต้องจ่ายมาก มีรายได้ต่ำแล้วจะจ่ายน้อย จึงมองได้ว่าไม่ใช่ภาระของคนเฉพาะกลุ่ม ทว่าในทางเศรษฐศาสตร์ ตรงนี้เกิดประเด็นโต้แย้ง กล่าวคือ เงิน 100 เยนของผู้มีรายได้น้อยนั้นมีค่าสูงกว่าเงิน 100 เยนของคนมีรายได้มาก ดังนั้นเมื่อต้องจ่ายแพงขึ้น ผู้มีรายได้น้อยย่อมรู้สึกว่าลำบากกว่าผู้มีรายได้มาก ทางรัฐบาลเองก็ตระหนักถึงจุดนี้เช่นกัน แต่ก็เลือกที่ขึ้นภาษีบริโภคเพราะมองว่าเป็นรายรับที่เหมาะสมที่สุด โดยได้วางมาตรการแบ่งเบาภาระสำหรับมีผู้มีรายได้น้อยไว้ในระดับหนึ่ง

อีกประการหนึ่งคือ ภาษีบริโภคส่งผลต่ำต่อแรงจูงใจในการทำงานและการลงทุนของบริษัท กระแสคัดค้านการขึ้นภาษีบริโภคมักมีคำถามว่าทำไมไม่ขึ้นภาษีอื่นล่ะ โดยเฉพาะภาษีเงินได้และภาษีนิติบุคคล เหตุผลก็คือรัฐบาลคิดว่าถ้าขึ้นภาษีเงินได้ อาจจะบั่นทอนกำลังใจคนทำงาน และถ้าขึ้นภาษีนิติบุคคลก็อาจบั่นทอนการตัดสินใจลงทุนหรือขยายกิจการของบริษัท สำหรับข้อนี้ก็มีคนโต้แย้งอีกเช่นกันว่าอุ้มคนรวย

เป็นอันว่าประชาชนได้รู้ที่ไปและที่มาแล้ว แต่ก็อย่างว่าถ้าเลือกได้ ใครจะอยากจ่ายแพง ฉะนั้นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือ ในเดือนกันยายนก่อนภาษีจะขึ้น โดยเฉพาะในสัปดาห์สุดท้าย อุปสงค์ต่อสินค้าหลายชนิดจึงพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะประชาชนคิดว่าอะไรที่ซื้อได้ก็ควรรีบก่อนที่จะต้องจ่ายแพงกว่าเดิม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไประยะหนึ่งจนกว่าประชาชนจะชินคือ ผู้คนจะประหยัดค่าใช้จ่าย และยอดขายสินค้าจะลดลงช่วงหนึ่งหลังจากขึ้นภาษีใหม่ๆ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาในช่วงที่ขึ้นภาษีบริโภคจาก 3% => 5% (1997) และ 5% => 8% (2014) มูลค่าการใช้จ่ายของประชาชนก็ลดลงจริงๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มิได้ใจจืดใจดำไปเสียทุกอย่าง เนื่องจากเกรงว่าเศรษฐกิจจะหดตัวมากเกินไปและผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบหนัก จึงมีมาตรการออกมาช่วยบรรเทาเล็กน้อย เช่น ใช้อัตราภาษีผ่อนปรน หมายความว่า สินค้าบางชนิดจะยังคงถูกเก็บภาษีในอัตราเดิมคือ 8% โดยเฉพาะสินค้าอาหารตามซูเปอร์มาร์เกต, อาหารที่ซื้อกลับไปกินที่บ้านจะถูกเก็บภาษีแค่ 8% แต่ถ้ากินที่ร้านจะถูกเก็บ 10%, อาหารกลางวันที่จัดสรรให้เด็กนักเรียนที่โรงเรียนเก็บ 8% (แต่ก็มีสินค้าบางชนิดที่อาจเหนือความคาดหมาย เช่น ยา ภาษีจะขึ้นเป็น 10%) นอกจากนี้ก็มีการออกบัตรราคาพิเศษ (ถึงเดือนมีนาคม 2020) กล่าวคือ ครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0 – 2 ขวบหรือมีรายได้น้อย จะมีสิทธิ์ซื้อบัตรพิเศษที่ทางการท้องถิ่นเป็นผู้ออก และนำบัตรไปซื้อสินค้าที่มีราคาแพงกว่าบัตรนั้นได้ 25%, หรือระบบสะสมแต้ม (ถึงเดือนมิถุนายน 2020) โดยมอบแต้มสะสมให้หากผู้ซื้อชำระเงินด้วยบัตรเติมเงินหรือบัตรเครดิต

ในการขึ้นภาษีบริโภคครั้งนี้ รัฐบาลคาดหวังว่าจะส่งผลดีในระยะยาวต่อสถานะทางการคลัง แต่โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งที่เห็นว่าดีในวันนี้อาจไม่ดีในวันหน้าดังเช่นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบบสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่น อัตราภาษีบริโภค 10% จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวแค่ไหนยังไม่มีใครตอบได้ แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนจะต้องจ่ายแพงขึ้น ค่าครองชีพในญี่ปุ่นจะสูงขึ้นทั่วประเทศ! นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนค่าแรง?…แล้วแต่บริษัทจะโปรดและนี่ก็คือโลกแห่งความเป็นจริงเช่นกัน.

Source