บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมเปิดการซื้อขายวันแรก 16 ธันวาคม 2562
BAM มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องโดยการเสนอขายหุ้น IPO ของ BAM เมื่อรวม Overallotment Option หรือ Green Shoe มีมูลค่า 30,888 ล้านบาท นับเป็นการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ South East Asia
หุ้น BAM ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนตลอดระยะเวลาของการเสนอขายหุ้นสามัญ ส่งผลดีต่อราคาหุ้นของ BAM โดยรวม เห็นได้ชัดจากการที่ BAM ได้ดำเนินการเปิดจองซื้อหุ้นสามัญที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอสำหรับประชาชนทั่วไประหว่างวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา
แม้จะอยู่ท่ามกลางภาวะตลาดที่มีความผันผวน แต่หุ้นไอพีโอของ BAM ก็ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนและประชาชนที่จองซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากผ่านธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้น คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนมีความมั่นใจในศักยภาพการเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถในการสร้างความเติบโตในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนขณะนี้มีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาศึกษาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทอย่างรอบคอบ สำหรับผลประกอบการงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 และ 2562 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 3,311 ล้านบาท และ 4,882 ล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 47.5 %”
บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) หรือ BAM ได้จัดตั้งขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ที่ก่อให้เกิดหนี้เสียสูงถึง 42% ของหนี้ในระบบสถาบันการเงินของประเทศ ด้วยจุดประสงค์เพื่อทําหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของธนาคาร กรุงเทพฯ พาณิชย์การ จํากัด (มหาชน)
ซึ่งต่อมา BAM ได้ขยายขอบเขตการดําเนินธุรกิจให้ครอบคลุม NPLs และ NPAs ของสถาบันการเงินอื่นด้วย จนถึงปัจุจบัน BAM มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาแล้วกว่า 20 ปี และเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด มีเครือข่ายครอบคลุมทุกภูมิภาค
การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นก้าวที่สำคัญของ BAM เพราะจะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินในการขยายธุรกิจได้มากขึ้นในอนาคต และลดภาระหนี้ของบริษัทฯ ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน
Related