จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ ความเปลี่ยนแปลงคือความสำเร็จ

เป็นจำกัดความสั้นๆ ของนักธุรกิจหนุ่ม “จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์” ที่ต้องรับช่วงกิจการต่อจากพ่อที่เสียชีวิตลงในวัยเพียงแค่ 20 ปี โดยทิ้งธุรกิจโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ฝังมุกไว้ให้ เขาตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางใหม่ หันมาทำเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์ มุ่งสู่งานดีไซน์ ด้วยดีไซเนอร์ระดับโลก ล่าสุดเขายังเป็น 1 ใน 15 SME ที่คว้ารางวัล “เถ้าแก่ติดดาว” จากสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องเถ้าแก่ ในเครือ ASTV มาเป็นการันตี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2530 เวลานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการที่ชายหนุ่มวัยเพียง 20 ปีอย่าง ” จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์” ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ต้องมารับช่วงดูแลกิจกาารโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ฝังมุกต่อจากผู้เป็นพ่อที่เพิ่งเสียชีวิตไป ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด

“หลังจากคุณพ่อผมเสียเราก็เจอวิกฤตเพราะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีคนงาน 500 กว่าคน ตอนนั้นมีแค่ 2 ทางเลือกคือปิดโรงงานหรือทำต่อ เนื่องจากติดหนี้นอกระบบจำนวนมากและโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอ” จิรวัฒน์เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ 20 กว่าปีก่อนให้ POSITIONING ฟัง

แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเดินหน้าสานธุรกิจของคุณพ่อต่อ โดยเริ่มต้นจากการเคลียร์หนี้สินทั้งหมด ตั้งแต่ทยอยปิดร้านที่เปิดในสิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ทั้ง 3 สาขา เพราะไม่มีกำลังพอที่จะดูแลต่อ รวมทั้งลดจำนวนคนงานเหลือเพียง 100 กว่าคน ปรับโครงสร้างบริษัทให้มีขนาดเล็กลง ไปจนถึงปรับธุรกิจจากผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ฝังมุกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์เพื่อส่งออกต่างประเทศ เมื่อขาดหัวเรือสำคัญไปเท่ากับว่าต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เขาจึงได้ขอคำปรึกษาจากกรมส่งเสริมการส่งออกที่ให้การช่วยเหลือโดยให้พื้นที่เล็กๆ เพื่อแสดงเฟอร์นิเจอร์ไม้ฝังมุกและเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์

ด้วยความที่ช่วงนั้นเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์ถือเป็นของใหม่สำหรับไทยมาก ไม่ว่าเขาจะพูดกับใครก็ไม่ได้รับการยอมรับและมองว่าเป็นเรื่องแปลก ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋าเพื่อออกตามหาลูกค้าด้วยตัวเองในงาน Spoga ซึ่งเป็นแสดงเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์ระดับโลกที่จัดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน เดนมาร์ก และอิตาลี

“ตอนนั้นผมอายุแค่ 20 ปีเท่านั้น และไทยยังเป็นประเทศที่ Exotic กับต่างชาติ แต่ผมไปในลักษณะที่ไม่ยัดเยียดแล้วทำให้เขาสนใจและสงสัยอยากรู้จักกับเราเอง” การตัดสินใจครั้งนั้นของเขาส่งผลให้ได้ลูกค้าต่างชาติมาถึง 2 รายคือฝรั่งเศสที่มีความโดดเด่นด้านการดีไซน์ และเยอรมันที่มีการผลิตที่ดีเยี่ยม โดยงานแรกที่เขาได้รับคือออร์เดอร์การสั่งผลิตเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์มูลค่าถึง 10 ล้านบาทและจากนั้นก็มีออร์เดอร์อื่นๆ เข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เขาไม่ได้มองว่าทั้ง 2 รายเป็นเพียงลูกค้าแต่ยังเป็นผู้ให้ความรู้ทั้งด้านการออกแบบและการผลิตแก่ดีสวัสดิ์จนถึงวันนี้อีกด้วย

หลังจากที่สามารถติดต่อหาลูกค้ารายสำคัญได้แล้ว เขาก็ไม่ทิ้งการเรียนโดยย้ายจากการเรียนภาคปกติมาเป็นนักศึกษาภาคค่ำจนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี เมื่อทำงานได้ 1 ปีเขาก็ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการฟูจิตสึของประเทศญี่ปุ่นเพื่อไปศึกษาต่อด้าน MBA ที่ฮาวาย ในสหรัฐอเมริกา

“ตอนนั้นลังเลว่าจะรับดีไหมเพราะสอบได้ทุนมาแล้ว แต่ไปแล้วก็มีโอกาสได้นำกลับมาใช้ในการทำงาน ทุกรายงานที่ทำตอนเรียนผมเน้นไปที่เฟอร์นิเจอร์เพียงเรื่องเดียว ตอนฝึกงานก็ฝึกงานด้านตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งการไปเรียนทำให้ผมรู้ว่าเราขาดอะไรอยู่เมื่อกลับมาก็ประคับประคองและลุยต่ออย่างจริงจัง” ซึ่งเขาใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปีก็กลับมารุกธุรกิจที่บ้านต่ออย่างเต็มตัว

ทั้งนี้ จิรวัฒน์มองว่าการมุ่งไปที่เฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์นี้ถือเป็น Key Success สำคัญของดีสวัสดิ์ เพราะไม่มีใครกล้าทำมาก่อนและถ้าไม่ลองก็ไม่มีวันนี้หากพลาดก็สามารถลุกขึ้นมาตั้งลำใหม่ได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับสไตล์การบริหารงานที่เขาใช้มาจนทุกวันนี้ คือ “คนที่จะประสบความสำเร็จได้คือคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์”

เหตุผลที่ทำให้เขาสนใจเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์ก็คือดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ และชื่นชอบไลฟ์สไตล์ประเภทเอาต์ดอร์เป็นการส่วนตัว ประกอบกับรู้ว่าเทรนด์เฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์เป็นที่นิยมอย่างสูงในต่างประเทศ ต่อมาเริ่มเกิดกระแสในไทยจากโรงแรมต่างๆ ที่ต้องมีเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้ชาวต่างชาติได้นอนอาบแดด จึงทำให้มีผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์ในไทยมากขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่าวันนี้จะมีคู่แข่งมากขึ้น แต่จิรวัฒน์บอกว่าสิ่งที่เขานำเสนอเป็นมากกว่าเฟอร์นิเจอร์ โดยเน้นการดีไซน์มากขึ้น ซึ่งปีนี้เขาระดมทีมดีไซเนอร์จากเดิมที่มีดีไซเนอร์ In house อยู่ 4 คน ก็เพิ่มดีไซเนอร์ชาวต่างชาติมาเพื่อให้มีดีไซน์ที่เป็นแนว Contemporary และมีมุมมองที่เป็นสากลมากขึ้น ประกอบด้วยชาวญี่ปุ่น 1 คน และชาวอิตาลีอีก 3 คนพร้อมดีไซเนอร์ไทยที่เขาเผยแค่ว่าเป็น “เซเลบริตี้” ที่มีผลงานด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อีก 1 คน

ขณะที่ใครต่อใครมักกลัวการเลียนแบบและพากันจดลิขสิทธิ์เพื่อป้องกัน แต่จิรวัฒน์กลับคิดตรงกันข้าม เขามองว่าถ้าดีไซน์สวยแล้วถูกเลียนแบบถือเป็นเรื่องดีเพราะทำให้คนที่อยากได้ของจริงเกิดความสนใจก็จะตามหาเพื่อซื้อมาใช้บ้างเช่นเดียวกับแบรนด์เนมชื่อดังอย่างหลุยส์ วิตตอง ที่มักถูกเลียนแบบสินค้าอย่างแพร่หลายแต่ก็ยังมีผู้ที่สนใจอยากได้ของจริงมาใช้

นอกจากนี้ จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของดีสวัสดิ์คือการใช้ไม้เป็นส่วนประกอบหลักซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจากโรงงานไม้จนปรับธุรกิจมาสู่ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 40 ปีแล้ว รวมทั้งยังมีดีไซน์ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและมีความสวยงามลงตัว

ปัจจุบัน ดีสวัสดิ์มีสัดส่วนการส่งออก 70% ประเทศหลักคืออเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น โดยทำตลาดผ่านงานแฟร์และเอเย่นต์ ซึ่งตอนนี้เขาพยายามปรับสัดส่วนการจำหน่ายให้เป็นต่างประเทศและในประเทศ 50% เท่ากัน ในไทยมีสาขา 3 แห่งคือ สุขุมวิท 24 Crystal Design Center และ The Promenade ที่โรงแรมปาร์ค นายเลิศ โดยลูกค้าของดีสวัสดิ์คือร้านค้าและโครงการโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ

Profile

Name : จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์
Age : 43 ปี
Education : ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ปริญญาโท MBA ที่ University of Hawaii (USA)
อนุปริญญา Product & Interior Design ที่ Italia Accademia/Chanapat Institute.
Carrier Highlights
รองกรรมการผู้จัดการ และ Creative Director บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด
นายกสมาคมผู้ค้าไม้
เลขาธิการสมาคมเครื่องเรือนไทย
รองประธานสภาอุตสาหกรรม
Hobby :
ชอบเดินจตุจักรอาทิตย์ละ 3 วัน โดยเฉพาะโซนสัตว์เลี้ยงและต้นไม้
เลี้ยงสุนัข กระต่าย รวมถึงเพาะพันธุ์ปูและกุ้งประเภทสวยงามไว้ดูเล่น
มักทำกิจกรรมเอาต์ดอร์กับครอบครัว ชอบวาดการ์ตูน อ่านหนังสือธรรมะ และหนังสือดูแลสุขภาพ