เข้าสู่ช่วงโค้งท้ายปี 2562 ปีแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน สะท้อนภาพชัดในผลประกอบการรอบ 9 เดือนแรกปี 2562 บิ๊กเนมวงการ 5 รายทำรายได้ลดลงเกือบทั้งหมด ขณะที่กำไรสุทธิลดลงถ้วนหน้า (ดูกราฟิกประกอบด้านล่าง)
ภาคอสังหาฯ ปีนี้นอกจากจะมีผลกระทบเด้งแรกจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ซบเซาลง ยังมีเด้งสองจากมาตรการควบคุมสัดส่วน LTV (Loan-to-Value) สินเชื่อบ้านหลังที่ 2 ที่ภาครัฐเข็นออกมาใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยความกดดันเหล่านี้ ผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรที่ลดลงแบบแดงทั้งตารางจึงไม่ผิดไปจากคาดการณ์เท่าไหร่นัก
สำหรับ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เจ้าตลาดระดับกลางล่าง ซึ่งทำรายได้ 9 เดือน 28,179 ล้านบาท ลดลง 6.8% และกำไรสุทธิ 3,534 ล้านบาท ลดลง 12% “สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์” ซีอีโอพฤกษา มองว่า บริษัทยังทำได้ดีกว่าตลาด เนื่องจากบริษัทประเมินว่าภาพรวมตลาดอสังหาฯ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 3 ปีนี้ติดลบถึง 35% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยบริษัทมีแผนเร่งผลักดันผลประกอบการบริษัทต่อไปในไตรมาส 4 ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม Win Back ช่วยเหลือลูกค้าที่กู้ไม่ผ่าน และการเปิดตัวโครงการใหม่อีก 9 โครงการ มูลค่ารวม 8,800 ล้านบาท
ด้าน บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ทำรายได้ 9 เดือนที่ 18,439 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.7% ขณะที่กำไรสุทธิ 2,183 ล้านบาท ลดลงถึง 26.7% คำอธิบายจากฝ่ายบริหารจัดการบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชี้แจงว่า รายได้ลดลงเล็กน้อยเกิดจากในช่วง 9 เดือนแรกของปียังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมโครงการใหม่ ทั้งนี้ บริษัทพยายามขายและทยอยโอนโครงการพร้อมอยู่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โครงการแนวราบยังทำยอดขายและรายได้ดี
ส่วนกำไรสุทธิที่ลดลงมากนั้นเกิดจากผลต่อเนื่องที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ใหม่ แต่มีการเปิดตัวโครงการ Life สาทร-เซียร์ร่า ที่ใช้ค่าบริหารจัดการสูง ทำให้ผลกำไรติดลบ แต่บริษัทจะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ 2 โครงการใหม่คือ Life วัน ไวร์เลส และ Life สุขุมวิท 62 ในช่วงไตรมาส 4 ที่จะผลักดันยอดรับรู้รายได้และกำไรปีนี้ให้สูงขึ้น
บมจ.แสนสิริ อีกหนึ่งเจ้าตลาดอสังหาฯ รายได้ 9 เดือนอยู่ที่ 16,905 ล้านบาท ลดลง 4% กำไรสุทธิ 1,141 ล้านบาท ลดลง 15% คำอธิบายจากฝ่ายบริหารจัดการบริษัทแจกแจงว่าบริษัทมีรายได้ลดลงจากการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ และบ้านเดี่ยวที่ลดลง แม้ว่ารายได้จากทาวน์โฮมจะมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังมีต้นทุนการออกแบบโครงการใหม่ที่ยังไม่ได้เปิดขาย ทำให้กำไรลดลงดังกล่าว ส่วนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี บริษัทมีแผนโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ 6 โครงการ ที่น่าจับตาเช่น คุณ บาย ยู ทองหล่อ และ เดอะ ไลน์ สุขุมวิท 101
มาต่อที่ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หนึ่งเดียวที่ยังมีรายได้เติบโตแต่กำไรลดลงตามสภาวะตลาด เอสซีฯ ทำรายได้ไป 10,497 ล้านบาท เติบโต 7% และกำไรสุทธิ 1,039 ล้านบาท ลดลง 6% การเติบโตของเอสซีฯ เกิดจากอานิสงส์ที่บริษัทเน้นพอร์ตสินค้าแนวราบเป็นหลักสัดส่วน 79% ซึ่งเป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ ทำให้กลุ่มแนวราบของเอสซีฯ เติบโต 15% ส่วนกลุ่มแนวสูงเองก็เจาะกลุ่มตลาดกลางถึงไฮเอนด์ ทำให้มีลูกค้าโอนเงินสดถึง 50% ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวด LTV
ปิดท้าย บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ทำรายได้ 9 เดือนไป 10,418 ล้านบาท ลดลง 2.5% และกำไรสุทธิ 2,145 ล้านบาท ลดลง 10% ซึ่งบริษัทชี้แจง แม้ตัวเลขจะลดลงจากปีก่อนด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นบางส่วน แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากรายได้และกำไรปี 2561 สูงมากอยู่แล้วเนื่องจากมีรายได้พิเศษผ่านการจอยต์เวนเจอร์กับ บริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด โดยบริษัทชี้ให้เห็นว่าอัตรากำไรสุทธิยังอยู่ที่ 20.6% ซึ่งค่อนข้างสูงมากในตลาดอสังหาฯ
ทั้งนี้ “พีระพงศ์ จรูญเอก” ซีอีโอออริจิ้นยังเชื่อมั่นว่าไตรมาส 4 ตลาดอสังหาฯ น่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐออกนโยบายกระตุ้น ลดค่าธรรมเนียมโอนและค่าจดจำนองเหลือรายการละ 0.01% ยาวจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งออริจิ้นมีโครงการสร้างเสร็จพร้อมอยู่ในขณะนี้รวมมูลค่า 6,000 ล้านบาท และมีโครงการบ้าน-คอนโดฯ ที่จะเริ่มโอนในไตรมาส 4 อีกไม่ต่ำกว่า 9 โครงการที่พร้อมตอบรับมาตรการรัฐทันที