‘วนเท่าไหร่ก็หาที่จอดไม่ได้’ เป็นปัญหาคลาสสิกของคนขับรถ Park2Go จึงพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนขับรถกับเจ้าของที่จอดรถ หลังปักฐานในกลุ่มห้างฯ ใหญ่ไปแล้วหลายแห่ง ปีนี้มุ่งมั่นหาพาร์ตเนอร์พื้นที่จอดรถรายย่อยซอกซอนเข้าไปในแหล่งชุมชน ตั้งเป้าปี 2563 ขยายจุดจอด 200 ทำเล
หลายครั้งที่การขับรถเป็นความสะดวกสบายตอนเดินทางแต่ลำบากตอนจอด เพราะในห้างสรรพสินค้าล้วนไม่มีที่ว่าง หรือถ้าไปในย่านที่มีที่จอดรถน้อย เช่น เยาวราช ทองหล่อ ก็ไม่รู้จะจอดที่ไหน Park2Go จึงพยายามแก้ปัญหานี้โดยเป็นตัวกลางติดต่อเจ้าของห้างฯ อาคาร ร้านอาหาร กระทั่งบ้านคน ถ้ามีพื้นที่ว่างก็สามารถลิสต์เป็นที่จอดรถกับ Park2Go ได้
ฝั่งผู้ใช้งานแอปฯ สามารถเข้าไปเช็กจำนวนสล็อตว่างได้แบบเรียลไทม์ และสามารถจองที่จอดรถล่วงหน้า หรือ ‘จองก่อนจอด’ ได้โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มจากค่าที่จอดรถปกติ
โมเดลธุรกิจของ Park2Go แบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ คือ
- ขอเช่าพื้นที่จอดรถทั้งหมดหรือล็อตใหญ่จากเจ้าของพื้นที่เพื่อนำมาบริหารผ่านแอปฯ Park2Go ทั้งหมด โมเดลนี้เจ้าของที่จะได้รับค่าเช่าเหมาจ่ายจากแอปฯ ส่วน Park2Go เป็นผู้ลงทุนบริหารเองและรับค่าจอดรถตามจริงทั้งหมด
- เจ้าของพื้นที่นำที่จอดรถทั้งหมดหรือบางส่วนลิสต์ไว้บนแอปฯ Park2Go เจ้าของเป็นผู้บริหารพื้นที่เองและจะได้รับค่าจอดรถตามจริง ส่วนค่าจองก่อนจอด แอปฯ จะแบ่งกับเจ้าของพื้นที่สัดส่วน 50:50
หลังเปิดตัวมา 2 ปี ปัจจุบัน Park2Go ขยายตัวในแง่ซัพพลายที่จอดรถไปแล้ว 11 ทำเล รวม 400 ช่องจอด โดยจับมือกับศูนย์ประชุมและศูนย์การค้าเป็นหลัก คือ ไบเทค บางนา, อิมแพ็ค เมืองทองธานี, เอ็มบีเค เซ็นเตอร์, ลา วิลล่า อารีย์, เจ อเวนิว ทองหล่อ, เมอร์คิวรี่ วิลล์ ชิดลม, มาร์เก็ตเพลซ นางลิ้นจี่, พาราไดซ์ พาร์ค, เดอะไนน์ พระรามเก้า, ดิ เอ๊กซ์เพลส มอลล์ บางแค และร้านกัลปพฤกษ์ สีลม เสริมด้วยลานจอดรถจากเจ้าของรายย่อยอีก 10-20 รายในพื้นที่ เช่น ม.หอการค้าไทย, ปุณณวิถี, อารีย์ เป็นต้น
ส่วนในแง่ผู้ใช้ มีการดาวน์โหลดไปแล้ว 1.3 แสนครั้ง โดยเป็น active users 30-80% แล้วแต่ช่วงเวลาและความคึกคักของพื้นที่นั้นๆ
ซัพพลายยังไม่เพียงพอ
ความท้าทายสำคัญของแอปฯ Park2Go นั้นเทน้ำหนักไปที่ “ซัพพลายที่จอดรถ” มากกว่าผู้ใช้งาน เพราะการจูงใจให้เจ้าของพื้นที่มาร่วมลิสท์ที่จอดรถบนแอปฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดย “อภิราม สีตะกลิน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปาร์คทูโก จำกัด บอกว่า แอปฯ ต้องการมุ่งเป้าหาพาร์ตเนอร์รายย่อยให้มากขึ้น แต่ยังติดปัญหาคือรายย่อยไม่ให้ความไว้วางใจในสถานะบริษัทเพราะค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่
ดังนั้น ปีนี้ Park2Go จึงเปิดตัว “อั้ม-อธิชาติ ชุมนานนท์” เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ จุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นความน่าเชื่อถือ ใช้แคมเปญ “กรวยเถอะครับ” เจาะไปที่เจ้าของพื้นที่รายย่อยให้นำที่ว่างมาบริหารร่วมกัน โดยให้โปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า ฟรีค่าบริการรายเดือน และฟรีอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย เช่น ป้าย กรวย ร่ม หมวก ฝั่งเจ้าของพื้นที่เพียงมีจุดจอดที่สว่างปลอดภัย มีสมาร์ทโฟน และมีคนดูแล 1 คนก็ทำได้
อภิรามเชื่อว่าโมเดลนี้จะจูงใจรายย่อยได้ เพราะมีหลายตึกที่มีคนจอดแค่บางช่วงเวลา เช่น หอพักที่กลางวันมีที่ว่าง หรือตึกออฟฟิศซึ่งมีที่ว่างช่วงกลางคืน ทำให้เสียโอกาสทำรายได้ไป เขายังกล่าวย้ำด้วยว่า ไม่ใช่แค่ใจกลางเมืองเท่านั้นที่ต้องการที่จอดรถ บางจุดในย่านชานเมืองก็มีปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอเช่นกัน
นอกจากรายย่อยแล้ว Park2Go ยังอยู่ระหว่างติดต่อจับมือกับเชนห้างสรรพสินค้ารายใหญ่เพิ่มอีก 2 ราย และขยายพื้นที่จอดรถที่ ลา วิลล่า อารีย์ จาก 100 ช่องจอดเป็น 200 ช่องจอด วางเป้าปี 2563 จะขยายซัพพลายที่จอดรถเป็น 1,000 ช่องจอดใน 200 ทำเล และเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานขึ้นอีก 20%
แม้จะยังอยู่ในช่วงหัดเดินแต่อภิรามเชื่อว่าโมเดลแอปฯ นี้มีโอกาสทั่วประเทศไทย เพราะเมืองใหญ่แต่ละแห่งล้วนมีจุดที่หาที่จอดรถยากและต้องการตัวกลางมาแมตช์ระหว่างคนมีรถกับคนมีที่ว่าง