นาซาสร้างประวัติศาสตร์! ส่งภารกิจหญิงล้วน “เดินอวกาศ” เป็นครั้งแรก

นาซาสร้างประวัติศาสตร์ส่งทีมมนุษย์อวกาศหญิง 2 คน ออกไป “เดินอวกาศ” เพื่อปรับปรุงสถานีอวกาศ นับเป็นภารกิจหญิงล้วนครั้งแรก ชิมลางก่อนภารกิจส่งผู้หญิงไปดวงจันทร์

คริสตินา คอช (Christina Koch) และ เจสสิกา ไมร์ (Jessica Meir) มนุษย์อวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้กลายเป็นทีมเดินอวกาศหญิงล้วนทีมแรกของประวัติศาสตร์

คริสตินา คอช (ซ้าย) และ เจสสิกา ไมร์ (ขวา) ร่วมสร้างประวัติศาสตร์เดินอวกาศโดยใช้ผู้หญิงทั้งหมดเป็นครั้งแรกเมื่อ 18 ต.ค.2019 (HO / NASA / AFP)

เดิมทีทั้งสองสาวมีภารกิจเดินอวกาศเพื่อปรับปรุงสถานีอวกาศเมื่อต้นปี 2019 นี้ แต่เกิดปัญหาเรื่องไม่มีชุดอวกาศที่พอดีตัวจึงต้องเลื่อนภารกิจออกมา

การเดินอวกาศครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค.19 เวลา 18.38 น.ตามเวลาประเทศไทย โดยหนึ่งในภารกิจของมนุษย์อวกาศหญิงคือเปลี่ยนเครื่องควบคุมพลังงานของสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) โดยมี สเตฟานี วิลสัน (Stephanie Wilson) ผู้สื่อสารประจำสถานีบอกขั้นตอนภารกิจ

ทีมมนุษย์อวกาศหญิงเริ่มภารกิจด้วยการตรวจสอบความเรียบร้อยของชุดอวกาศและเชือกล่ามตามมาตรฐานความปลอดภัย ก่อนจะพาตัวออกไปสู่จุดซ่อมแซมสถานีอวกาศ

ด้าน จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้อำนวยการนาซาให้ความสำคัญต่อภารกิจนี้มาก เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า อวกาศนั้นเป็นเป็นของทุกคน และปฏิบัติการนี้เป็นอีกก้าวของพัฒนาการ

“ผมมีลูกสาววัย 11 ขวบ ผมอยากให้เธอได้เห็นว่าตัวเธอนั้นมีโอกาสเปิดกว้างทุกอย่าง เหมือนที่ผมได้ค้นพบตัวเองเมื่อผมอยู่ในวัยกำลังโต” ผู้อำนวยการนาซากล่าว

เดิมทีภารกิจเดินอวกาศด้วยลูกเรือหญิงทั้งหมดนั้นมีกำหนดเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา แต่ต้องถูกยกเลิกไปเพราะนาซามีชุดอวกาศขนาดกลางแค่ชุดเดียว จึงต้องอาศัยภารกิจที่ใช้ทั้งผู้หญิงและชายทำหน้าที่แทน

คอชนั้นเป็นวิศวกรไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้นำทีมในภารกิจเดินอวกาศนี้ และนับเป็นการเดินอวกาศครั้งที่ 4 ของเธอ ส่วนไมร์นั้นจบปริญญาเอกทางด้านชีววิทยาทางทะเล และรับภารกิจเดินอวกาศเป็นครั้งแรก ทำให้ค่อนข้างระมัดระวังในการปฏิบัติภารกิจ

Photo : nasa

ทั้งสองคนรับหน้าที่เดินอวกาศเพื่อเปลี่ยนแบตเตอรีของสถานีที่เรียกว่า BCDU ซึ่งเสื่อมแล้ว โดยแบตเตอรีเก่านี้เป็นแบตเตอรีนิกเกิล-ไฮโดรเจน และถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรีลิเทียม-ไอออนที่เก็บพลังงานได้มากกว่า

สำหรับสถานีอวกาศนั้นอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก แต่เมื่อไม่ได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงก็จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี

สหรัฐฯ ได้ส่งมนุษย์อวกาศหญิงขึ้นสู่สถานีอวกาศครั้งแรกเมื่อปี 1983 โดย แซลลี ไรด์ (Sally Ride) ซึ่งเข้าร่วมในภารกิจที่ 7 ของปฏิบัติการกระสวยอวกาศ (Space Shuttle) และปัจจุบันสหรัฐฯ ยังเป็นชาติที่มีมนุษย์อวกาศหญิงมากที่สุด

ทว่ามนุษย์วอากศหญิงคนแรกของโลกคือ วาเลนตินา เตเรชโกวา (Valentina Tereshkova) มนุษย์อวกาศของโซเวียต ซึ่งได้ขึ้นไปอวกาศเมื่อปี 1963 และคนถัดมาคือ สเวตลานา ซาวิตสกายา (Svetlana Savitskaya) ซึ่งไปอวกาศเมื่อปี 1982 และยังผู้หญิงคนที่เดินอวกาศในอีก 2 ปีหลังจากนั้น

ขณะที่ เคน โบเวอร์ซอกซ์ (Ken Bowersox) รองผู้อำนวยการนาซาฝ่ายปฏิบัติการให้ความเห็นว่า เขาหวังว่าการเดินอวกาศโดยใช้ผู้หญิงทั้งหมดนั้นจะกลายเป็นเรื่องปกติ จนเราไม่ต้องฉลองในเรื่องนี้ ส่วนเหตุผลที่เราต้องรอนานกว่าจะมีภารกิจของทีมหญิงเช่นนี้ เพราะความสูงของผู้ชายเป็นเรื่องได้เปรียบในการเดินอวกาศ ทำให้เอื้อมมือไปทำงาน และทำภารกิจระหว่างเดินอวกาศได้ง่ายกว่า

“แต่เราก็ยังนำผู้หญิงมาเป็นลูกเรืออวกาศ เพราะสมองของพวกเธอ พวกเธอเข้ามาพร้อมกับทักษะที่แตกต่าง และคิดอะไรได้ในแนวทางที่ต่างออกไป และด้วยสมองของพวกเธอ ทำให้เอาชนะข้อจำกัดทางกายภาพได้” รองผู้อำนวยการนาซากล่าว

นาซาวางแผนที่จะส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 นี้ นับเป็นครั้งแรกหลังจากโครงการอะพอลโล (Apollo) ส่งคนไปลงดวงจันทร์ระหว่างปี 1969-1972 ส่วนโครงการใหม่นี้ใช้ชื่อว่าโครงการอาร์ทีมิส (Artemis) ซึ่งเป็นชื่อของนางสาวฝาแฝดของเทพอะพอลโลตามตำนานกรีก โครงการนี้ยังคาดหวังที่จะส่งผู้หญิงไปลงดวงจันทร์เป็นครั้งแรกด้วย.

Source