LVMH เจ้าของแบรนด์หรูทั้ง Bulgari และ Louis Vuitton บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการบริษัท Tiffany & Co. ในราคา 135 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น รวมเป็น 16,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 492,707 ล้านบาท
ราคานี้สูงขึ้นกว่าข่าวลือรอบแรกที่ระบุว่า LVMH เริ่มเจรจาดีลตั้งแต่เดือนตุลาคมในราคา 11,900 ล้านเหรียญ คาดว่าทั้งคู่จะประกาศดีลอย่างเป็นทางการวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายนตามเวลาสหรัฐฯ
ข่าวนี้ทำให้หุ้นของ Tiffany ราคาพุ่งขึ้นทันที แม้จะยังไม่สูงเท่าที่เคยทำสถิติสูงสุด 140 เหรียญในช่วงกลางปีที่แล้ว แต่มูลค่าหุ้นของต้นสังกัดแบรนด์เครื่องประดับหรูจากนิวยอร์กกำลังตีตื้นจากที่ปิดตลาดในวันศุกร์ด้วยราคา 125.51 เหรียญ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าจะก้าวกระโดดยิ่งขึ้นอีกเพราะเม็ดเงินเสนอซื้อกิจการที่มากขึ้น
เหตุที่ทำให้ LVMH ยอมเทเงินมากขึ้นหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้ได้ Tiffany มาครอง คือจิวเวลรี่ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสินค้าหรูหราที่มีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งที่สุดในปี 2018 ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co ชี้ว่าตลาดสินค้ากลุ่มจิวเวลรี่ทั่วโลกนั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และจะเติบโตมากกว่า 7% ในปีนี้
กู้วิกฤติ Tiffany รัศมีหด
Tiffany เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในนิวยอร์กปี 1837 ก่อนจะโด่งดังเต็มที่หลังจากมีส่วนร่วมในภาพยนตร์ปี 1961 เรื่อง “Breakfast at Tiffany’s” แต่ Tiffany ถูกมองว่าต้องดิ้นรนเต็มที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะยอดขายและกำไรต่อปีที่ลดลงตั้งแต่ปี 2015 ก่อนที่จะเริ่มกลับมาฟอร์มดีในช่วง 2 ปีที่แล้ว (ปี 2017)
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Tiffany เริ่มหายใจคล่องขึ้นคือการพยายามขยายธุรกิจสู่ประเทศจีน แต่บริษัทก็ยังต้องปวดหัวกับปัญหายอดขายลดลงในสหรัฐอเมริกา ยิ่งเมื่อมีปัจจัยอื่นอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน Tiffany ก็เป็นอีกบริษัทที่รับผลกระทบเต็มตัวจนยอดขายในเอเชียหดหายชัดเจน
แต่ Tiffany มีตลาดที่ LVMH เข้าไม่ถึงเต็มที่ ที่ผ่านมา LVMH มีแบรนด์แฟชั่นและเครื่องหนังในมือ ขณะเดียวกันก็มีแบรนด์น้ำหอม เครื่องสำอาง ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น่าเสียดายที่แบรนด์จิวเวลรี่ของ LVMH ยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
ขนหน้าแข้งไม่ร่วง
สำหรับ LVMH หรือ Moët Hennessy Louis Vuitton เป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่มีรายรับต่อปีประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ส่วนใหญ่ของรายได้นี้มาจากแบรนด์แฟชันและเครื่องหนังในเครืออย่าง Louis Vuitton และ Dom Perignon ทำให้การซื้อ Tiffany ถูกฟันธงว่าจะทำให้ LVMH เข้าถึงตลาดเจ้าสาว และสาวกเครื่องเพชรได้ดีขึ้น
กลุ่มเป้าหมายใหม่จะขยายฐานให้ LVMH มีลูกค้าไฮโซในตลาดสหรัฐอเมริกามากขึ้น เบื้องต้นรายงานระบุว่า LVMH วางแผนที่จะไม่รวมแบรนด์ โดยปล่อยให้ Bulgari และ Tiffany แยกกันทำตลาดต่อไปหลังจากดีลนี้บรรลุผล เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ LVMH มีแรงสู้กับ 2 คู่แข่งหลักทั้ง Kering เจ้าของแบรนด์ Gucci และบริษัท Richemont ของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Cartier ที่ต่างลงลึกมากขึ้นในตลาดไฮเอนด์จิวเวลรี่เหมือนนัดกันมา
ทั้งหมดนี้ต้องปรบมือให้ Financial Times ที่รายงานว่า LVMH และ Tiffany บรรลุข้อตกลงบันลือโลกได้เป็นสำนักข่าวแรก เรียกว่าอีกนิดเดียวก็จะถึงหลัก 5 แสนล้านบาทแล้ว.