Brand Butler in the App World

Brand Butler ไม่ใช่แนวคิดใหม่ของการสร้างแบรนด์ เทรนด์นี้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยที่แบรนด์พยายามสร้างเครื่องมือในการช่วยผู้บริโภคให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายดายขึ้น โดยที่แบรนด์เองก็ได้ประโยชน์ด้วย แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของการขาย

อย่างไรก็ตาม Trend watching เว็บไซต์ที่ทำการสำรวจเทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลก ได้ระบุว่า การบริการรูปแบบใหม่ของโทรศัพท์มือถือ ที่ไม่ใช่แค่รับเข้า-โทรออก แต่รวมถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ชีวิตติดกับ Online Data ของผู้บริโภคได้สร้างให้ Brand butler กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง

Applications ไม่ว่าจะมาจาก iPhone App Store, Android Market ของ Google และ App World ของ BlackBerry เป็นช่องทางในการสร้างบริการในแนวคิด Brand Butler ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการนำเสนอข้อมูลที่มีประโยชน์ พร้อมๆ กับการโฆษณาแฝงแบบไม่เต็มรูปแบบ

แม้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าจะทำ Brand Butler อย่างไรให้ประสบความสำเร็จในรูปแบบของ Application บนโทรศัพท์มือถือ แต่ Trend watching ก็สรุปออกมาว่า ควรเป็นส่วนผสมระหว่าง การมีตัวตนของแบรนด์ในขณะที่ผู้บริโภคกำลังต้องการ และสร้างความประหลาดใจให้กับผู้บริโภคต่อการมีตัวตนของแบรนด์ในขณะที่พวกเขาไม่ได้คาดหวัง

Finding แอพฯ มาแรง

การช่วยผู้บริโภคค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการนอกเหนือจากข้อมูลจากเว็บไซต์ คู่มือ และโบรชัวร์ เป็น Application ที่จำเป็นเสมอ ด้วยความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไฮสปีด และการเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ในทุกที่ ทุกเวลา ผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้บริโภคยุคนี้ “รอไม่ได้” อีกต่อไป

Hot Finding Application

ATM Hunter ของมาสเตอร์การ์ด ที่ช่วยให้ยูสเซอร์สามารถหาตู้เอทีเอ็มที่ใกล้ที่สุดได้เพียงแค่ใส่ตำแหน่งที่อยู่ลงไป หรือใช้ GPS ที่ติดตั้งมากับเครื่อง

Best of Britain แอพพลิเคชั่นของ Automobile Association ในอังกฤษ ที่ออกแบบเพื่อช่วยให้ยูสเซอร์หาโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่น่าสนใจต่างๆ ระหว่างทริปท่องเที่ยวภายในประเทศ

SitOrSquatt แอพพลิเคชั่นแปลกๆ ที่คิดค้นโดยแบรนด์กระดาษทิสชูสำหรับใช้ในห้องน้ำ Charmin เพื่อช่วยให้ยูสเซอร์ค้นหาห้องน้ำในบริเวณใกล้เคียง

Zillow บริษัทอสังหาริมทรัพย์พัฒนาแอพพลิเคชั่นบน iPhone ที่ใช้ GPS ในเครื่องให้ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าบ้าน บ้านที่กำลังขาย และบ้านที่เพิ่งขายไปเมื่อเร็วๆ นี้

North Face Snow Report ให้ข้อมูลการพยากรอากาศล่วงหน้า รายงานหิมะตก เส้นทางการขับขี่ และแผนที่สำหรับสกีรีสอร์ททั่วโลก และยังอนุญาตให้ผู้ใช้งานทวีตเกี่ยวกับสภาพอากาศในตอนนั้นได้ด้วย

แอพฯ เพื่อสุขภาพ

แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ไม่สามารถที่จะหลีกพ้นจากแนวคิดการสร้างแบรนด์ด้วย Brand Butler ได้ แบรนด์เหล่านี้จึงพยายามพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เอื้อต่อ Healthy Lifestyle ของผู้บริโภค
Hot Health Application

The Nivea Sun เป็นแอพพลิเคชั่นบน iPhone ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยคนบราซิลให้ปลอดภัยเมื่ออยู่ท่ามกลางแสงแดด แอพพลิเคชั่นรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้ และแนะนำว่า SPF ที่เหมาะสมในแต่ละวันควรอยู่ที่เท่าไร และเตือนผู้ใช้งานเมื่อควรจะต้องทาครีมกันแดดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

SkiResort.com แอพพลิเคชั่นบน iPhone ที่ได้รับการสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์ Power Bar ของเนสท์เล่ เพื่อช่วยให้ยูสเซอร์เข้าถึงข้อมูลทางด้านโภชนาการ ประวัติของนักกีฬา วิดีโอและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฟรี

Total Fit ของผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬา New Balance ที่ร่วมมือกับเว็บไซต์ MapMyRun ในการช่วยให้ผู้ใช้สามารถรับรู้เส้นทางการวิ่ง ประวัติการออกกำลังกาย ระดับความสมบูรณ์ของร่างกาย พร้อมๆ กับฟังกชันการให้คำแนะนำ และยังสามารถเชื่อมต่อกับนักวิ่งคนอื่นๆ ได้

แอพฯ ให้ความรู้

นอกจากนำเสนอข้อมูลโดยทั่วไปแล้ว บางแอพพลิเคชั่นยังทำหน้าที่ให้ความรู้ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคมีทักษะที่ดีขึ้น และในบางครั้งได้รับข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น
Hot Knowledge Application

Flying without Fear แอพพลิเคชั่นบน iPhone ที่พัฒนาโดยสายการบิน Virgin Atlantic สำหรับบผู้โดยสารที่กลัวการเดินทางทางอากาศ Sir Richard Branson จะเป็นคนคอยแนะนำว่าควรทำตัวอย่างไรระหว่างอยู่บนเครื่องบิน รวมทั้งทิปสำหรับการหายใจและอื่นๆ Wine Finder แอพพลิเคชั่นของเทสโก้ ที่สามารถจดจำไวน์ที่อยู่ในฐานข้อมูลในรีเทลเลอร์ได้จากรูปถ่ายของขวด นอกจากนี้ แอพฯ ยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับราคาของไวน์ ประเทศที่ผลิต รวมทั้งการจับคู่ไวน์กับอาหารด้วย

Santa Maria ร้านอาหารสัญชาติสวีดิช พัฒนา iPhone Application ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการย่างเนื้อ รวมทั้งมีสูตรอาหาร คู่มือการย่างบาร์บีคิว และระยะเวลาการย่างที่เหมาะสมอีกด้วย

แอพฯ แก้ปัญหา

อย่าสับสนกับ “Finding” แอพพลิเคชั่นในหมวดนี้ ไม่ใช่แค่ช่วยค้นหาเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าในการช่วยแก้ไขปัญหา เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้ ไม่ใช่แค่การบอกทางเท่านั้น

Hot Tool Applications

Whole Food Market ร้านขายของชำที่มีสาขาทั่วอเมริกา ได้เสนอฟรีแอพพลิเคชั่นบน iPhone เกี่ยวกับสูตรอาหาร รวมถึงข้อมูลทางโภชนาการที่มีอยู่ในแต่ละสูตร ขณะเดียวกันก็ยังแจ้งข้อมูลด้วยว่า ตอนนี้มีส่วนผสมอะไรที่กำลังลดราคาอยู่ในร้านบ้าง และยังสามารถแบ่งปันสูตรอาหารกับเพื่อนๆ ได้อีกด้วย

FNAC ร้านค้าปลีกในฝรั่งเศส พัฒนาแอพพลิเคชั่นบน iPhone โดยให้ยูสเซอร์สามารถซื้อตั๋วเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งคอนเสิร์ต หรือการแข่งขันกีฬา รวมทั้งมีแผนที่นำทางสำหรับสถานที่จัดแสดง

ColorSnap ฟรีแอพพลิเคชั่นบน iPhone ของผู้ผลิตสีในอเมริกาในชื่อแบรนด์ Sherwin-Williams ที่ช่วยให้ผู้บริโภคจับคู่สีจากรูปที่ถ่ายเก็บไว้ใน iPhone กับ 1,500 สีที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของแบรนด์

iGAAUGEแอพพลิเคชั่นของ AAMCO เพื่อช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมรถยนต์ และแนวทางการแก้ปัญหา รวมทั้งแจ้งตำแหน่งของสถานีน้ำมันในบริเวณใกล้เคียง ข้อมูลการจราจร และตารางการให้บริการและดูแลของ AAMCO
นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของแบรนด์ที่หันมาใช้แนวคิด Brand Butler ผ่านการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้บนโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่แบรนด์จะต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้วยตัวเอง เพราะในบางครั้งแบรนด์ก็ใช้ทางลัดด้วยการหาพาร์ตเนอร์ หนึ่งในหลายๆ Third-party Apps ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งลดขั้นตอนและความยุ่งยากในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นไปได้มาก

อย่างเช่น L’OREAL ที่เมื่อไม่นานนี้ได้จับมือกับแอพพลิเคชั่น Vanity Fair’s Hollywood ในการเครื่องมือสำหรับการโหวตในคืนประกาศผลรางวัลออสการ์ เช่นเดียวกับการอัพเดตผลประกาศรางวัลแบบสดๆ รวมทั้งการเข้าถึงคอนเทนต์สุดพิเศษของ Vanity Fair อีกด้วย

Application ดีๆ มีให้เลือกนับพัน นับหมื่น ขึ้นอยู่กับว่าสายตาของแบรนด์จะแม่นแค่ไหน