กางแผน KTC 2020 แม้เศรษฐกิจชะลอ แต่ก็ขอโต 10%

KTC รุกปี 2020 ยกระดับเป็นองค์กรคล่องตัว (Agile Organism) พลักดันทั้งแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) และแพลตฟอร์มสินเชื่อรายย่อย (Retail Lending Platform) ขยายฐานลูกค้าเพิ่มอีก 350,000 ราย

ต้องแข็งแรงทั้งชำระเงิน และสินเชื่อ

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ KTC ” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“วิสัยทัศน์ใหม่ของ KTC มุ่งสู่การเป็นแพลตฟอร์มการเงินหลักที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ ด้วย 2 แพลตฟอร์มคือ “แพลตฟอร์มการชำระเงิน” และ “แพลตฟอร์มสินเชื่อรายย่อย” เน้น 3 จุดแข็งหลักคือ ปลอดภัย รวดเร็ว และสร้างประสบการณ์ที่ดี รองรับการขยายธุรกิจใหม่เข้าไปในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกันและธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพิ่มเติมจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่มีอยู่

ซึ่งจะทำให้ KTC สามารถนำเสนอสินเชื่อให้กับผู้บริโภคได้หลากหลายและครบวงจร ทั้ง “สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน” “พิโกพลัส” (สินเชื่ออเนกประสงค์ที่ให้กับรายย่อยระดับจังหวัด)” และธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” (สินเชื่อรายย่อยสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้มีรายได้ไม่แน่นอน) ซึ่งทยอยเปิดให้บริการแล้ว และคาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจใหม่นี้ จะสามารถเริ่มรับรู้กำไรได้ประมาณ 18-24 เดือน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินธุรกิจจริง”

เศรษฐกิจชะลอ แต่ยังโต 10%

พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต KTC กล่าวว่า

“ถึงแม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต KTC สามารถเติบโตได้ถึง 10% หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2019 จะสามารถรักษาสัดส่วนการเติบโตของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวมได้ที่ประมาณ 10%

สำหรับปี 2020 แนวคิดการทำตลาดบัตรเครดิต KTC คือ “Everyone, everyday, and everywhere” ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้บัตร KTC เป็นบัตรที่สมาชิกเลือกใช้ทุกวันและทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์หรือการใช้จ่ายที่ร้านค้าในประเทศ หรือต่างประเทศ

โดยนอกจากการมุ่งเน้นความคุ้มค่าผ่านคะแนน KTC FOREVER แล้ว KTC จะให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีกับสมาชิก ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลในการเรียนรู้พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าแต่ละราย เพื่อนำเสนอสิ่งที่สมาชิกบัตรชื่นชอบ

ธุรกิจสินเชื้อ ต้องสร้างคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น

พิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้อำนวยการ – ธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC กล่าวว่า

ธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 2020 คือ เพิ่มปริมาณสินเชื่อพร้อมกับการสร้างคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ใน 4 แกนหลัก คือ

  1. หาสมาชิกใหม่ที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เนื่องจากการใช้วงเงินอย่างมีวัตถุประสงค์แสดงถึงการวางแผนเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต และวินัยทางการเงินที่ดี โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณลูกค้าและพันธมิตรในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการศึกษาให้มากขึ้น
  2. รักษาฐานสมาชิกปัจจุบันให้มีความผูกพันกับ KTC และเป็นบัตรที่ลูกค้านึกถึงเป็นใบแรก โดยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายสมาชิกที่มีวินัยการชำระเงินที่ดี ผ่านแคมเปญที่โดนใจสมาชิกตลอดกาล เช่น โครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยง โครงการเหมาเหมาจ่ายดอกเบี้ยเพียง 199 บาท รวมทั้งวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำเสนอโปรโมชั่นที่สมาชิกต้องการอย่างแท้จริง
  3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจด้วยบริการใหม่ เพิ่มวงเงินฉุกเฉินที่สามารถทำรายการด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมง อนุมัติรับวงเงินทันทีเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของลูกค้าให้มากขึ้น พัฒนาบริการเบิกเงินสดออนไลน์ผ่านแอปฯ KTC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ และจะเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานบัตรกดเงินสด “KTC พราว” ให้ตอบไลฟ์สไตล์ของสังคมไร้เงินสดที่ผู้บริโภคสามารถใช้บัตรได้ทุกที่ ทุกเวลา
  4. สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกค้า เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสร้างวินัยทางการเงินผ่านกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ (Financial Literacy) และบทความที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบของสื่อที่เข้าใจง่าย

เพิ่มฐานสมาชิกอีก 350,000 ราย

ปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า KTC กล่าวว่า

“การขยายฐานสมาชิกในปี 2020 น่าจะเป็นความท้าทายและสร้างโอกาสที่ดีให้กับ KTC ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความหลากหลายและครบวงจรมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายสมาชิกบัตรเครดิตใหม่ 350,000 ใบ และบัตรกดเงินสด “KTC พราว” 210,000 ใบ รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด “สินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม” ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์และสินเชื่อเงินสด

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของ KTC จะยังเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป โดยจะเน้นช่องทางการรับสมัครผ่านทางออนไลน์มากขึ้น

9 เดือนแรก กำไร 4 พันล้าน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562) มีตัวเลขสำคัญทางการเงินดังนี้

– กำไรสุทธิ 4,205 ล้านบาท

– พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 79,618 ล้านบาท (ขยายตัว 9%)

– ฐานสมาชิกรวม 3.43 ล้านบัญชี (เติบโต 6%) แบ่งเป็น

  • บัตรเครดิต 2,460,595 บัตร (ขยายตัว 7%)
    – พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 51,137 ล้านบาท (ขยายตัว 10%)
    – อัตราเติบโตของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 9 เดือน อยู่ที่ 10.4%
    – NPL รวม ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.07% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 0.96%
  • สินเชื่อบุคคล 973,356 บัญชี (ขยายตัว 5%)
    – ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 28,219 ล้านบาท (เติบโต 9%)
    – NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.83%