มาร์เก็ตเพลซจากจีนรายนี้เพิ่งลงทุนเกือบ 1 พันล้านบาท สร้าง “ศูนย์คัดแยกสินค้า” Lazada แห่งใหม่ย่านสุขสวัสดิ์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทลูก LEL Express ที่เคลมว่า หลังจากเปิดศูนย์ฯ แห่งใหม่นี้ขึ้นมา ถ้าผู้ขายจัดส่งพัสดุสินค้าให้เจ้าหน้าที่ก่อนเที่ยงวัน ของจะไปถึงคนซื้อด้วยความเร็วเฉลี่ย 0.8 วัน (19.2 ชั่วโมง) ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภาคตะวันออก
ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada สุขสวัสดิ์เปิดพื้นที่ใหญ่กว่าศูนย์ฯ เดิมย่านปู่เจ้าสมิงพรายถึง 8 เท่า ด้วยพื้นที่ใช้สอย 24,624 ตร.ม. หรือประมาณสนามฟุตบอล 3 สนามรวมกัน พร้อมด้วยระบบเครื่องจักรใหม่ที่ทำให้การทำงานเร็วขึ้น สามารถคัดแยกสินค้าได้สูงสุด 36,000 ชิ้นต่อชั่วโมง
ความไวระดับนี้ทำให้ Positioning ขอพาทุกคนไปชมเบื้องหลังว่า ก่อนพัสดุจะมาถึงมือเราเขาคัดแยกกันอย่างไรบ้าง! (อ่านรายละเอียดทั้งหมดด้านล่างอินโฟกราฟิก)
รับของจากผู้ขาย
เริ่มจากขั้นตอนก่อนจะมาถึงศูนย์คัดแยกสินค้า รถของ LEL จะไปรับของมาจาก 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.ร้านรีเทลของผู้ขาย (ต้องมีสินค้า 15 ชิ้นขึ้นไปต่อรอบ) 2.จุด drop-off ที่ผู้ขายมาส่งไว้ (กรณีมีสินค้าน้อยกว่า 15 ชิ้น ผู้ขายต้องมา drop-off เอง) และ 3.โกดังสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ กลุ่มสินค้าที่เรากดสั่ง Taobao หรือผู้ขายจีนก็จะมาผ่านระบบของ LEL นี่เอง พัสดุเหล่านี้ ผู้ขายจะทำการ pick & pack มาแล้ว คือติดบาร์โค้ดจากระบบ Lazada เสร็จสรรพ พร้อมเข้าเครื่องแยกสินค้า
เมื่อรับของมาแล้วรถก็จะมาส่งภายในศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada ซึ่งแบ่งออกเป็นอีก 3 ขั้นตอนคัดแยก คือ 1.รับของเข้า (inbound) 2.คัดแยกของ (sortation) และ 3.ส่งของออก (outbound)
รับของเข้า (inbound)
เมื่อรถมาถึงแล้วก็จะมานำส่งของเข้าที่ส่วน “รับของเข้า” ตรงนี้จะมีพนักงานขนลงจากรถ ส่งต่อให้พนักงานประจำสายพาน พนักงานจะคัดของแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
กลุ่ม A เป็นกลุ่มพัสดุที่ขึ้นสายพานได้ มีขนาดไม่เกิน 60 ซม. หนักไม่เกิน 15 กก. และเป็นทรงสี่เหลี่ยมธรรมดา คิดเป็นประมาณ 70%
กลุ่ม B คือกลุ่มที่เหลืออีกราว 30% จะถือเป็นกลุ่มพัสดุไม่ปกติ เพราะมีขนาดใหญ่มาก หนักมาก เล็กมาก หรือลักษณะเป็นซอง เป็นทรงกลม หรือรูปร่างแปลกๆ ที่ขึ้นสายพานไปผ่านเซ็นเซอร์อัตโนมัติไม่ได้
คัดแยกของ (sortation)
สำหรับกลุ่ม A กลุ่มพัสดุปกติ จะวิ่งไปตามสายพานเพื่อไปส่วน “คัดแยกของ” ด้วยเซ็นเซอร์อัตโนมัติ กลุ่มนี้จะถูกแยกเป็นสองกลุ่มอีกครั้ง คือ
กลุ่ม A1 พัสดุไซส์ใหญ่กว่า 34 ซม. เมื่อใช้เครื่องยิงอ่านบาร์โค้ด สายพานจะคัดของแยกตามเขตจังหวัดต่างๆ เช่น บางนา 2 ช้างคลาน 1 ลำพูน 1 สระบุรี 2 อยุธยา 5 พนักงานจะมารับของเหล่านี้ไปใส่ตะแกรงพักรอขึ้นรถ
กลุ่ม A2 พัสดุไซส์เล็กกว่า 34 ซม. เครื่องอ่านบาร์โค้ดจะคัดได้ละเอียดไปถึงรหัสไปรษณีย์ และเครื่องจักรอัตโนมัติจะปัดพัสดุลงถุงตามรหัสไปรษณีย์ พร้อมสำเร็จรูป ไปถึงฮับกระจายสินค้า (DC) ปลายทางก็ให้พนักงานส่งของแกะถุงไปส่งตามบ้านได้เลย ไม่ต้องคัดอีกรอบ เมื่อเต็มถุงแล้ว พนักงานจะมารวมถุงไปพักรอขึ้นรถเช่นกัน
กลับไปที่ กลุ่ม B จากส่วนรับของเข้า กลุ่มพัสดุไม่ปกติทั้งหลายนี้ต้องใช้ “คน” ล้วนๆ ในขั้นตอนการคัดแยกสถานที่จัดส่ง ก่อนจะนำไปรวมกลุ่มกับพัสดุที่ใช้สายพานเซ็นเซอร์แยกมาแล้วนั่นเอง
นำของออก (outbound)
หลังจากนั้นพัสดุทั้งหมดที่คัดแยกตามเขตจัดส่งแล้วก็รอขนขึ้นรถ “นำของออก” ไปส่งที่ DC ปลายทาง ปัจจุบัน Lazada มีรถขนส่งทั้งของบริษัท LEL เอง และบางส่วนยังต้องขอความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ภายนอก ได้แก่ Kerry, DHL, CJ Express มาช่วยขนด้วย จากข้อมูลของ LEL ระบุว่าขณะนี้มีสินค้าเข้าเฉลี่ยวันละ 140,000 ชิ้น แบ่งเป็น LEL จัดส่งเอง 100,000 ชิ้น และมีพาร์ตเนอร์มาช่วยขนอีก 40,000 ชิ้น
ส่วน DC ปลายทาง ที่ใช้กระจายสินค้าต่อไปถึงมือผู้รับจริงๆ มีอยู่ทั้งหมด 57 แห่ง แบ่งเป็นในกทม.-ปริมณฑล 30 แห่ง และต่างจังหวัด 30 แห่ง ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นหลัก
มีเครื่องจักรแล้วก็ยังต้องใช้คน?
เนื่องจากยังมีพัสดุถึง 30% ที่ใช้สายพานไม่ได้ และยังมีขั้นตอนการนำของขึ้น-ลงจากรถ ขั้นตอนจัดเรียงพัสดุบนสายพานให้เว้นระยะห่างและเป็นระเบียบพร้อมผ่านเซ็นเซอร์ ไปจนถึงการขนของขึ้นลงจากสายพาน ทำให้ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada ยังต้องใช้คนจำนวนมากพอสมควร โดยทั่วไปช่วงวันปกติที่มีพัสดุเข้าเฉลี่ย 140,000 ชิ้นต่อวัน พนักงานจะทำงาน 3 กะต่อวัน รวมทั้งหมด 20 ชั่วโมง รวมพนักงานทุกกะประมาณ 200 คน
แต่ช่วงใดก็ตามที่มีแคมเปญอย่าง 9.9 / 11.11 / 12.12 พัสดุเข้าจะเพิ่มเท่าตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 300,000 ชิ้นต่อวัน ดังนั้นทาง LEL จะเรียกพนักงานเสริมพิเศษอีก 700 คน รวมเป็น 900 คน!! และทำงานแบบ 24 ชั่วโมงติดกัน 10 วัน ในช่วงก่อนและหลังเริ่มจัดแคมเปญ
ที่ต้องระดมพลเยอะแบบนี้เพื่อระบายจัดส่งของออกไปให้เร็วที่สุด แข่งขันกับทั้งมาร์เก็ตเพลซและบริษัทจัดส่งอื่นๆ ให้ลูกค้าได้รับของโดยเร็วที่สุดนั่นเอง