เปิดเหตุผล… ทำไม “Grab” ต้องก้าวสู่การให้บริการทางการเงิน

หลังจากที่ ‘แกร็บ’ เริ่มประกาศถึงแนวทางในการพัฒนาจากบริการแอปเรียกรถ ให้กลายเป็นซูเปอร์แอปเมื่อเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มฉายภาพให้เห็นชัดเจนถึงบริการที่ครบวงจรมากขึ้น เริ่มจากการให้บริการในสิงคโปร์ก่อน ทั้งบริการเรียกรถ ส่งของ จนถึงการสร้างให้เกิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

ด้วยการเริ่มให้บริการ แกร็บ เพย์ วอลเล็ต (Grab Pay Wallet) ที่ทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้การชำระค่าบริการแบบเดิมคือเงินสด เติมเงินเข้าไปใช้ใน Grab Pay Wallet หรือเลือกชำระผ่านบัตรเครดิตที่ผูกไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความสะดวกในการใช้งาน และสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง

จากวันที่สิงคโปร์ประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน Grab Pay กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการชำระเงินที่ผู้คนในสิงคโปร์นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างจาก Alipay หรือ WeChat Pay ที่เกิดขึ้นในจีน เพราะทางแกร็บได้เข้าไปร่วมมือกับร้านค้าต่างๆ ให้รองรับการชำระเงินด้วย Grab Pay ได้แล้ว

แน่นอนว่าภาพเหล่านี้กำลังตามมาเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน เพราะจากการประกาศความร่วมมือล่าสุดระหว่าง แกร็บ และพันธมิตรร้านค้าชั้นนำในการนำ Grab Pay Wallet ไปใช้เพื่อชำระเงินค่าสินค้า จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้งานต่อเนื่องมากขึ้น และมีโอกาสที่จะขยายไปยังรูปแบบบริการทางการเงินที่ครอบคลุมมากขึ้น

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ให้ข้อมูลว่า

หลังจากที่แกร็บเริ่มทดลองให้บริการ Grab Pay Wallet ในประเทศไทยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่ายอดการทำธุรกรรมจากเดิมที่ใช้เงินสด 100% กว่า 40% ย้ายมาใช้งานผ่านระบบ Grab Pay Wallet และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังพบว่าลูกค้าที่ย้ายมาใช้งาน Grab Pay Wallet ราว 20% มีการใช้งานถี่ขึ้น ทำให้เห็นว่า Churn rate ของลูกค้าลดลง เช่นเดียวกับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 60% แปลว่าลูกค้าเริ่มเห็นถึงความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น เพราะไม่ต้องคอยพกเงินสดติดตัว

ณ จุดนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจเพราะจริงๆ แล้ว Grab Pay Wallet เหมือนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ทั้งอีโคซิสเต็มส์ของแกร็บเติบโต และมีปัญหาในการใช้งานน้อยลง โดยเฉพาะฝั่งของพาร์ตเนอร์ผู้ขับจากเดิมที่ต้องใช้เงินสดในการชำระค่าอาหาร แต่พอลูกค้าใช้การชำระผ่านแกร็บ เพย์ ก็ช่วยให้ผู้ขับไม่ต้องสำรองเงินค่าอาหารไปก่อน เป็นต้น

‘สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอเปลี่ยนมาเป็นการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดทำให้อีโคซิสเต็มส์เติบโตเร็วขึ้น โดยในทุกๆ ประเทศที่แกร็บเริ่มให้บริการวอลเล็ต จะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเหมือนกันหมด โดยเฉพาะการเพิ่มความสะดวกสบายของผู้ใช้งานที่ง่ายขึ้น’

ทำไม ‘ไฟแนนเชียลเซอร์วิส’ จึงสำคัญ

แกร็บ ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีรายแรกที่สนใจในเรื่องของไฟแนนเชียลเซอร์วิส เพราะก่อนหน้านี้มีตัวอย่างจากบริษัทไอทีทั่วโลกทำให้เห็นกันแล้วว่า ไฟแนนเชียลเซอร์วิส เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ อย่าง Apple มีบริการอย่าง Apple Pay หรือ Google ก็มีบริการอย่าง Google Pay รวมถึงที่เห็นกันชัดเจนใกล้ๆตัว อย่าง Alipay หรือแม้แต่ในไทยมีทั้ง True Wallet, Rabbit LINE Pay ที่ให้บริการ

ที่สำคัญคือธุรกิจด้านการเงินคือหนึ่งในธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้ามาให้บริการจะทำให้เห็นข้อมูล และพฤติกรรมของลูกค้าในการใช้เงิน ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้สามารถต่อยอดไปสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ได้

‘เป้าหมายของ Grab Pay Wallet ในเวลานี้คือการเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ใช้งานให้มากขึ้น เพราะจะเป็นช่องทางให้รู้จักลูกค้ามากขึ้น ทำให้ลูกค้าเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์มากขึ้น ก่อนต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต’

จากเดิมข้อมูลที่แกร็บรับรู้จากการใช้งานของลูกค้า คือ มีพฤติกรมการเดินทาง เรียกรถอย่างไร สั่งอาหารประเภทไหน จำนวนเท่าไหร่ แต่เมื่อให้บริการแกร็บ เพย์ ก็จะรู้รายละเอียดมากขึ้นว่าลูกค้าให้ความสนใจกับสินค้า บริการประเภทไหนผ่านสถานที่ที่นำ Grab Pay Wallet ไปใช้บริการ

ทั้งนี้ รูปแบบการให้บริการทางการเงินของ Grab Pay Wallet ในประเทศไทย ทางแกร็บจะทำงานร่วมกับธนาคารกสิกรไทย เพราะช่วยให้สามารถเข้าสู่ระบบการชำระเงินรูปแบบต่างๆ ได้ง่าย และรวดเร็วกว่าการให้บริการด้วยแกร็บเอง

โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของแกร็บ คือลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบทั่วไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่มีบัตรเครดิต การเข้ามาให้บริการ Grab Pay Wallet จะช่วยให้ลูกค้าในกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้หลากหลายมากขึ้น

สู่การปล่อยสินเชื่อ-ประกันภัย

ก่อนหน้านี้ แกร็บ เริ่มได้ให้บริการทางการเงินแก่พาร์ตเนอร์ผู้ขับ และร้านค้ามาบ้างแล้ว อย่างในส่วนของพาร์ตเนอร์ผู้ขับ เริ่มมีให้บริการไปแล้ว 2 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ผ่อนชำระสมาร์ทโฟน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พาร์ตเนอร์ผู้ขับสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ให้แก่พาร์ตเนอร์ผู้ขับ และเตรียมที่จะขยายไปยังบริการสินเชื่อเงินสดต่อไป

ปัจจุบัน แกร็บ มีไลเซนส์ในการให้บริการสินเชื่อทั้งในรูปแบบของสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยที่กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบเพื่อทำความเข้าใจและเพื่อศึกษาถึงแนวทางที่เหมาะสม เพราะอย่างที่กล่าวไปคือกลุ่มลูกค้าของการให้บริการสินเชื่อของแกร็บ คือกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินทั่วไปได้

เช่นเดียวกับในธุรกิจประกันภัย จากเดิมที่มีการทำประกันให้แก่พาร์ตเนอร์ผู้ขับ และผู้โดยสารอยู่แล้ว ก็เตรียมที่จะขยายบริการไปสู่การให้บริการประกันภาคบังคับ และประกันชนิดอื่นๆ ให้แก่คนขับเพิ่มเติม ในรูปแบบของไมโครอินชัวรันส์

ทั้งนี้ ผู้บริหารแกร็บ ระบุว่า การให้บริการสินเชื่อและประกันภัยของแกร็บจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้าเมื่อผู้ใช้งานและพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเริ่มมีการใช้งาน Grab Pay Wallet อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินต่อไป

Source