รู้จัก Sick building syndrome กลุ่มโรคตึกเป็นพิษ! ภัยสำหรับคนเมือง 2020

3D rendering of a futuristic "green" city with high rise buildings and terraces covered in vegetation, for environmental architecture backgrounds.
เตือนภัยคนเมือง 2020 เสี่ยงป่วยด้วยกลุ่มโรคตึกเป็นพิษ แสดงอาการเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในอาคาร โดยสัมพันธ์กับมลภาวะทางอากาศ

ทำความรู้จักโรคตึกเป็นพิษ

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า

“โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick building syndrome ไม่ได้หมายถึงโรคชนิดเดียว หากแต่เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย โดยกลุ่มโรคนี้จะสัมพันธ์กับมลภาวะทางอากาศ ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 จะมีคนเมืองป่วยมากขึ้น”

กลุ่มโรค Sick building syndrome เป็นกลุ่มโรคที่วงการแพทย์ในปัจจุบันให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เนื่องจากพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้ และแนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมืองมีประชากรหนาแน่น การจราจรติดขัด และอาคารบางแห่งยังเป็นโครงสร้างแบบเก่าที่มีความชื้น การระบายอากาศที่ดี และใช้สีทาผนังหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นสารระเหยง่าย (volatile organic compounds)

มลพิษภายในอาคารเกิดขึ้นได้จากทั้งที่เล็ดลอดเข้ามา และเกิดจากภายในอาคารเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ถ่ายเท พรมทางเดินมีไรฝุ่น มีการตกแต่งใหม่ มีการใช้สีทาผนังซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีต่างๆ มีความชื้น รอยรั่วซึมซึ่งทำให้เกิดเป็นเชื้อราตามฝาผนัง ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลียง่าย ปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก ฯลฯ

เราต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดี เช่น ทำไมเดินเข้าอาคารนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยดี อยู่นานๆ แล้วรู้สึกเวียนหัว เพลีย แสบคอ คันตา คันจมูก คันผิวหนัง อาการผิดปกติเช่นนี้เกิดจากการที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ในอาคารที่มีมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรค

แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้อื่น อาจมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคหอบก็จะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้น แต่ถึงคนๆ นั้นจะไม่ได้เป็นโรค ครอบครัวไม่ได้มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ถ้าใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงทุกวันก็จะกลายเป็นผู้ป่วยได้ในที่สุด

นอกจากนี้ คนเมืองยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคประเภทออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมาจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ขาดการออกกำลังกาย เพราะพื้นที่ในแนวดิ่งไม่เอื้ออำนวย เช่นเดียวกับการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable diseases) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหาร การขาดการออกกำลังกาย

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา คือการปรับปรุงสถานที่ในเป็นมิตรกับสุขภาวะให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโด แม้ระบบอาคารจะถูกออกแบบใหม่เพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ถ้าคอนโดอยู่ในสถานที่ตั้งที่มีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องมีเครื่องฟอกอากาศช่วย และต้องถูกวางในห้องที่สมาชิกครอบครัวใช้เวลามากที่สุด โดยเปิดทิ้งไว้ล่วงหน้า 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันการจัดห้องนอนก็ต้องโล่งที่สุด ไม่ควรมีพรมซึ่งเสี่ยงต่อการเก็บไรฝุ่น ผ้าม่านต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการมีตุ๊กตาและหมอนจำนวนมาก เพราะเสี่ยงต่อการเก็บกักเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น

Source