หลังจาก ‘เอไอเอส’ จัดงาน ‘AIS 5G ที่ 1 ตัวจริง’ โดยนำนวัตกรรม Use case 5G ทั่วประเทศมาโชว์ ณ สามย่านมิตรทาวน์ไปเมื่อ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ‘ทรู’ เองก็ไม่น้อยหน้า ยกนวัตกรรม 5G มาโชว์ในงาน ‘True 5G World @Siam Square’ ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ ทรูช็อป 3 สาขาในสยามสแควร์ และไอคอนสยาม ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคมถึง 14 มกราคม 2563
ศุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูมั่นใจว่าเป็น ‘First Mover’ เพราะในยุค 3G และ 4G ทรูเป็นผู้ให้บริการรายแรกในเชิงพาณิชย์ของไทย และสิ่งที่ทรูได้เปรียบคือ โคร่งข่าย 3G 4G ที่แข็งแรง และมีจุดแข็งด้านพาร์ตเนอร์ที่ครบทุกด้าน
“เป็นคนแรกไม่สำคัญเท่าโคร่งข่ายที่ดีที่สุด ดังนั้นทรูต้องเป็นทั้งคนแรกและดีที่สุด เพราะ 5G ไม่ใช่เรื่องใหม่ 100% แต่เป็นการต่อยอดจากของเดิม ซึ่งโคร่งข่ายทรูพร้อมและดี”
ทั้งนี้ ทรูแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.โซลูชั่นและเทคโนโลยีโพรไวเดอร์ที่มาต่อยอดโครงข่าย 5G เช่น บริษัทที่ทำโซลูชั่นด้านการแพทย์ เป็นต้น 2.พันธมิตรภายในประเทศเพื่อร่วมทดสอบโซลูชั่น เช่น กลุ่มซีพีที่ทดสอบพวกการเกษตร 3.คอนเทนต์ เพื่อทดสอบยูสเคสด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ และ 4.การศึกษา โดยเป็นพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัยเพื่อทดลอง Pilot Use case ต่างๆ
“เรื่อง 5G เราทำคนเดียวไม่ได้ ดังนั้นการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อพัฒนาในเชิงลึก ไม่ใช่มีแค่เน็ตเวิร์กแล้วจบ แต่ต้องมีโซลูชั่น ตอนนี้เราแชร์ข้อมูลให้พันธมิตรฟังก่อนว่า 5G คืออะไร เพื่อให้เกิดไอเดียสร้าง Use case แล้วเราก็หาคนทำโซลูชั่นเพื่อไปตอบโจทย์แต่ละองค์กร”
นอกจากนี้ ทรูยังมีพันธมิตรในต่างประเทศ ได้แก่ ‘ไชน่า โมบาย’ ที่มีลูกค้ากว่า 925 ล้านราย มากที่สุดในโลก และเป็นแนวหน้าของการพัฒนา 5G ของโลก เนื่องจากในจีนมีการใช้งาน 5G แล้วกว่า 50 เมือง โดยทางไชน่า โมบายมีการส่งบุคลากรมาซัพพอร์ตมาวางแผนกลยุทธ์และเดเวลอปยูสเคส ทำให้ทรูไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
“สิ่งหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้จากเขาคือ อันไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง แต่เราไม่ได้เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ เพราะตอนนี้โลก Open ไม่มีการปิดกั้น”
ทั้งนี้ การใช้งาน 5G จะเริ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร และรีเทล เนื่องจาก 5G จะตอบโจทย์พื้นที่ปิด ที่มีประชากรและ Use case อย่างอุตสาหกรรมการผลิตต้องการไปออโตเมชั่น อีกทั้งยังอยู่กันเป็นนิคมปิด ดังนั้น 5G จะตอบโจทย์มาก ซึ่ง 5G ไม่เหมือน 3G หรือ 4G ที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ แต่จะเริ่มเฉพาะจุดก่อน
แม้จะเตรียมพร้อมเรื่อง 5G มาเป็นปี แต่จะเข้าประมูลหรือไม่นั้น ต้องดูที่เงื่อนไข ซึ่งปัจจุบันเงื่อนไขการประมูลยังไม่นิ่ง ดังนั้นต้องรอความชัดเจน โดยทรูได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมและประเมินมูลค่าการลงทุนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คลื่น 2600 MHz ที่จะใช้ประมูลนั้น มองว่ามีความเหมาะสม เพราะเป็นเคลื่อนความถี่หลักที่ทั่วโลกใช้ ได้แก่ 3500 และ 2600 MHz
“อย่างจีนไปได้เร็ว เพราะภาครัฐสนับสนุน ไม่ต้องประมูลคลื่น เพราะเขาไม่ได้มองเม็ดเงิน แต่มองถึงมูลค่าจากอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจาก 5G ถ้าประมูลสูงมากโอเปอเรเตอร์อาจไม่มีเงินไปลงทุนด้านเน็ตเวิร์กหรือ R&D อย่างไรก็ตาม ภาพที่ชัดเจนของ 5G หลังจากโรลเอาต์มองว่าจะมาเร็วกว่าที่คิด แต่ยูสเคสของคอนซูมเมอร์อาจต้องรอ เช่น ดีไวซ์ที่พร้อมและราคาจับต้องได้”
ทั้งนี้ ทรูมองว่ายุค 5G จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เนื่องจาก 5G มีความเร็วกว่า 4G ถึง 20 เท่า มีความหน่วงที่ต่ำ และรองรับการเชื่อมโยงอุปกรณ์เป็นหลักล้านๆ ดังนั้น ไม่ใช่การสื่อสารระหว่างคนกับคนเหมือนยุคเดิม (H2H) แต่เป็นการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร (H2M) และเครื่องจักรกับเครื่องจักร (M2M)
#True5G #True5GCompleteYourWorld #True5Gเพื่อคนไทย